รัฐบาลอิตาลีเปิดโครงการช่วยเหลือด้านจิตใจ โดยนักจิตวิทยาและนักจิตวิเคราะห์ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นให้ความช่วยเหลือใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจฉุกเฉินโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยให้บริการผ่านโทรศัพท์หรือการพูดคุยออนไลน์ ในช่วงที่ทางการอิตาลีประกาศล็อกดาวน์ไม่ให้คนออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งแม้แต่คนที่มีครอบครัวอบอุ่นและมีงานที่มั่นคงก็อาจประสบปัญหาด้านจิตใจและสังคมในช่วงนี้
คามิลลา ควอร์ติเชลลี นักจิตบำบัดในมิลานเปิดเผยว่า คนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนในช่วงวัย 30 ปี ทุกคนได้รับผลกระทบอย่างหนักทางจิตใจ ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลกระทบทางตรงอย่างการป่วยและการสูญเสียคนที่รัก และผลกระทบทางอ้อมอย่างการตกงาน อาการหมดไฟ ความเครียดที่เกิดขึ้นหลังวิกฤต หรือ PTSD และความเครียดจากการกักตัว
นอกจากนี้ ความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นระหว่างการกักตัวยังเป็น “เหตุฉุกเฉินในสถานการณ์ฉุกเฉิน” อีกด้วย
ควอร์ติเชลลีกล่าวว่า ปัจจุบัน จำนวนนักจิตวิทยาในอิตาลีค่อนข้างสูง ดังนั้น หากร่วมมือกันอย่างดี ก็น่าจะสามารถตอบสนองทุกคนที่กำลังต้องการช่วยเหลือได้ ไม่ใช่แค่ช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้เท่านั้น แต่รวมไปถึงช่วงหลังโรคระบาดซาลงแล้วด้วย
ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและคนโสดที่อยู่คนเดียวในพื้นที่เล็กๆ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ ปัจจัยต่างๆ ที่จำกัดการปรับตัวต่อสถานการณ์ฉุกเฉินอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในภายหลัง
ด้านเซเรนา คัมโปเซโอ นักจิตบำบัดในอาปูเลียกล่าวว่า การกักตัวเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับคนติดยาเสพติด การจำกัดพื้นที่ การไม่ได้เดินทางไปไหน การขาดยาที่ถูกและผิดกฎหมายอาจทำให้พวกเขาเข้าไปสู่วังวนการเสพยาเกินขนาด หรืออาจเปลี่ยนจากการติดยาเสพติดไปติดแอลกอฮอล์ และอีกหลายที่ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านจิตใจ อาจมีปัญหาด้านจิตใจตามมา
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ก็มีความเครียดสูงจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อและการเห็นผู้ติดเชื้อเสียชีวิต นอกจากนี้หลายคนยังกังวลว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากกลายพันธุ์ โดยแพทย์คนหนึ่งที่ทำงานในโรงพยาบาลที่ลอมบาร์ดีกล่าวว่า เขาไม่ได้รู้สึกกลัว แต่เขากลัวคนที่เขารักติดเชื้อ และเขาหวังว่าเขาจะไม่หมดไฟไปเสียก่อน เขาต้องการความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาอย่างมาก แต่ก็ไม่มีเวลา และไม่มีทรัพยากร
อิซาเบล เฟอร์นานเดซ นักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญด้านอาการเครียดหลังเหตุการสะเทือนจิตใจหรือ PTSD กล่าวว่า ช่วงหลังมานี้ แพทย์และพยาบาลไม่ค่อยรู้สึกเสียใจที่เพื่อนร่วมงานติดเชื้อแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ติดเชื้อเป็นเครื่องเตือนใจคนอื่นๆ ว่าพวกเขาอาจเป็นรายต่อไป และการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แพทย์รู้สึกเป็นทุกข์
หลายองค์กรในยุโรปได้เรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศจัดสรรสภาพการทำงานที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องมีเวลาพักทั้งในช่วงที่เข้าเวร และระหว่างกะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพในวิกฤตระดับโลกที่อาจจะยืดเยื้อยาวนาน เพราะการทำงานหนักโดยไม่มีเวลาพักจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
ด้านองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำให้มีการสลับเวรกันปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่มีความเครียดสูงที่สุด สื่อสารกันมากขึ้นระหว่างทีมทำงาน และมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านจิตสังคมในโรงพยาบาล
คำแนะนำจาก WHO
ฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวย WHO ประจำภูมิภาคยุโรประบุว่า การกักตัว การเว้นระยะทางสังคม การปิดโรงเรียนและที่ทำงานเป็นความท้าทายที่กระทบกับทุกคน เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะรู้สึกเครียด กังวล กลัว และเหงาในช่วงนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงสุขภาพจิตของประชาชนในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า เพราะการแพร่ระบาดไม่ใช่แค่ “การวิ่งระยะสั้นแต่เป็นมาราธอน”
อายชา มาลิก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตของ WHO ระบุว่า การปิดโรงเรียนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก เด็กมีแนวโน้มจะมีอาการวิตกกังวลหรือกลัว เช่น กลัวตาย กลัวญาติตาย ซึ่งอาจกลัวถึงขั้นจ้องได้รับการรักษา
ทั้งนี้ เวียร์จินี เดอ วูส์ นักจิตวิทยาพฤติกรรมกล่าวว่า ทัศนคติของพ่อแม่ในช่วงวิกฤตเป็นปัจจัยพื้นฐาน หากพ่อแม่แสดงออกว่ารู้สึกวิตก ก็จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็ก เพราะความเครียดเป็นสิ่งที่เด็กสามารถรับรู้ได้อย่างดี
เดอ วูส์ยังกล่าวว่า วิกฤตนี้อาจทำให้คนมีอาการซึมเศร้า แต่เธอเชื่อว่าปัญหาใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ การขาดแคลนชุดตรวจโรค เพราะหลายคนมีอาการแต่ไม่สามารถตรวจโรคได้ ทำให้พวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ความไม่แน่นอนนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนอย่างมาก
ที่มา : Deutche Welle, EU Observer