พอล แชมเบอร์ส นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำและที่ปรึกษาวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์รายการ Squawk Box สถานีโทรทัศน์ CNBC สื่อของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยสื่อสหรัฐฯ สรุปความว่า การประท้วงในไทยอาจบานปลายสู่การใช้ความรุนแรง และอาจนำไปสู่การรัฐประหารครั้งใหม่ (Protests in Thailand could spiral into violence and lead to a military coup, analyst says)
พิธีกรของ CNBC ตั้งคำถามว่าการรัฐประหารคงจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนักในประเทศไทย ซึ่งเคยมีรัฐประหารเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และถ้าต้องให้คะแนน 1 ถึง 10 คิดว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะเกิดรัฐประหารขึ้นในตอนนี้
แชมเบอร์สตอบว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ มีทั้งการชุมนุมอย่างสงบของคนส่วนใหญ่ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาและการชุมนุมต่อต้านของฝ่ายขวาที่เพิ่มกำลังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีแนวโน้มว่ากลุ่มหลังอาจจะใช้ความรุนแรงกับนักเรียนนักศึกษาด้วย
นอกจากนี้ แชมเบอร์สยังประเมินว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารขึ้นในไทยอีกครั้ง โดยระบุว่า รัฐบาลไทยมีฉากหน้าเป็นประชาธิปไตย แต่ถูกครอบงำทางอ้อมโดยทหาร และ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ก็ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่คนนิยมมากนักในตอนนี้ มีคนจำนวนไม่น้อยท้อแท้เรื่องที่ไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจย่ำแย่
"ถ้าการปะทะบนท้องถนนระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายก้าวหน้ากับฝ่ายขวาเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นเหตุผลอันสมบูรณ์แบบของผู้บัญชาการกองทัพในการเข้ามามีบทบาทนำ หรืออาจจะมาแทนที่ 'ประยุทธ์' ก็ได้" แชมเบอร์สทิ้งท้าย พร้อมเตือนว่า การรัฐประหารและรัฐบาลทหารชุดใหม่ไม่อาจทำให้ประเทศสงบได้ แต่จะยิ่งทำให้กองกำลังฝ่ายขวามีโอกาส 'รีเซ็ต' เพื่อควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม และใช้อำนาจเบ็ดเสร็จคุมสถานการณ์ต่อไป
นอกจากสถานีโทรทัศน์สหรัฐฯ ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์เก่าแก่อย่าง The Washington Post เป็นอีกสำนักหนึ่งที่เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงไทย (Why people power doesn’t work like it used to)
บทความดังกล่าวมองว่า การชุมนุมกดดันรัฐบาลอาจไม่ประสบความสำเร็จได้เสมอไป เพราะบางประเทศยังไม่ได้มีรากฐานประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเพียงพอ พร้อมยกตัวอย่างประเทศที่ประชาชนสามารถชุมนุมประท้วงกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้องได้จริง เช่น ชิลี อิรัก เป็นประเทศซึ่งมีการวางโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อต่อประชาธิปไตยแล้ว
โดยเฉพาะ 'ชิลี' ที่รัฐบาลยอมรับข้อเสนอของผู้ชุมนุมประท้วงที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา เคยผ่านการต่อสู้กับอดีตรัฐบาลเผด็จการมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย แอลจีเรีย เบลารุส เลบานอน รวมถึงไทย ซึ่งมีการประท้วงกดดันผู้นำรัฐบาลให้ก้าวลงจากตำแหน่งเพื่อเปิดให้มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง กลับไม่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งที่เคยเป็น 'ปัจจัยต่างประเทศ' ที่เคยเกื้อหนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยในยุคทศวรรษ 1980-2000 ไม่เกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังมีการชุมนุมอยู่ในปัจจุบัน
เดอะวอชิงตันโพสต์ระบุว่า ยุคก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจหลักๆ ของโลกที่ส่งเสริมให้เกิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่หลังยุครัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ได้มุ่งเน้นที่การส่งเสริมประชาธิปไตยและไม่มีการกดดันประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มจะละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อผนวกกับรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ยิ่งจะทำให้ผู้ชุมนุมประท้วงมีความเสี่ยงที่จะถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: