แถลงการณ์จากกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 22 มี.ค. พบว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 188 ราย ส่งผลให้ยอดสะสมรวมทั้งสิ้น 599 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ แบ่งเป็นผู้ที่รักษาหายแล้ว 45 ราย มีอาการรุนแรง 7 ราย และเสียชีวิตอีก 1 ราย
อัตราการเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ก้าวกระโดดขึ้นจาก 50 ราย ในวันที่ 20 มี.ค. เป็น 89 ราย ในวันที่ 21 มี.ค. และเป็น 188 ราย ในวันนี้ ส่งผลให้กรุงเทพมหานครประกาศมาตรการ 'ปิดสถานที่ชั่วคราว' เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. - 12 เม.ษ. 2563
อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นยังมีช่องโหว่เรื่องการเคลื่อนที่ของประชาชน และอาจทำให้ความหวังในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เสี่ยงขึ้นกว่าเดิม
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ชี้ว่า เดิมทีผู้ป่วยส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก แต่ในระยะที่ผ่านมาเริ่มเห็นการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยในต่างจังหวัดขึ้นแล้ว ซึ่งสิ่งที่ทีมแพทย์ต้องการให้ความสำคัญที่สุดขณะนี้คือการเพิ่มตัวเลขผู้ป่วยในต่างจังหวัดให้ได้น้อยที่สุด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประชาชนในกรุงเทพฯ ไม่ควรจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงสั่งปิดสถานที่ต่่่่างๆ ในกทม. เป็นเวลา 3 สัปดาห์นี้
ในทางการแพร่ระบาด ปัจจุบันอาจมีประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งที่เป็นพาหะของโรคโควิด-19 อยู่แบบไม่แสดงอาการ ดังนั้นการเดินทางกลับต่างจังหวัด ไปยังพื้นที่ที่ไม่เคยมีความเสี่ยงจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโรคระบาด
อีกทั้งในทางกลับกัน ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และไม่ได้เป็นพาหะหรือติดโรคมาก่อน อาจต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงเองระหว่างเดินทางกลับต่างจังหวัด และท้ายที่สุด ผลก็จะไปตกกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงและมีความเปราะบางต่อโรคสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด
ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เมื่อแบ่งตัวเลขของผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดของวันที่ 19 มี.ค. อยู่ในกรุงเทพฯ 213 ราย ต่างจังหวัด 59 ราย แต่ตัวเลขสัดส่วนผู้ติดติดเชื้อในวันที่ 22 มี.ค. ในกรุงเทพฯ กลับสูงขึ้นเป็น 363 ราย ต่างจังหวัด 236 ราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในต่างจังหวัดต่อกรุงเทพฯคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.7 ภายในระยะเวลาเพียง 4 วันเท่านั้น
นพ. โสภณ ย้ำว่า ช่วงเวลา 3 สัปดาห์ ที่ทั้งรัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ประกาศให้อยู่บ้านเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพื่อลดสัดส่วนผู้ป่วยในต่างจังหวัดไม่ให้เพิ่มมากขึ้นจนสร้างภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ที่ติดเชื้อเล็กน้อยจะสามารถฟื้นตัวเองได้เรียบร้อยแล้ว
“เพราะฉะนั้น ถ้ารักพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ อย่างเพิ่งเดินทางกลับต่างจังหวัด” นพ. โสภณ กล่าว
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงถึงความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ว่าปัจจุบันยังมีพร้อมและเพียงพอต่อการดำเนินการ รวมถึงยังเตรียมแผนรองรับผู้ป่วยในระยะเบื้องต้นด้วยการสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมารองรับ เพื่อเสริมที่ให้กับผู้ป่วยในระยะกลางขึ้นไปได้รับการดูแลจากแพทย์ให้ทั่วถึงขึ้น ทั้งยังมีการพูดคุยเรื่องการปรับโรงแรมบางแห่งเป็นที่พักฟื้นผู้ป่วยเช่นเดียวกัน
พร้อมกับย้ำว่า ประชาชนที่ไม่มีความเสี่ยง หากไม่จำเป็น ไม่แนะนำให้มาที่โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยแนะนำให้งดการเยี่ยมไข้ญาติ หรือเลื่อนการผ่าตัดที่ยังไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลลง รวมถึงเป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อ
สำหรับประชาชนที่รู้สึกป่วย เป็นไข้ ไม่สบาย หรือมีอาการบ่งชี้บางอย่าง แต่ไม่ได้มีประวัติเสี่ยง คือเดินทางไปยังสถานที่สุ่มเสี่ยง อาทิ สนามมวย หรือ ผับ ก็ขอให้ดูแลอาการตนเองตามปกติอยู่ที่บ้านก่อนเป็นระยะเวลา 14 วัน แต่หากประชาชนที่มีอาการบ่งชี้และมีประวัติเสี่ยง ก็ให้รีบเข้ารับการตรวจโรคโดยทันที
นพ.มานัส ย้ำว่า นอกจากจะอยากให้ประชาชนอยู่บ้านตามระยะเวลาประกาศเพื่อลดการแพร่เชื้อจากการเป็นพาหะโดยไม่รู้ตัว ก็อยากจะให้ช่วยมอบกำลังใจให้ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในแนวหน้าทั้งหมด เนื่องจากทีมงานเหล่านี้ต้องทำงานอย่างหนัก และอยากจะให้ลดความกระทบกระทั่งในช่วงนี้ลงก่อนเพราะจะทำให้ขวัญและกำลังใจของคนทำงานหมดลง
สำหรับหนึ่งในสิ่งหลักที่จะช่วยเพิ่มกำลังใจของทีมงานแนวหน้าและไม่ไปซ้ำเติมภาระงานที่หนักอยู่แล้วอันดับแรกก็คือการกักตัวเองอยู่ในบ้านตามระยะเวลาประกาศ และให้พิจารณาทุกครั้งก่อนออกจากบ้านว่าการเดินทางคร้ังนี้จำเป็นหรือไม่ และจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หากไม่จำเป็นก็ขอให้เลี่ยงการเดินทางทุกกรณี
ด้านนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า มาตรการสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ Social Distancing หรือความพยายามออกห่างจากคนรอบข้างเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ด้วยการอยู่ที่บ้านเป็นหลัก และไม่ออกไปไหน พร้อมชี้ว่า “การที่เตียงพอ ก็ไม่ได้ให้ไปชะล่าใจ” เพราะหากเป็นเช่นนั้นในท้ายที่สุดสิ่งที่เคยพอก็อาจจะไม่เพียงพอได้
ในช่วงที่ผ่านมา กระแสโซเชียลมีเดียเริ่มมีการออกมาถือป้ายที่มีใจความว่า “เราอยู่โรงพยาบาลเพื่อคุณ โปรดอยู่บ้านเพื่อเรา” ทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากเหล่าบุคลากรสาธารณสุขออกมาเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่จากพระสงฆ์ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมมือกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นกราฟเอกซ์โพเนนเชียล แม้ทีมงานจะยังพยายามหาต้นตอของการติดเชื้อจากแต่ละเคสแต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลามาก ดังนั้น การมองว่าทุกฝ่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง (universal precaution) และยกระดับสูงสุดจึงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดกราฟให้ต่ำลงมาได้มีประสิทธิภาพที่สุด
ส่วนเรื่องความยากลำบากของประชาชนที่กระทบจากสถานประกอบการปิดทำการและอาจหมายถึงการไม่มีเงินเพียงพอในการผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไป นพ.โสภณ ย้ำว่าอยากให้เอกชนหรือผู้จ้างงานที่มีรายได้สูงคอยให้ความช่วยเหลือไปก่อน พร้อมชี้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีการพูดคุยกับภาครัฐเพื่อเข้ามาเยียวยาดังกล่าว และเห็นถึงความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่มาตลอด แต่ก็อยากให้ชั่งน้ำหนักว่าการเดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัดก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคจนควบคุมไม่ได้และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกัน
ท้ายที่สุดแล้ว มาตรการปิดสถานที่ 3 สัปดาห์ อาจไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย หากเราไม่สามารถหยุดการเคลื่อนที่ของประชาชนผู้อาจเป็นพาหะของโรคระบาดได้ และปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย
สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน แต่ในเมื่อรัฐบาลรวมถึงกรุงเทพฯ ประกาศมาตรการไปแล้ว ประชาชนก็ไม่ควรปล่อยให้กระสุนนัดดังกล่าวด้านลงเสียดื้อๆ ดังนั้นร่วมกัน "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;