ไม่พบผลการค้นหา
‘สมหญิง’ ส.ส. อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย แนะชาวบ้านต้องการพันธุ์ข้าว-ซ่อมบ้านเรือน เตือนรัฐบาลเร่งให้ความชัดเจนการช่วยเหลือหลังน้ำลด อย่าปล่อยให้ชาวบ้านสิ้นหวัง

นางสมหญิง บัวบุตร ส.ส. จังหวัดอำนาจเจริญ เล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานว่า มันเกิดขึ้นเร็ว เพราะก่อนหน้านี้มันแล้งจัด แล้วอยู่ๆ ฝนก็มา แล้วน้ำก็ไหลบ่ามาจากที่อื่น ทำให้เราแก้ปัญหาไม่ทัน ความช่วยเหลือของภาครัฐถือว่าช้ามาก หน่วยงานทางราชการก็เหมือนกัน ซึ่งขณะนั้นต้องการใช้เรือในการขนคน ขนสัตว์เลี้ยงออกมา แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่มีเรือ ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เองก็มีเรือไม่กี่ลำ แล้วก็บางลำก็ใช้ไม่ได้ ประกอบกับการติดต่อประสานงานเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องยากลำบาก เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า เธอเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เห็นคนเจ็บป่วย และเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา แต่ช่วยเหลือไม่ได้

"ตอนนั้นเสียใจจนร้องไห้ และพยายามหาเรือให้ได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยง ซึ่งบางตัวต้องตายระหว่างการขนย้าย หรือขนย้ายไม่ทัน"

เธอและนายอำเภอหัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา บางจุดเข้าไปได้ แต่ออกมาไม่ได้ เพราะน้ำขึ้นเร็วมาก บางพื้นที่น้ำท่วมสูงเกือบถึงหม้อแปลงเสาไฟฟ้า และตัวเธอเองก็ขาดการประชุมสภาฯ ไป 1 สัปดาห์เพราะน้ำท่วมตัดขาดทางสัญจรไปตัวเมืองยโสธรและอุบลราชธานี และต้องอยู่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

“พี่เองเนี่ยนะ อาบน้ำ ถ้าไม่มีฝนตกน้ำฝนก็ไม่ได้อาบเลย ชาวบ้านหลายที่มีปัญหา พี่เองต้องลำบาก แต่ว่าคิดถึงความลำบากของพี่น้องประชาชนลำบากกว่าเราเยอะ ตอนที่เจ็บป่วย พูดตรงๆ ร้องไห้เลยนะ ลูกเขาตกบันได แม่เขาเจ็บท้องอย่างหนัก ไม่สามารถจะนำเขาเข้ามาที่โรงพยาบาลได้ เราพยายามจะหาเรือพายเรืออะไรเข้ามา ไปฝากศพที่โรงพยาบาลหลายศพนะ ที่ฝากได้ ที่ฝากไม่ได้ก็นำมาเผาในที่สูงพยายามจะทยอยมา...เราไม่ได้คิดถึงตัวเราเองเลยนะ เราคิดว่าทำไงเราจะช่วยเขาได้ ทำไงพี่น้องเราจะปลอดภัย ทำไงสัตว์เลี้ยวเราจะขึ้นมา มันคิดแค่นั้น”

นางสมหญิง เล่าให้ฟังต่อว่า ระหว่างน้ำท่วมได้รับความร่วมมือจากทหารที่จังหวัดอุบลราชธานี หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 เอาเรือมาช่วยจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วหลายหมู่บ้าน หลายตำบล แต่มันเกิดเร็วหลายหมู่บ้าน เธอจึงเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือแต่ละจังหวัดต้องมีเรือท้องแบนสำรองไว้ในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเธอได้เคยหารือไปแล้วในช่วงก่อนการประชุมสภา 

สมหญิงกับนาข้าวตาย

ตอนนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้วเหลือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ความเสียหายยังไม่ได้รับการเยียวยา ตั้งแต่ภัยแล้งจนมาถึงอุทกภัย ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา ถือว่ารัฐบาลล่าช้ามาก ข้าวหรือพืชผลเกษตรก็ไม่มีแล้ว พันธุ์ข้าวก็เน่าเสีย ปลาเล็กปลาน้อยก็เริ่มตาย เนื่องจากว่าน้ำมันเน่าเสีย ที่นาของเธอเองสิบกว่าไร่ก็เสียหายหมดเช่นกัน 

สิ่งที่ชาวบ้านต้องการจากรัฐบาลคือต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นการเยียวยาระยะสั้น พอน้ำลดชาวบ้านจะได้ปลูกได้เลยและจะได้มีกิน และสิ่งที่เธอเรียกร้องคือขอความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะเยียวยาชาวบ้านอย่างไรยังไง 

“อยากแซวรัฐบาลอยู่เหมือนกัน ตอนนี้คงต้องทำกัญชาแจกแล้ว เพื่อระบายความเครียดแล้วล่ะ...ตอนนี้รอความหวังให้รัฐบาลมาพูดให้เราเข้าใจว่าเราจะได้รับการเยียวยาเท่าไหร่ ยังไง รีบเร่งให้หน่อยนะคะ”

สมหญิงกับนาข้าวตาย

ขณะเดียวเธอกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตำหนิ ส.ส. อุบลราชธานีที่ไม่ได้มาต้อนรับนายกรัฐมนตรีว่า คำพูดของนายกที่พูดมันไม่ได้ทำให้เรามีความดีใจขึ้นเลย ทำให้เราเกิดความกังวลมากกว่า

