ไม่พบผลการค้นหา
"อย่ามัวแต่ดีใจว่าได้อันดับ 2 อย่ามัวดีใจว่า ส.ก.พรรคพลังประชารัฐเหลือ 2 คน พลังประชารัฐไม่ใช่คู่แข่งเราอีกต่อไป การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีคู่แข่งคนใหม่ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องตื่น"

นอกจากปรากฏการณ์ 'แลนด์สไลด์' ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่ และคนที่ 17 ที่กวาดคะแนนกว่า 1,386,215 เสียง จากสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2565 ไปอย่างถล่มทลายแล้ว ก้าวย่างของอดีตแชมป์เก่าของ กทม. อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะทำให้ใครหลายคนประหลาดใจเช่นกัน

แม้ครั้งนี้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยผู้สมัคร ส.ก. ทั้ง 50 เขต จากพรรคสีฟ้า จะสู้ยิบตาจนชิงคะแนนเสียงอันดับที่ 2 จาก 31 ผู้ว่าฯ และ ส.ก. มาได้ 9 เขต จาก 50 เขต

แต่คะแนน 254,647 เสียง ยังถือว่าทิ้งห่างลิบลิ่วจากอันดับ 1

เพราะหากพูดถึงยุครุ่งเรืองของพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่เคยโกยคะแนนได้ถึง 1,256,349 เสียง เมื่อ 9 ปีที่แล้ว หรือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ยังมีถึง 991,018 เสียง เมื่อปี 2551 ซ้ำร้าย ที่นั่งของ ส.ก. ซึ่งลดลงจากอดีตเป็นอย่างมาก ซึ่งเคยครองได้ถึง 45 เขต จากทั้งหมด 61 เขต ยิ่งชวนให้สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปัตย์ในวันนี้

อภิรักษ์ 1321.jpgสุขุมพันธุ์ บริพัตร อภิสิทธิ์ ผู้ว่า เลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ Hkg8340989.jpg

'วอยซ์' ต่อสายสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึง พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตขุนพลรองผู้ว่าฯ กทม. สมัย อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัย เพื่อหาเหตุผลที่แชมป์เก่าร่วงลงจากบัลลังก์ในกรุงเทพฯ และชะตากรรมของพรรคในการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังคืบคลานเข้ามานี้ จะเป็นอย่างไร

พนิต วิกิตเศรษฐ์  55 _220427_0.jpg
  • มองปรากฏการณ์ 'ชัชชาติแลนด์สไลด์' อย่างไรบ้าง น่าตกใจหรือไม่

ผมขออนุญาตใช้คำว่า ไม่ตกใจ ผมพูดกับหลายคนเลยว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะได้คะแนนเสียงเกินล้าน และจะชนะการเลือกตั้ง แต่ที่ตกใจคือ ฝั่งที่ได้อันดับที่ 2 ถึง ที่ 5 ทิ้งห่างมากจนตกใจ ผมตกใจคะแนนของคนที่ได้อันดับที่ 2 ซึ่งใกล้กับอันดับที่ 3 ถึง 5 มาก กระจุกตัวอยู่ที่ 250,000 คะแนน ทั้ง 4 คนบวกกันยังไม่ถึงล้านเลย

หลายคนพูดว่า อันดับที่ 2 ถือว่าสำคัญ แต่ผมมองว่าคนที่ได้อันดับ 2 ที่ห่างจากอันดับที่ 1 ล้านกว่าคะแนน ไม่มีนัยไม่ได้แสดงถึงความสำเร็จอะไรเลย

สำหรับอันดับที่ 1 คนกล้าตอบว่าเขาเลือก ชัชชาติ แต่ที่ผ่านมาในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่แล้ว หรือครั้งอื่นๆ ที่ผมผ่านมากับตัวเอง 4 ครั้ง (อภิรักษ์ โกษะโยธิน 2 ครั้ง, ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร 2 ครั้ง) ยังมีคนที่บอกว่า แพ้เลยครับ เดี๋ยวจะช่วย เอาใจช่วยนะ หรือก้มหน้าแล้วเดินหนี ครั้งนี้ ทันทีที่ผมถามว่าเลือกใคร หรือคิดว่าใครจะชนะ คนส่วนใหญ่จะพูดเลยว่า ชัชชาติ

สรุปง่ายๆ คือว่า ผมดีใจมาก แต่ผมก็รู้สึกแปลกใจเรื่องคะแนนของคนอื่นๆ มากกว่า

  • ปัจจัยหลักที่ทำให้คะแนนของ สุชัชวีร์ ทิ้งห่างจากอันดับ 1 เช่นนี้คืออะไร

ต้องพูดตรงๆ ว่า ขอขอบพระคุณ สุชัชวีร์ รวมถึงผู้สมัคร ส.ก. ทั้ง 50 ของเรา ได้พยายามทำกันเต็มที่ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นที่น่าเสียดายและผิดหวัง ที่คะแนนออกมา 2.5 แสนคะแนน ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ เลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. 2 ครั้งที่ผ่านมา เราก็ได้ 9 แสนกว่า จนถึง 1ล้านกว่า แม้กระทั่งก่อนหน้านั้นที่เป็นท่านอื่นๆ ก่อน อภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็จะมี 4-6 แสนคะแนน เป็นประจำ หมายความว่าฐานเสียงประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ ตลอด 20-30 ปี ประมาณ 4-5 แสนเสียง ทำไมครั้งนี้เหลือเพียง 2.5 แสนเสียง จุดนี้ก็ต้องวิเคราะห์

แต่ชัดเจนว่า ผมผิดหวัง ผมต้องมองว่าอะไรที่ทำให้เสียงเราเหลือ 2.5 แสนเสียง ผมมองในฐานะคนที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์มา 20 ปี ประเด็นแรกคือ คนอาจจะไม่พอใจประเด็นล่าสุดก็ได้ (คดีความของ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) อาจจะเป็นปัจจัยเล็ก แต่เป็นปัจจัยหนึ่งแน่นอน เพราะเกิดขึ้นใกล้เคียงกับเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ถ้าไม่ใช่เรื่องนั้น เรื่องต่อไป เขาอาจจะมองว่าไม่อยากจะให้คะแนนกับพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมองว่าเป็นฝั่งที่อยู่ภายใต้การครอบงำหรือการบริหารของผู้นำคนปัจจุบันมา 7-8 ปีแล้ว ก็อาจจะคล้ายกับสมัยที่ประชาธิปัตย์ชนะผู้ว่าฯ ทุกครั้ง ส่วนมากเราเป็นฝ่ายค้าน ครั้งแรกที่ผมลงกับ อภิรักษ์ ปี 2547 พรรคไทยรักไทยครองเมือง มี ส.ส. 30 คน จาก 36 คนในกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์มี 7 คน เราทะลุทะลวงจน อภิรักษ์ ชนะเข้ามา ก็มีความหมายว่าคนกรุงเทพฯ อาจจะอยากเลือกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล มีความเบื่อหน่าย อยากเห็นฝ่ายตรงข้ามมาถ่วงดุลรัฐบาล โดยใช้กรุงเทพฯ เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออก

ผมมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเราส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ ท่านนี้ เป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการการศึกษา แต่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนนอก คนใหม่ การที่คุณจะมาทำงานและรวบรวมพลังใจพลังกายของประชาธิปัตย์ คุณต้องรู้จักประเพณีของพรรคประชาธิปัตย์ 

สุชัชวีร์  -70D4-486E-8F73-79FBEA470ADC.jpeg
  • ผู้สมัครฯ ท่านนี้ ยังไม่สามารถชนะใจคนในพรรคประชาธิปัตย์ได้

เขายังไม่รู้จักคนในประชาธิปัตย์เลย ถ้าคุณยังไม่สามารถสื่อสารกับคนในประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ ส.ส. ส.ก. และอดีต ส.ข. ของเราได้ คุณจะไปเอาพลังที่ไหนให้เขามาช่วยคุณลงพื้นที่ การเลือกคนเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ สำคัญมาก คนนั้นจะต้องได้ใจคนในประชาธิปัตย์

ก่อนจะเข้ามา คุณจะต้องมาคลุกคลีกับคนในพรรค เพราะคุณจะต้องมาขอความช่วยเหลือจากพรรคประชาธิปัตย์ คือพระแม่ธรณี ชื่อเสียงของพรรค และคนในพรรคทุกคน คุณจะต้องรู้จัก ส.ส. หรืออดีต ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้คือ Wake up Call (เสียงปลุก) คือระฆังที่ตีให้ต้องตื่น ถ้าคุณยังหลับหลังนาฬิกาปลุกแล้ว คุณตายเลย นาฬิกาปลุกองคาพยพ และผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเขาเตือนแล้วจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

อย่ามัวแต่ดีใจว่ามาที่ 2 อย่ามัวแต่ดีใจว่าได้ ส.ก. มา 20 คน จาก 45 คนที่มีในอดีต อย่าดีใจว่า ส.ก.พรรคพลังประชารัฐเหลือ 2 คน พลังประชารัฐไม่ใช่คู่แข่งเราอีกต่อไป เป็นคู่แข่งเราแค่ครั้งเดียวคือการเลือกตั้งปี 2562 ครั้งหน้าจะมีคู่แข่งคนใหม่ มีพรรคก้าวไกล และอาจจะใครก็ไม่รู้ที่เป็นพรรคใหม่ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องตื่น

พนิต วิกิตเศรษฐ์ (ปชป)_220427.jpg
"เป้าหมายในชีวิตผมคืออยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นพรรคใหญ่ 100 เสียง แต่ถ้าเดินแบบนี้ ผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนจากพรรคกลางไปเป็นเล็ก"


  • จำนวน ส.ก.จากพรรคฝ่ายค้าน เช่น เพื่อไทย ก้าวไกล พุ่งสูงขึ้น ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงประชาธิปัตย์ ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สถานการณ์นี้ในกรุงเทพฯ ชี้วัดการเมืองระดับชาติได้เพียงใด

ได้ครึ่งไม่ได้ครึ่ง เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กับ ส.ก.ครั้งนี้ ชัดเจนว่า ประชาชนต้องการ ชัชชาติ ซึ่งพอดีว่าเขาอยู่ฝั่งประชาธิปไตย และเขาก็อยากจะได้คนที่เชื่อว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตยเข้าไปด้วย ในส่วนของผู้สมัคร ส.ก.

ถ้าหาก ชัชชาติ ไม่ได้อยู่ฝั่งประชาธิปไตย หรือถ้า ชัชชาติ ส่งผู้สมัคร ส.ก. พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ขนาดนี้หรอก พอดี ชัชชาติ ไม่ได้ส่ง ส.ก. พรรรคเพื่อไทยก็จึงได้ผลพวง ชัชชาติ ดึง เพื่อไทย ไม่ใช่ เพื่อไทย ดึง ชัชชาติ ในการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่ต้องบวกกับฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยที่มีอยู่แล้วทั่วกรุงเทพฯ 3-5 แสนเสียง ก็เทให้ ชัชชาติ โดยปริยาย เป็นการเสริมซึ่งกันและกัน จึงออกมาที่คะแนนเสียง 1 ล้าน 4 แสนกว่า

ขณะที่พรรคก้าวไกลก็ทั้งโชคดีและโชคร้ายในตนเอง โชคดีเพราะพรรคก้าวไกลได้ผลพวงของ ส.ก. จาก ชัชชาติ เยอะเลย 14 คนนี้มาเพราะคนกา ส.ก.ก้าวไกล และกาผู้ว่าฯ ชัชชาติ เรื่องนี้ผมมั่นใจ แต่ที่โชคร้ายคือ ก้าวไกลได้ผู้สมัครผู้ว่าฯ ที่เป็นคนเก่ง แต่ไม่เก่งที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ถ้าหากว่าพรรคก้าวไกลได้ใครบางคน ที่มีบุคลิกอีกแบบ ที่ไม่ได้เคยอยู่ในสภา เขาอาจจะสูสีกับ ชัชชาติ บ้าง อาจจะแพ้ แต่ไม่ใช่ 2 แสนกว่า

