ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้านรุมหั่นแหลกงบสำนักนายกฯ ‘เพื่อไทย’ จวกตั้งงบเกินจำเป็น-ผิดวัตถุประสงค์ ไม่สอดคล้องกับผลงาน ‘ก้าวไกล’ รุมถล่ม กอ.รมน. จี้ควรลดบทบาท-ยุบเลิก เปรียบเป็นไส้ติ่งไร้ความสำคัญต่อประเทศ ‘ประชาชาติ’ ซัดกรมประชาสัมพันธ์ ยัดเยียดค่านิยม สุดท้ายที่ประชุมสภามีมติผ่านงบฯ สำนักนายกฯ

วันที่ 17 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระที่ 2 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดย ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ดำเนินการประชุมจนถึงมาตรา 7 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานในกำกับ หลังก่อนหน้านี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่ไม่แก้ไขในมาตรา 5 และ 6

'สมชัย' ติง ป.ย.ป.ทำงานหละหลวม

สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ในสัดส่วนของพรรคเสรีรวมไทย ได้อภิปรายเหตุผลเพื่อขอตัดงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี 5% เนื่องจากมองว่าจัดสรรไปใช้อย่างขาดประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่างหน่วยงาน สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งของบประมาณเพียง 3 ล้านบาท แม้ไม่ได้มากมาย แต่มีความสำคัญในหลายด้าน และตั้งขึ้นใหม่โดย คสช.

อย่างไรก็ตาม ในวันที่หน่วยงานดังกล่าวมาชี้แจงต่อกรรมาธิการ กลับพบข้อผิดพลาดหลายจุดบนเว็บไซต์ กระทั่งชื่อบุคคลที่สำคัญ สะท้อนว่าผู้รับผิดชอบไม่ได้ให้ความสนใจกับเนื้อในของหน่วยงาน ทั้งยังปรากฏว่าตลอด 5 ปีที่หน่วยงานก่อตั้ง มีการประชุมกันเพียงครั้งเดียว แม้หน่วยงานหลักที่ดูแลทิศทางของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยังทำงานเช่นนี้ แล้วจะของบประมาณไปจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

’ก้าวไกล’ ขอลดงบ-ลดบทบาท กอ.รมน.

ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลในฐานะกรรมาธิการฯ ผู้สงวนความเห็น ได้อภิปรายขอตัดงบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรี โดยยกตัวอย่างหน่วยงาน สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ซึ่งมีแผนจะถูกยุบเลิกไปตั้งแต่ปี 2558 ตามดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทว่าจนทุกวันนี้ยังไม่มีการยกเลิก และในปี 25563—2564 ไม่ได้มีการของบประมาณมา แต่ปี 2565 และปี 2566 ได้ของบประมาณ 106 ล้านบาท และ 78 ล้านบาท ตามลำดับ จึงขอสอบถามว่าหน่วยงานนี้วางแผนจะยุบเลิกเมื่อใด เพราะมีประกาศคณะกฏษฎีกามาแล้ว แต่กลับยังมาของบประมาณแผ่นดินอยู่

ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ ผู้สงวนความเห็น ตั้งคำถามถึงหน่วยงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับงบประมาณสูงสุดในสำนักนายกฯ โดยในปี 2566 ขอรับงบทั้งหมด 7,868 ล้านบาท มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และยังเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทมากขึ้นหลังรัฐประหารทุกครั้ง มีส่วนในการเป็นแขนขาให้ระบอบประยุทธ์ และใช้โจมตีผู้เห็นต่างทางการเมือง อีกทั้งภารกิจด้านความมั่นคงก็ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่มีอยู่แล้ว

“การเสนอให้ปรับลดบทบาทของ กอ.รมน. นั้น ไม่ได้ละเลยความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ แต่เป็นการเสนอด้วยความเชื่อมั่นว่าประเทศเรามีหน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพเพียงพออยู่แล้วในการรับมือกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงในรูปแบบใหม่ และภัยความมั่นคงได้ขยายไปสู่รูปแบบอื่นๆ ที่หลากหลาย เกินกว่าโครงสร้างที่คิดค้นในสมัยสงครามเย็น อย่าง กอ.รมน. จะรับมือได้”

อมรัตน์  ก้าวไกล ประชุมสภา DFF14A8439A.jpeg

ส่วน อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่สร้างทัศนคติผิดๆ ต่อคำว่าความมั่นคงของชาติ ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และเสนอให้ยุบหน่วยงาน กอ.รมน. เนื่องจากมีหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แต่ละปีก็มีงบส่วนอื่นมากกว่า 50% เอื้อให้เกิดการโยกย้ายถ่ายเทงบประมาณที่ตรวจสอบไม่ได้ หากเปรียบเป็นอวัยวะในร่างกาย กอ.รมน. ก็เป็นเพียงไส้ติ่งที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องมีก็ได้ จึงขอเสนอให้ตัดลดงบประมาณทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องเสียเงินแม้เพียงล้านเดียวให้กับหน่วยงานเช่นนี้

ยุทธพงศ์ งบประมาณ -45A5-49B9-80DF-71B3CDE4D985.jpeg

ฝ่ายค้านจวกหน่วยงานตั้งงบเกินจำเป็น ผิดวัตถุประสงค์

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยผู้สงวนความเห็น อภิปรายขอตัดงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีลง 10% โดยยกตัวอย่างหน่วยงาน เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งตั้งงบประมาณซื้อรถผลิตรายการนอกสถานที่ หรือรถ OB เพิ่ม มูลค่าคันละ 23 ล้านบาท ทั้งที่ขณะนี้ความพร้อมของอุปกรณ์ดังกล่าวเพียงพอแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่มในเวลานี้ 

ส่วนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งตั้งงบปี 2566 ไว้ 484 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นจำนวนมาก แต่การทำงานของหน่วยงานยังหละหลวม ปล่อยให้มีเหตุระเบิดใน 3 จังหวัดภาคใต้อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ตั้งงบไว้ 1,263 ล้านบาท ปรากฏว่าเป็นงบผูกพันเป็นจำนวนมากถึง 619 ล้านบาท หรือ 48% จะเป็นภาระต่อการตั้งงบประมาณใหม่ที่เป็นประโยชน์ การบริหารงบประมาณควรต้องดีกว่านี้

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ขออภิปรายปรับลดงบประมาณลง 5% โดยยกตัวอย่างหน่วยงาน กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม โดยใช้เงิน 1 พันล้านบาทเศษ เพื่อบีบบังคับให้คนกลุ่มหนึ่งปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมของตนเอง แทนที่จะรักษาไว้หรือส่งเสริมขึ้นไป ศาสนาก็คือวัฒนธรรม การจะไปปรับเปลี่ยนอาจจะกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ซึ่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่าเป็นแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตั้งใจจะเปลี่ยนให้ทุกคนคิดเหมือนตนหรือไม่

พิธา ก้าวไกล -B4D8-42DA-BA8F-00002D2B0A47.jpeg


’พิธา’ เหิมขอหั่นงบสำนักนายกฯ 40%

จากนั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอปรับลดงบประมาณสำนักนายกรัฐมนตรี 40% เนื่องจากเห็นว่าสำนักนายกรัฐมนตรีมีศักดิ์เทียบเท่ากระทรวง เป็นแขนขาในการผลักดันวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศให้เกิดขึ้นจริง แต่งบประมาณที่เห็นกลับตรงกันข้าม จึงขอเสนอปรับลดงบที่ไม่มีเหตุผลและเกินความจำเป็น มีความซ้ำซ้อน ฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง อาทิ กอ.รมน. และ ศรชล.

อีกทั้งยังมีงบที่อยู่ในที่ซึ่งไม่ควรอยู่ คืองบที่ไม่ใช่ของนายกฯ เช่น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ควรไปอยู่กับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรืองบเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง และม้าทรง ซึ่งควรไปอยู่กับส่วนราชการในพระองค์ ตลอดจนถึงงบที่ขาดประสิทธิภาพ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ 1.4 พันล้านบาท แต่ประสิทธิผลของช่องทางการสื่อสารมีไม่ต่างจากสำนักเลขานายกรัฐมนตรีที่มีงบ 14 ล้านบาท

ในเวลา 21.23 น. จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากโดยไม่ต้องแก้ไข ด้วยคะแนน 221 ต่อ 78 เสียง งดออกเสียง 1