ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ลงมติลับเสียงข้างมาก 61 เสียงให้ร่วมรัฐบาล พปชร. หลังเปิดให้สมาชิกพรรคอภิปรายด้าน 'อภิสิทธิ์' ค้านสืบทอดอำนาจ โดย 'จุรินทร์' เผย ปชป. วาง 3 เงื่อนไขรุกรัฐบาลเจ้าภาพปลดล็อกแก้ รธน. - บรรจุนโยบายแก้จน - ห้ามทุจริต หากละเมิดเงื่อนไขพร้อมถอนร่วมรัฐบาลทันที เมินร่วมขั้วต้านสืบทอดอำนาจ มองเสียงโหวตแพ้นายกฯ ย้ำร่วมรัฐบาลต้องการปิดสวิตช์ คสช.

เวลา 13.30 น. พรรคประชาธิปัตย์มีการประชุมร่วมคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.)พรรคประชาธิปัตย์ และส.ส. โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาว่าจะตอบรับการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

โดยระหว่างการประชุม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยที่จะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯเพราะขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ และพรรคประชาธิปัตย์ควรจะยึดอุดมการณ์มากกว่าที่จะเลือกเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่หากทางพรรคจะมีมติอย่างไรก็ไม่ขัดข้อง และขอให้ไม่ต้องมากังวลที่ตน

เช่นเดียวกับนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ก็ไม่เห็นด้วยที่จะร่วมรัฐบาลโดยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่หากทางพรรคมีมติอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตาม ขณะที่ ส.ส. ส่วนใหญ่ เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมรัฐบาล เพราะเสียงประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังอภิปรายกันถึงกรณีที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสามมิตรที่ออกมาเคลื่อนไหวหลายครั้งโดยแสดงความไม่พอใจกับข้อตกลงการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี 

หลังจากการแสดงความคิดเห็นของที่ประชุม ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล เป็นไปอย่างหลากหลาย  โดยบรรยากาศในการประชุม เปิดโอกาสให้ ส.ส. แสดงความคิดเห็นและเหตุผลที่ว่าควรจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และควรเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ลงคะแนนลับผลปรากฏที่ประชุมเห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล 61 เสียง ไม่เห็นด้วย 16 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และบัตรเสีย 1 ใบ 

ปชป

เวลา 20.00 น. นายจุรินทร์ แถลงผลประชุมพรรคว่า สืบเนื่องจากการที่พรรคพลังประชารัฐ ได้มาเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรค ได้มอบหมายให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเพื่อเจรจาในรายละเอียดทั้งหมด ในที่ประชุมวันนี้นายเฉลิมชัยได้รายงานต่อที่ประชุมว่าบัดนี้การประสานงานทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงและเป็นอันได้ข้อยุติแล้ว โดยเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนั้น ได้รับการตอบรับทั้ง 3 ข้อ ข้อที่ 1 ในเรื่องของนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ได้รับการยอมรับที่จะบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล

ประการที่ 2 ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เงื่อนไขประการนี้ก็ได้รับการตอบรับ ประการที่ 3 เงื่อนไขในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็ได้รับการตอบรับเช่นเดียวกัน

นายจุรินทร์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้แจ้งให้ทราบว่า หากผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว พรรค สามารถสงวนสิทธิ์ในการที่จะทบทวนในอนาคตได้ ในเรื่องของการเข้าร่วมรัฐบาล สำหรับในการพิจารณาของที่ประชุมพรรคในวันนี้ ได้มีการนำหลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์ของพรรค ในเรื่องการแสดงท่าทีของอดีตหัวหน้าพรรคที่ได้ประกาศไปในช่วงของระยะเวลาการหาเสียง รวมทั้งพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนผ่าน ส.ส. ของพรรคในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับนโยบายที่พรรคได้หาเสียงไว้ในช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ว่าจะสามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างจริงจังได้อย่างไร

นอกจากนั้นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่นำมาประกอบการพิจารณาก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ตระหนักดีว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนได้ตัดสินผลการเลือกตั้งให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 53 คน ซึ่งวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นขนาดกลาง เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถที่จะบรรลุความประสงค์ของพรรค ได้ทุกอย่าง 

"พรรคได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ย่อมจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือทางลบ กลับมามีผลกระทบต่อพรรคอย่างกว้างขวาง อย่างแน่นอน การตัดสินใจของพรรคจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค หรือยึดประโยชน์ของประเทศเหนือประโยชน์ของพรรค" นายจุรินทร์ ระบุ

ย้ำเหตุร่วมรัฐบาลต้องการปิดสวิตช์ คสช.