สุชัชวีร์ ประชาธิปัตย์ -5C57-4744-B622-5CB370FA4891.jpeg
  • แต่ในทางกลับกัน เกิดอะไรขึ้นกับจำนวน ส.ก.ที่ลดลงของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้

พรรคประชาธิปัตย์เคยมี ส.ก. 45 คน แต่ละคนแข็งปั๋งมาก อยู่มาอย่างต่ำ 3-4 สมัย ช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ปี 2562 หลายคนหลุดออกไปด้วยความผิดหวังที่อยู่แล้วเติบโตไม่ได้ จึงไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นๆ และไปเป็น ส.ส.หลายคน ดังนั้น คนเก่งๆ ที่เป็น ส.ก.แถวหน้า โดดออกจากประชาธิปัตย์ไปมากเมื่อปี 2562 ดังนั้น ผู้สมัคร ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ ตัวจริงในพื้นที่จึงหายไปกว่าครึ่ง ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา การทำคะแนนในพื้นที่กรุงเทพฯ น้อยลงไปมาก

นี่เป็นจิตวิทยาหนึ่งที่ต้องแก้ให้ได้ ทำอย่างไรให้ความกระตือรือร้นกลับมา ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่กรุงเทพฯ เท่ากับอดีต ต้องคิดให้ดีว่าเขามองกรุงเทพฯ อย่างไร เขาใส่การลงทุนแค่ไหน ผมตอบไม่ได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงแปรไปเป็นผลลัพธ์ของผู้ว่าฯ และ ส.ก.

สุชัชวีร์ ประชาธิปัตย์ CFC17E389.jpeg
  • สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อผลการเลือกตั้งสนามท้องถิ่นออกมาเช่นนี้แล้ว พอจะเห็นทิศทางของประชาธิปัตย์ในอนาคตอย่างไร

ทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมา คนในพรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงความคิดหลายๆ อย่าง เท่าที่ผมเห็น ก็บอกว่าประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีทางหรอกที่กระแสจะดีขึ้น ต้องเตือนสติผู้บริหารพรรคฯ ว่า ยังไม่สายเกินไป แต่จะต้องเปลี่ยน ต้องแก้ เสริมเติม เราควรจะต้องกลับมานั่งคิด และวางยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการเลือกตั้งใหญ่

ดังนั้น บทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส่อให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ และคนทั้งประเทศ พยายามจะก้าวข้ามความขัดแย้ง จะเลือกคนที่มีความตั้งใจ จริงใจ กับการบริหารบ้านเมือง ผมจะพยายามให้สิ่งนี้เข้าไปอยู่ในความรู้สึกของผู้บริหารพรรค ไม่ให้ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เขาคิดอยู่

อย่างน้อยที่สุด ถ้าเขาไม่เปลี่ยน เขาก็ต้องคิดอะไรที่นอกกรอบมากกว่านี้ ที่สำคัญคุณเหลือเวลาไม่เยอะแล้ว ถ้าคุณอยากจะกลับมาเป็นพรรคขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ใช่กลางถึงเล็ก วันนี้เราเป็นพรรคกลาง 50 เสียง เราเคยเป็นพรรคใหญ่ เป้าหมายในชีวิตผมคืออยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นพรรคใหญ่ 100 เสียง แต่ถ้าเดินแบบนี้ ผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนจากพรรคกลางไปเป็นเล็ก

ผมเองทำอะไรไม่ได้ เพราะผมไม่ใช่ผู้บริหารพรรค อย่างเดียวที่ผมทำได้คือพูดความจริงกับสังคมต่อไป เพื่อเตือนเขา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog