ไม่พบผลการค้นหา
สเปนได้อนุญาตให้ผู้ชายสามารถลาไปดูแลลูกอ่อนได้โดยที่ยังได้รับค่าแรงตามปกตินับตั้งแต่ปี 2007 แต่การวิจัยพบว่า ผู้ชายที่ลาไปเลี้ยงลูกอ่อนมีแนวโน้มว่าจะไม่อยากมีลูกอีกในอนาคต

ในปี 2007 สเปนอนุญาตให้ผู้ชายลาไปเลี้ยงลูกอ่อนได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์เต็มโดยที่ยังได้รับค่าแรง ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยปีแรก ผู้ชายที่เพิ่งมีลูกขอใช้สิทธิกันถึงร้อยละ 55 และในปี 2017 สเปนเพิ่มวันลาให้พ่อไปเลี้ยงลูกได้นานถึง 4 สัปดาห์ และในปี 2018 ก็เพิ่มเป็น 5 สัปดาห์ และคาดว่ารัฐบาลอาจพิจารณาเพิ่มเวลาให้ผู้ชายสามารถลาไปดูแลภรรยาและลูกที่เพิ่งเกิดอีกครั้งภายในปี 2021

ลีเดีย ฟาร์เร นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาและลิแบร์ตาด กอนซาเลซ จากมหาวิทยาลัยปอมเปอูฟาบรา ได้ศึกษาผลกระทบจากนโยบายในปี 2007 ว่าก่อนและหลังพ่อจะสามารถลาไปเลี้ยงลูกอ่อนมีความแตกต่างอย่างไรบ้าง และตีพิมพ์ผลวิจัยลงในนิตยสารทางวิชาการ Journal of Public Economics โดยพวกเขาพบว่า คุณพ่อลูกอ่อนที่ได้ลาไปดูแลลูกสามารถกลับมาทำงานได้ ไม่กระทบกับตลาดแรงงานแต่อย่างใด และเมื่อกลับมาทำงานแล้ว คุณพ่อลูกอ่อนที่ได้ลาไปดูแลลูกในช่วงแรกก็จะยังมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกหลังจากเลิกงานแล้ว

ขณะที่อัตราการจ้างงานของแม่ลูกอ่อนก็เพิ่มขึ้น 6 เดือนหลังคลอดบุตร แม่ลูกอ่อนก็มีแนวโน้มจะลาต่อโดยไม่รับเงินเดือนน้อยลงด้วย ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ผู้ออกนโยบายคาดหวังไว้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังพบว่า ในช่วงประมาณ 2 ปีหลังจากที่คุณพ่อลางานไปเลี้ยงลูกอ่อน ความต้องการที่จะมีลูกเพิ่มของคุณพ่อที่ได้ลางานเลี้ยงลูกน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ลางานถึงร้อยละ 7 - 15 และความต้องการก็น้อยลงไปเรื่อยๆ แม้กระทั่ง 6 ปีหลังได้ลาเลี้ยงลูกแล้ว ผู้ชายที่ได้สิทธิลางานก็ยังต้องการมีลูกเพิ่ม น้อยกว่าพ่อที่ไม่ได้สิทธิลา

หลังจากที่สเปนมีนโยบายอนุญาตให้คุณพ่อลาไปเลี้ยงลูกอ่อนได้ ผลสำรวจความเห็นของผู้ชายสเปนวัย 21 - 40 ปีก็แสดงให้เห็นว่า ผู้ชายต้องการมีลูกกันน้อยลง โดยฟาร์เรและกอนซาเลซคิดว่า การได้ใช้เวลากับลูกๆ มากขึ้น อาจทำให้ผู้ชายตระหนักมากขึ้นว่าการเลี้ยงลูกต้องใช้ความพยายามและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก พวกเขาจึงเปลี่ยนแนวคิดว่าอยากมีลูกจำนวนมากเป็นอยากมีลูกที่มีคุณภาพ

ในทางกลับกัน ผู้หญิงก็เริ่มต้องการมีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่า การแบ่งภาระหน้าที่ในการเลี้ยงลูกและทำงานบ้านอย่างเท่าเทียมขึ้น ทำให้ผู้หญิงมองการมีลูกหลายคนไม่ได้ลำบากเท่าแต่ก่อน โอกาสในการกลับมาทำงานก็เพิ่มขึ้น ช่องว่างระหว่างเพศชายและหญิงในต่างแรงงานก็ลดลง

นักวิจัยระบุว่า พวกเขาไม่สามารถสรุปได้อย่างเบ็ดเสร็จจากข้อมูลชุดเดียวในสเปนประเทศเดียว และข้อมูลที่สัมพันธ์กันไม่ได้หมายความว่า การที่ผู้ชายได้เลี้ยงลูกมากขึ้นเป็นสาเหตุโดยตรงของความต้องการมีลูกที่ลดลง และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับความต้องการจะมีลูกของผู้ชายมากกว่าการลาเลี้ยงลูกอ่อนก็ได้ เช่น วิกฤตการเงินที่กระทบทั่วโลกในปี 2007 ที่สเปนประกาศให้สิทธิผู้ชายลาเลี้ยงลูกอ่อน

เดวิด อีแวนส์ นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์พัฒนาโลกกล่าวว่า มีหลายเหตุลงที่เขาไม่แน่ใจว่าปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ หรือไม่ หากมีการใช้สิทธิลาเลี้ยงลูก ในสเปน แทบไม่มีผู้ชายคนไหนลาเลี้ยงลูกอ่อนก่อนที่มีนโยบายนี้ แต่กลับเพิ่มขึ้นมาถึงร้อยละ 55 หลังมีนโยบายนี้ ขณะเดียวกัน ผู้ชายในสเปนต้องการมีลูกมากกว่าผู้หญิง ซึ่งหลายประเทศในยุโรป ผู้ชายต้องการมีลูกน้อยกว่าผู้หญิง


 ที่มา : QZ, Universitat de Barcelona