"บางครั้งอยากฝากท่านนายกว่าในการที่จะใช้คำพูด หลายๆ อย่างให้ตอนนี้ เรามีความทุกข์ใจอยู่แล้วทุกเรื่อง รับผลกระทบมาทุกอย่าง ท่านนายกฯ อยากให้กำลังใจพวกเรา ไม่ใช่มาทำลายกำลังใจเราอ่ะ การพูดการจาท่าน แม้แต่ท่านมาแต่ละจังหวัด พวกเรา ส.ส. เนี่ยเข้าใกล้ท่านไม่ได้เลย เขาไม่ให้เข้า เราอยากไปยื่นหนังสือ ชาวบ้านอยากมา ก็ไม่ได้พบง่ายๆ นะ ไม่มีนะ"

"ฝากท่านนายกฯประยุทธ์ ถ้ามาอำนาจเจริญให้สมหญิงเข้าใกล้ด้วย เพราะจะยื่นหนังสือร้องเรียน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ช้า"

เท่าที่เห็นในตอนนี้ ตนคิดว่ายังไม่มีการสั่งการหรือดำเนินการอะไรที่ชัดเจน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเยียวยา สนับสนุนเงินทุน ด้วยการชดเชยจากภัยแล้ง 2,000 บาท และน้ำท่วม 2,000 บาท เพราะตอนนี้ข้าวเหนียวก็ราคาแพงถึง 50 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือระยะสั้นให้ชาวบ้านได้หายใจก่อน ยอมรับตามตรงว่าตอนนี้ชาวบ้านไม่กล้าหวัง และมีความกังวลทุกอย่าง เพราะรัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่าจะช่วยเหลือเท่าไหร่ อย่างไร

อย่างไรก็ตาม แม้จะเพิ่งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมา แต่เมื่อน้ำลด ชาวบ้านก็ยังมาร่วมทำบุญมหาสังฆทานในช่วงเข้าพรรษา แสดงให้เห็นถึงน้ำใจ และความอบอุ่นผูกพันระหว่างวัดกันชุมชน ซึ่งงานบุญนี้จะจัดขึ้นตลอดช่วงเช้าพรรษา 3 เดือน

ผู้ประสบภัย วารินชำราบ2.jpg

ด้านผู้ประสบอุทกภัย อ.วารินชำราบ ที่มาตั้งแคมป์อยู่ริมถนนสถิตย์นิมานกาลที่เชื่อมระหว่างตัวเมืองอุบลราชธานีไปยังตัวเมืองอำเภอวารินชำราบ เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ครอบครัวของตนลงทุนเช่าที่นา 5 ไร่กว่า และซื้อพันธุ์ข้าวมาทำนากว่า 30,000 บาท แต่พอน้ำท่วมก็หมดตัวและเงินที่ลงทุนไปก็สูญเปล่า แต่ยังคิดว่าถ้าน้ำลดแล้วจะสามารถทำนาปรังต่อได้

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะหาพันธุ์ข้าวจากไหน คาดว่าหากน้ำลดจะไปขอพันธุ์ข้าวพันธุ์ข้าวจากญาติที่น้ำไม่ท่วมนา

ผู้ประสบภัย วารินชำราบ1.jpg

ผู้ประสบอุทกภัย อ.วารินชำราบ อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า บ้านตนทำนา 1 ไร่ ส่วนแฟนก็ปลูกกล้วย ปลูกตะไคร้ขาย ก่อนหน้านี้ข้าวกำลังสวยแต่น้ำก็ท่วมเสียก่อน แม้ว่าตอนนี้น้ำจะลดลงบ้างแล้ว แต่ยังกลับเข้าไปอยู่ไม่ได้ เพราะต้องใช้เรือ และไม่แน่ใจว่าฝนจะตกจนทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงอีกหรือไม่ ซึ่งความช่วยเหลือที่ตนอยากได้จากรัฐบาลมากที่สุดตอนนี้คือซ่อมแซมบ้าน เพราะว่าทุกคนแถวนี้น้ำท่วมหนักมาก

"ท่วมถึงหลังคาหมดเลย สังกะสีก็ใช้ไม่ได้ มันทะลุหมดแล้ว แผ่นไม้ก็ลอยไปกับน้ำเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ไปหมดเลย เพราะฉะนั้นต้องการบ้านก่อนเป็นอย่างแรก ทุกวันนี้นอนหลับบ้าง ไม่หลับบ้าง เมื่อคืนก็ฝนตกแผ่นผ้ายางที่คลุมแคมป์ก็รั่วน้ำเข้า แต่ไม่เครียดเหมือนตอนที่อยู่บนสะพาน พอรับเงินจากพี่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ มาปุ๊บ คืนนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่สั่งรื้อแคมป์จากบนสะพานมาอยู่ริมถนน เพราะมีรัฐมนตรีจะผ่านเส้นทางนี้เพื่อไปเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย ต้องช่วยกันย้ายตั้งแต่สามทุ่มถึงตี 5 ไม่ได้นอน"

ส่วนบ้านจริงๆ ต่อให้น้ำลดลงจนไม่ต้องใช้เรือแล้วก็ยังเข้าไปอยู่ไม่ได้ ต้องทำความสะอาดและซ่อมแซมอีกมาก