ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือถกปัญหาความขัดแย้ง 'ชาวปกาเกอะเญอ' ร่วมผลักดันใช้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ปกป้องวัฒนธรรมชาติพันธุ์ปกาเกอะเญอ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ยินดีร่วมมือชาวบ้านปักหมุดที่ดินทำกิน

นายสมชาติ หละแหลม ตัวแทนชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน ภาคประชาชน ซึ่งได้พยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ทุกภาคของประเทศ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ติดอยู่ที่การรับรู้ในระดับเจ้ากระทรวง ทั้งที่ผ่านมา ภาคประชาชนได้จัดตั้งคณะร่วมกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่มีทางออก แม้ว่าจะมีภาคประชาชนเข้าไปผลักดัน

ล่าสุดมีรัฐบาลชุดใหม่ ก็อยากสะท้อนถึงคณะรัฐมนตรี ผ่านการยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาของอุทยานและป่าชุมชน เพราะที่ผ่านมามีมติ ครม. วันที่ 3 ส.ค. 2553 ซึ่งการเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ก็ยังไม่เป็นผล อีกทั้งหลายพื้นที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ห้ามล่า ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งในส่วนนี้ภาคส่วนของชาวกะเหรี่ยงต้องผลักดันให้รูปธรรมของมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา

"การเรียกร้องมันจะเกิดขึ้นได้ มันจะเกิดขึ้นได้ด้วยแรงผลักดันของพี่น้องกะเหรี่ยง เราต้องผลักดันให้มติ ครม. ได้รับการปฏิบัติเพื่อรักษาดำรงวิถีชีวิตของพวกเรา" ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงกล่าว


ชนบท-ป่า-แม่หมี ลำปาง-คนอยู่กับบ้าน-ปัญหาที่ดิน-ที่ดิน

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจารึกความเป็นมา

นายสมศักดิ์ วัฒนาศักดิ์ดำรง คนชุมชนบ้านแม่หมีใน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เล่าถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชาวบ้านว่า วิถีชีวิตในด้านของวัฒนธรรมและคติที่ปลูกฝังมาจากบรรพบุรุษ ที่สร้างให้คนกับป่าไม่สามารถแยกกันได้ ดังเช่นคำสอน ข้าวและเทียนไข ที่ข้าวเป็นระบบอาหารของชาวบ้าน ขณะที่เขียนไขเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของชาวปกาเกอะญอ

ส่วนหลักฐานที่พบเจอว่าพวกเราอยู่มาก่อน คือเหรียญที่พบเจอกลายเป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2383 ซึ่งสิ่งที่อยากผลักดันคือการรักษาวิถีชีวิต และการเกิดขึ้นของมติดังกล่าว

หัวหน้าอุทยานแจ้ซ้อน ยันรับแนวทางชาวบ้าน แก้ความขัดแย้ง

นายเทวัญ จันทรพรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน กล่าวในส่วนของการแก้ไขปัญหา หลังจากได้ลงพื้นที่ มีความรู้สึกว่า ภูมิใจที่ชาวบ้านรักษาผืนป่า เพราะตนเป็นคนที่มีภูมิลำเนาที่จังหวัดลำปาง ซึ่งทางภาครัฐก็ยินดีร่วมมือกันปกป้องผืนป่า ซึ่งในอดีตนั้นการประกาศพื้นที่คุ้มครองมันมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี ไม่สามารถทำให้ตรวจสอบได้ และกลายเป็นปัญหาการทับซ้อน ส่วนในปัจจุบันเองทางภาครัฐก็ยอมรับพื้นที่ตรงนี้เป็นการดำรงอยู่ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งภาครัฐได้หารือกันว่าในการแก้ไขปัญหา จะดำเนินการตามแนวทางการผ่อนผันเพื่อให้ชุมชนอยู่กับป่าได้

ล่าสุดมีมติคณะรัฐมนตรีซึ่งมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงาน และยืนยันว่าจะมีเสียงประชาชนในพื้นที่หาทางออกร่วมกัน เพื่อร่วมกันสำรวจในเขตป่าอนุรักษ์ และจัดทำแนวเขตร่วมกัน

"ส่วนตัวเองดีใจที่ได้มาพูดคุยและรับฟังความเห็นของชาวบ้านที่อาจมีข้อโต้แย้งและความกังวลของคนในชุมชนบ้าง" นายเทวัญ กล่าว


แม่หมี ลำปาง-ที่ดิน-คนอยู่กับ-ป่าไม้-กะเหรี่ยง

ธรรมชาติคือการรักษา ไม่ใช่เสื้อผ้าที่สวมใส่

นายอภินันท์ ธรรมเสนา จากศูนย์มานุษวิทยา ระบุถึงทางออกผ่านมติครม.3 สิงหาคม 2553 ว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ซึ่งปัญหาของชาวกะเหรี่ยงคืออยู่ในพื้นที่อุทยาน ถือเป็นปัญหาเปราะบาง เพราะมติครม.ปี 2553 คือการฟื้นฟูชีวิตของชนชาติชาติพันธุ์ ที่ต้องรื้อฟื้นและสร้างกลไกการใช้ชีวิตดั้งเดิม และนี่คือหลักการสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรม โดยเฉพาะแนวคิดของการรักษาการใช้วิถีชีวิตของไร่หมุนเวียน โดยชาวบ้านเองต้องสื่อสารกับคนภายนอกและภาครัฐ

ในประเด็นนี้มีข้อพิสูจน์ซึ่งเป็นรูปธรรม ส่วนมติ ครม. คือการรื้อฟื้นศักด์ศรีของชาวบ้าน เพราะมันเกิดขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์พวกเขา ตามข้อเรียกร้องในการให้ภาครัฐสนับสนุน ส่วนการจับกุมชาวชาติพันธุ์โดยอ้างมติ ครม. ต้องระงับไว้ก่อน รวมถึงเรื่องสิทธิวันชาติ ฟื้นฟูวัฒนธรรม และการศึกษาหลักสูตรที่อ้างอิงถึงความเป็นอยู่ของชนชาติปกาเกอะญอ สำหรับอัตลักษณ์ของชาวชาติพันธุ์ ไม่ใช่แค่การแต่งกาย แต่ภูมิปัญญาที่การอยู่กับธรรมชาตินี่คือสิ่งที่สะท้อนออกไปให้คนอื่นรับรู้ ถ้ารักษาส่วนนี้ได้

"ตราบใด ถ้าอยู่กับธรรมชาติไม่ได้ ก็ไม่ใช่จิตวิญญาณที่แท้จริงคนกะเหรี่ยง การรักษาธรรมชาติและการเคารพธรรมชาติผืนป่า ไม่ใช่แค่สิ่งแต่งกายที่บ่งบอก แต่คือการปกป้องพื้นที่ของผืนป่าที่ยั่งยืน"


แม่หมี ลำปาง-ที่ดิน-คนอยู่กับ-ป่าไม้-กะเหรี่ยง

พื้นที่จิตวิญญาณของชาวพันธุ์กะเหรี่ยง

ทั้งนี้ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้ประกาศสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษและพื้นที่จิตวิญญาน ตามมติครม. 3 สิงหาคม 2553 ที่บ้านแม่หมีนอก อ.เมืองปาน จ.ลำปาง แม้ตามมติครม. ยังไม่ได้รับการผลักดันสาระหลักของการฟื้นฟูวัฒนธรรม 4 หลัก ได้แก่

  • อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม
  • การจัดการทรัพยากร
  • การสืบทอดวัฒนธรรม
  • การศึกษา

โดยข้อเรียกร้องเหล่านี้ยังไม่มีการดำเนินการและความร่วมมือจากภาครัฐ ส่วนการประกาศพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ในวาระครบ 9 ปี ณ จุดปักหมุดพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ที่เป็นพื้นที่จิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนกะเหรี่ยงประกาศว่าจะสืบทอดและปกปักษ์รักษามาตุภูมิ โดยจะมีการผลักดันให้มีการคุ้มครองแผ่นดินเกิด ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ให้เป็น "พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทย" โดยเร็วที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :