ฝ่ายค้านในรัฐสภาปากีสถานลงคะแนนเสียงโหวตไม่ไว้วางใจ อิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถานด้วยคะแนน 174 เสียง (ขั้นต่ำต้องได้ 172 เสียง) จากทั้งหมด 342 เสียง เพื่อขับตัวผู้นำให้พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 10 เม.ย. หลังจากที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยข่านในวัย 69 ปี ถูกขับให้พ้นตำแหน่งหลังอยู่ในอำนาจ 3 ปีครึ่ง
CNA รายงานว่า ข่านเข้าสู่อำนาจในปี 2561 “ด้วยการสนับสนุนจากกองทัพ” แต่สูญเสียสถานะเสียงข้างมากในสภาในช่วยหลังเมื่อพันธมิตรของข่านเลือกที่จะออกจากพรรคร่วมของข่านไป โดยนักวิเคราะห์มองว่ามีสัญญาณบางอย่างที่ชี้ว่าข่านได้สูญเสียการสนับสนุนจากกองทัพปากีสถานไปแล้วเช่นกัน
ข่านกล่าวมาโดยตลอดว่าพรรคฝ่ายค้านมีการสมคบคิดและทำงานร่วมกันกับมหาอำนาจฝั่งตะวันตก โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้มีอิทธิพลในเรื่องนี้ เขาเลือกที่จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสหรัฐฯ และพันธมิตรในกรณีการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และเคยเดินทางเข้าพบ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียหลังจากที่การรุกรานได้เริ่มขึ้น
สมาชิกรัฐสภาจะเปิดประชุมเพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ในวันที่ 11 เม.ย.นี้ ซึ่งจากการคาดการณ์ ผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำปากีสถานแทนอดีตนายกฯ ข่าน คือ Shehbaz Sharif จากพรรคฝ่ายค้าน นักการเมืองที่มีชื่อเสียงในการบริหารบ้านเมืองที่ดีมีประสิทธิภาพ ผู้ซึ่งเป็นน้องชายของ Nawaz Sharif อดีตนายกฯ 3 สมัย
Shehbaz Sharif เขาระบุว่าการขับอดีตนายกฯ ข่านออกจากตำแหน่งจะนำไปสู่โอกาสของการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง “เช้าวันใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ... เหล่าพันธมิตรจะร่วมสร้างปากีสถานไปด้วยกัน” ชาริฟในวัย 70 ปี กล่าวกับรัฐสภา
ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งใหม่มีกำหนดจะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.2566 แต่ฝ่ายค้านต่างเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยการเลือกตั้งต้องมีขึ้นหลังจากที่ข่านพ้นตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น และต้องมีการสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ต้องมีขึ้นอย่างโปร่งใสและยุติธรรม
ปากีสถานคือประเทศที่ ‘ผู้นำไม่เคยดำรงตำแหน่งครบวาระ’ นับตั้งแต่การได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อปี 2490 โดยข่านถือเป็นผู้นำคนแรกที่ถูกขับออกจากตำแหน่งผ่านกระบวนการทางรัฐสภาด้วยการโหวตไม่ไว้วางใจ
ที่ผ่านมา ปากีสถานอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพราวครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาตลอด 75 ปีหลังได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ปัจจุบันปากีสถานเป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ มีประชากรราว 220 ล้านคน