นายจุรินทร์ ระบุเหตุผลการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมือง ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ให้ประเทศสามารถที่จะมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งต้องนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปสู่การปฏิบัติที่ปรากฎผลเป็นรูปธรรมต่อไปได้ และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ในอีกนัยยะหนึ่ง ก็เสมือนกับการหยุดอำนาจ หรือการปิดสวิตช์ คสช. เพราะว่า คสช. จะหมดอำนาจก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

"เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเสนอเงื่อนไขของการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น นั่นก็คือการสะท้อนให้เห็นว่าเราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และประสงค์จะให้มีการปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ถ้าสามารถคลี่คลายประเด็นนี้ได้ ให้อนาคตเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกติกาปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ก่อน ก็เสมือนกับเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้"

ประชาธิปัตย์ เผด็จการ 0019848_2562193350660718592_n.jpg

นายจุรินทร์ ย้ำว่า พรรคได้มีมติตอบรับคำเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และโดยเหตุผลที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาลนี้มีมติเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติเข้าร่วมรัฐบาล จึงได้มีมติเห็นควรสนับสนุนตามมติของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย เช่นเดียวกันที่พรรคพลังประชารัฐได้เคยมีมติสนับสนุนนายชวน หลีกภัย ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้

ปลดล็อกวิธีแก้ รธน. ให้ง่ายก่อนเปิดทางแก้มาตราอื่น

นายจุรินทร์ ระบุว่า จุดเริ่มต้นการนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ต้องเริ่มต้นที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้นโดยใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาเท่านั้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ขณะนี้ได้รับการยอมรับในหลักการ อีกทั้งต้องขอให้รัฐบาลนำเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย โดยรัฐบาลตั้องเป็นเจ้าภาพเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเงื่อนไขเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมอบหมายให้เลขาธิการพรรคไปพูดคุยกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เมื่อยกร่างนโยบายรัฐบาลให้คำนึงเงื่อนไขตรงนี้ด้วย

เมื่อถามว่า เงื่อนไขถ้าไม่มีแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถอนร่วมรัฐบาล นายจุรินทร์ ระบุว่า หากไม่ได้รับการปฏิบัติพรรคพร้อมทบทวนได้ โดยหากมีการทุจริตไม่แก้ไข พรรคก็พร้อมใช้เงื่อนไขนี้ทบทวนการร่วมรัฐบาลได้ โดยเฉพาะประกันรายได้เกษตรกรหากไม่มีการผลักดันก็ทบทวนร่วมรัฐบาล

ถามว่า 3.9 ล้านเสียงผิดหวังพรรคประชาธิปัตย์หักลงคนที่เลือก นายจุรินทร์ ระบุว่า เป็นจุดที่ยากอีกครั้งการตัดสินใจของพรรคไม่ว่าจะตัดสินใจทางใดก็สามารถได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทางบวกและลบเสมอ ตนเรียนว่าพรรคคำนึงถึงประชาชนทุกคน และให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคและผู้ให้การสนับสนุนทุกเสียง แม้แต่เสียงที่เราสูญเสียไป 7 ล้านกว่าเสียง 

เมินร่วม 7 พรรคต้านสืบทอดอำนาจ มองขาดโหวตไม่ผ่านนายกฯ

ส่วนการไม่เป็นฝ่ายค้านอิสระ ก็ได้พิจารณารอบด้านแล้ว เพราะพรรคเคยเป็นฝ่ายค้านหลายสมัย แต่เสียงอีกด้านในที่ประชุมประสงค์จะให้พรรคนำนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน โดยเฉพาะนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ หากทำได้ต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อเป็นแกนหลักไม่ได้ต้องร่วมรัฐบาล โดยผลลงมติในพรรคเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบให้ร่วมรัฐบาล

"ถ้า 245 เสียง แม้พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วม 53 เสียง 245 เสียงเป็น 298 เสียง โดย 298เสียงไม่พอที่จะตั้งนายกฯได้ เพราะจะเป็นนายกฯได้ต้องมี 376 เสียง ก็ไม่อยู่ในวิสัยความเป็นจริง ไม่ได้เป็นนายกฯได้" นายจุรินทร์ ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง