ที่รัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ แถลงกรณีพิพาทสวนป่าคอนสารทับที่ทำกินของประชาชน ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยนายอภิชาติ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ได้รับทราบปัญหาของประชาชน ถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน ล่าสุดมีกรณีเร่งด่วน คือ ปัญหาชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จึงมีความจำเป็นในการแถลงข่าว เพราะเป็นกรณีเร่งด่วนที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน จากการถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าพนักงานบังคับคดี และโจทก์ ได้เข้าปิดหมายบังคับคดี เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมามีผลให้ชุมชนบ่อแก้ว ต้องออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 ส.ค. นี้
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทสวนป่าคอนสาร (ชุมชนบ่อแก้ว) เป็นเรื่องพิพาทที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานานกว่า 41 ปี นับตั้งแต่การเข้ามาปลูกสร้างสวนป่า ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ในปี 2521 เป็นต้นมา พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสวนป่าคอนสาร พบว่า ชาวบ้านได้อาศัยทำกินตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา โดยมีหลักฐาน เช่น ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ และร่องรอยการทำประโยชน์
ต่อมาปี 2516 รัฐได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ทั้งนี้ ได้มีการปิดประกาศเพื่อให้ราษฎรที่อาศัยทำประโยชน์ในพื้นที่ได้แจ้งการครอบครอง ซึ่งมีราษฎรหลายรายได้แจ้งการครองครองตามประกาศดังกล่าว กระทั่งในปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารจำนวนเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลกระทบในสิทธิที่ดิน เพราะพื้นที่สวนป่าทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร
ในปี 2547 มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ โดยมีหัวหน้าสวนป่าคอนสารเป็นประธานคณะทำงาน ผลการตรวจสอบ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 48 ว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน จำนวน 277 ราย และยังมีหน่วยงานอื่นได้เข้าร่วมตรวจสอบตามที่มีการร้องเรียนของราษฎรผู้เดือดร้อน ซึ่งมีมติเช่นเดียวกันกับคณะทำงานข้างต้น อาทิ มติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2550 มติประชาคมตำบลทุ่งพระ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2552 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเป็นที่ยุติว่า ราษฎรได้ถือครองทำประโยชน์มาก่อนสวนป่าคอนสาร แต่ยังไม่มีการพิจารณาตัดสินใจทางนโยบาย และไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทางปฏิบัติ ทำให้ประชาชนได้เข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2552 และนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นการบังคับคดี
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านถูกฟ้องดำเนินคดีทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี เพียงเพราะความล่าช้าในการตัดสินใจทางนโยบาย กรณีชาวบ้านคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ที่ถูกคุกคามสิทธิ์ โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงการถือครองทำประโยชน์มาก่อนของประชาชน
พรรคอนาคตใหม่ เห็นว่า การแก้ไขปัญหา โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ใช้มาตรการทางนโยบายควบคู่ จะทำให้เกิดปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด มีการละเมิดสิทธิทำกินประชาชน ดังนั้นจึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา คือ
1.ในกรณีชุมชนบ่อแก้วรัฐบาลไม่ควรใช้มาตรการทางกฎหมายกับชาวบ้านควรจะใช้มาตรการทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก
2.ให้คณะรัฐมนตรีสั่งการเพื่อชะลอบังคับคดีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน
3.ให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาเห็นชอบแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนโดยชุมชน
ซึ่งหลังจากนี้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ภาคอีสาน จะติดตามการแก้ปัญหากรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ตามกระบวนการของรัฐสภา และกระบวนการนอกสภา โดยในวันที่ 17 ส.ค.นี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ภาคอีสาน จะได้ลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว เพื่อรับฟังและติดตามปัญหาอีกครั้ง