ไม่พบผลการค้นหา
‘สิริพงศ์’ โฆษก ศธ. เผย ศธ. จ่อถอดบทเรียนเยาวชนวัย 14 ปีกราดยิง เผยไม่โทษว่าเป็นความผิดใคร ย้ำภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจการศึกษาตามอัธยาศัย ชี้ ‘ครู-นักเรียน’ บุคลากรทางการศึกษามีความเครียดสูง

วันที่ 4 ต.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีเยาวชนวัย 14 ปีก่อเหตุยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) ว่า หลังจากที่ได้ทราบเหตุการณ์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้มอบหมายให้ติดตามสถานการณ์ และได้รับการรายงานจากภายใต้สังกัดพื้นที่จำกัดดูแลสถานศึกษาที่เป็นข่าวอยู่

สิริพงศ์ กล่าวว่า หลังจากตรวจสอบดูปรากฎว่าเป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนตามอัธยาศัย ภายใต้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศึกษา พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ และเรามีหน้าที่อนุมัติการเรียนการสอนโดยพิจารณาจากหลักสูตรแกนกลางว่า หลักสูตรมีครบถ้วนตามกลุ่มสาระวิชาหรือไม่ แต่รูปแบบการเรียนการสอน ขึ้นอยู่กับผู้จัดการเรียนการสอน 

ในหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ดูแลเพียงหลักสูตร แต่เนื้อหากับระยะเวลาแล้วแต่ผู้สอนกับผู้เรียนว่ายินยอมที่จะเรียนแบบไหน ซึ่งโดยทั่วไปก็จะมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ 2000 กว่าแห่ง ในกรุงเทพมหาคร สำหรับระดับมัธยม 10 กว่าแห่ง ซึ่งโรงเรียนประเภทนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ต้องการให้บุตรไปเน้นย้ำด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ และ อีกกลุ่มที่ขาดโอกาส หรือมีเงื่อนไขบางประเภทที่ต้องจัดการเรียนการสอนกันเอง

สิริพงศ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ต้องถอดบทเรียนว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร ทางกระทรวงศึกษาในวันนี้เรายังไม่ด่วนสรุป และด่วนโทษว่าเป็นความผิดของใครหรือหน่วยงานใด แต่สิ่งที่สำคัญเราจำเป็นต้องหาเหตุจูงใจให้ได้ถอดบทเรียนจากสิ่งนี้ และนำมาสู่การป้องกัน และแก้ปัญหาในอนาคต

โดยในเบื้องต้นทางผู้อำนวยการเขตได้ลงพื้นที่ และได้ข้อมูลเบื้องต้นจากผู้บริหารว่า เด็กอาจจะมีสภาพทางจิต แต่เรายังไม่สามารถที่จะตัดสินได้จากความให้การของผู้บริหารเพียงคนเดียว เราไม่ได้โทษสถานศึกษา แต่สิ่งที่ชี้ให้เห็นคือ เมื่อเยาวชนก่อเหตุเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาต้องทำความเข้าใจ เพราะเด็กที่ก่อเหตุเป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาอีกแบบหนึ่ง

“เป็นโอกาสให้สังคมมองย้อนกลับไปจาก 3-4 ปีที่แล้ว ว่า ระบบการศึกษามีปัญหาหรือควรจะเป็นระบบการศึกษาตามอัธยาศัยหรือไม่ แต่สิ่งที่กระตุกสังคมในวันนี้คือ ในความเป็นจริงมีโอกาสเกิดปัญหาได้ในทุกระบบการศึกษา แต่สิ่งที่กระทรวงศึกษาต้องทำคือจะหามาตราการไหนที่จะมาดูแลป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต” สิริพงษ์ กล่าว 

ส่วนการดูแลสภาพจิตใจของเยาวชนนั้น สิริพงศ์ เผยว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าเด็ก และครูอยู่ในสภาวะเครียดมาก เพราะบุคลากรทางการศึกษาทุกคนอยู่ในความมุ่งหวัง อีกทั้งมีการเปรียบเทียบจากนานาอารยะประเทศ และสังคมภายนอกมากมาย จึงทำให้ผู้เรียนมีภาวะกดดันส่วนผู้สอนก็มีภาวะเครียด ที่ผ่านมามีการพยายามทำการอบรวมให้ความรู้จัดหากิจกรรมเพื่อลดทอนความเครียดของผู้เรียน และผู้สอนมาโดยตลอด