ธนาคารโลกระบุในรายงาน Global Economic Prospects ฉบับล่าสุดเมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทุกประเทศทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายงานเดิมที่ออกในเดือน ม.ค. ที่มีการคาดการณ์เดิมเพิ่มขึ้น 1.7% อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโต 2.1% ในปีนี้ ยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตในปี 2565 ที่ 3.1%
ธนาคารโลก ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ให้กู้เงินเพื่อการพัฒนาประเทศ ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกในปี 2567 เหลือ 2.4% จาก 2.7% ในเดือน ม.ค. โดยอ้างถึงผลกระทบที่ล้าหลังจากการคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลาง และเงื่อนไขสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งลดการลงทุนทางธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ โดยปัจจัยเหล่านี้จะชะลอการเติบโตต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และเข้าสู่ปี 2567 อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกได้ออกการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกใหม่ในปี 2568 อยู่ที่ 3%
อินเดอร์มิต กิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก กล่าวถึงการคาดการณ์ใหม่ที่ไม่สดใสนี้ว่า ปี 2566 จะยังคงเป็นหนึ่งในปีที่เศรษฐกิจเติบโตช้าที่สุด สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่ 2 ใน 3 ของประเทศกำลังพัฒนาจะเห็นการเติบโตที่ต่ำกว่าในปี 2565 ซึ่งพวกเขาต้องรับมือกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ ในการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการลดความยากจน ตลอดจนความทุกข์ยากจากการที่มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
“แม้ว่าจะเป็นภายในสิ้นปีหน้า 1 ใน 3 ของประเทศกำลังพัฒนา จะยังไม่สามารถเอาชนะระดับรายได้ต่อหัวที่เคยมีเมื่อสิ้นปี 2562 ได้” กิลล์กล่าวกับผู้สื่อข่าว “นั่นคือ 5 ปีที่สูญเสียไปสำหรับเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศต่างๆ ในโลก”
ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค. ธนาคารโลกได้เตือนว่า GDP ทั่วโลกกำลังชะลอตัว จนเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งในตลาดแรงงานและการบริโภคในสหรัฐฯ กลับเติบโตเกินความคาดหมาย เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของจีนจากการล็อกดาวน์โควิด-19 ที่เข้มงวด
การเติบโตของสหรัฐฯ ในปี 2566 ถูกคาดการณ์ไว้ที่ 1.1% มากกว่าถึง 2 เท่าจากการคาดการณ์ที่ 0.5% ในเดือน ม.ค. ในขณะที่การเติบโตของจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.3% ในเดือน ม.ค. หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้จีนมีการเติบโตลดลง 3% ในปี 2565
อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกได้ลดการคาดการณ์การเติบโตของสหรัฐฯ ในปี 2567 ลงครึ่งหนึ่งเป็น 0.8% และลดการคาดการณ์การเติบโตของจีนลง 0.4 จุดเป็น 4.6% ในขณะที่การเติบโตของยูโรโซนได้รับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.4% ในปี 2566 จากแนวโน้มทรงตัวในเดือน ม.ค. แต่การคาดการณ์สำหรับปีหน้าก็มีการเติบโตที่ลดลงเล็กน้อยเช่นกัน
ธนาคารโลกยังระบุอีกว่า ความตึงเครียดของภาคการธนาคารเมื่อเร็วๆ นี้มีส่วนทำให้มาตรการทางการเงินปรับตัวเข้มงวดขึ้น ซึ่งจะดำเนินต่อไปจนถึงในปี 2567 ธนาคารโลกยังย้ำอีกว่า ความตึงเครียดด้านการธนาคาร ส่งผลให้เกิดวิกฤติสินเชื่ออย่างรุนแรง และความตึงเครียดในตลาดการเงินที่กว้างขึ้นในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งน่าจะลดการเติบโตในปี 2567 ลงเกือบครึ่งเหลือเพียง 1.3% นับเป็นอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 30 ปี นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 และ 2563
“ในสถานการณ์อื่นที่ความตึงเครียดทางการเงินแพร่กระจายไปทั่วโลกในระดับที่มากขึ้น เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2567” ธนาคารโลกกล่าวเสริม
ธนาคารคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ลดลง เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัว และความต้องการแรงงานในหลายๆ ประเทศชะลอตัวลง ทั้งนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงทรงตัว แต่ธนาคารโลกระบุเสริมว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะยังคงสูงกว่าเป้าหมาย ของธนาคารกลางในหลายประเทศตลอดปี 2567
ที่มา: