ไม่พบผลการค้นหา
นิวซีแลนด์เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ ยกเลิกความผิดอาญาการทำแท้งสำหรับอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์

วันที่ 5 ส.ค.2562 แอนดรูว์ ลิตเทิล รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมนิวซีแลนด์ แถลงถึงร่างกฎหมายที่จะยกเลิกความผิดทางอาญาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ โดยนับรวมการทำแท้งเป็น 'การรักษาทางการแพทย์' ไม่ใช่อาชญากรรม และเป็นการยกระดับกฎหมายของนิวซีแลนด์ให้ทัดเทียมกับบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว

"การทำแท้งอย่างปลอดภัยควรถูกนับรวมและกำกับดูแลในฐานะประเด็นทางสุขภาพ ผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะทำอย่างไรกับร่างกายของตัวเอง" ลิตเทิลชี้

ร่างกฎหมายนี้เสนอให้ผู้หญิงสามารถขอรับบริการทำแท้งได้เองจนกว่าจะมีอายุครรภ์ถึง 20 สัปดาห์ โดยไม่ต้องผ่านการตรวจตามกฎหมาย หากพ้น 20 สัปดาห์ไปแล้ว สตรีมีครรภ์ต้องได้รับการยืนยันจากบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย ว่าการทำแท้งนั้นเหมาะสม และเป็นไปเพื่อเหตุผลด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์

ในปัจจุบัน นิวซีแลนด์ยังคงใช้กฎหมายยุติการตั้งครรภ์ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 1977 ทำให้การทำแท้งในนิวซีแลนด์ยังมีความผิดทางอาญาอยู่ ผู้หญิงสามารถทำแท้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อมีแพทย์ 2 คนขึ้นไป รับรองว่าการปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์ โดยเหตุผลที่อนุญาตให้ทำแท้งนั้น ไม่รวมการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมเลี้ยงดู การตั้งครรภ์เมื่อมีอายุมากเกินไป และการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้สัญญาว่าจะแก้ไขกฎหมายการทำแท้งหลังชนะการเลือกตั้งในปี 2017 แต่ก็ถูกเลื่อนมาจนถึงตอนนี้เนื่องจากกฎหมายยังคงเป็นที่ถกเถียงโดยสมาชิกสภา

นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายนี้ที่จะเข้าสู่พิจารณาครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม จะอนุญาตให้สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยขึ้นบริเวณสถานให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการถูกข่มขู่หรือคุกคามจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการทำแท้งด้วย ทั้งนี้ พื้นที่ปลอดภัยนี้จะให้บริการโดยพิจารณาเป็นรายกรณี

เทอร์รี เบลลาแม็ก ประธานสมาคมแอลแรนซ์ (Abortion Law Reform Association of New Zealand: ALRANZ) องค์กรรณรงค์เพื่อสิทธิการทำแท้ง กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ดีกว่าสภาพปัจจุบันมากแล้ว และต้องชื่นชมรัฐบาลในจุดนี้

"ทำไมจำกัดที่ 20 สัปดาห์ล่ะ มีการตรวจบางอย่างที่ตรวจในระยะ 20 สัปดาห์ และนี่ก็เป็นการให้เวลาพิจารณาผลตรวจน้อยมากนะ" เบลลาแม็ก ชี้ถึงปัญหาของร่างกฎหมาย พร้อมตั้งคำถามกับพื้นที่ปลอดภัยว่าเป็นมาตรการเชิงรับมากกว่าเชิงรุก และการต้องให้พิจารณาเป็นกรณีนั้นหมายความว่าจะต้องรอให้ถูกคุกคามหรือเกิดการบาดเจ็บก่อนจึงได้รับการคุ้มครองหรือไม่

นิวซีแลนด์เป็นประเทศล่าสุดที่เตรียมอนุญาตให้พลเมืองทำแท้งได้ตามกฎหมาย ตามหลังเกาหลีใต้ซึ่งเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งไปเมื่อเดือนเมษายน

ที่มา: Strait Times / NZ Herald / Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: