ไม่พบผลการค้นหา
นักธรณีวิทยาชาวไทยถูกยิงเสียชีวิต 1 รายระหว่างสำรวจพื้นที่ก่อสร้างเหมืองทองใน 'บูเกนวิลล์' เขตปกครองตนเองในปาปัวนิวกินี ซึ่งเพิ่งลงประชามติหนุนแยกดินแดนเมื่อปีที่แล้ว ทั้งยังเคยมีการต่อสู้ขัดแย้งเรื่องทรัพยากรและที่ดินนานนับทศวรรษ

The Guardian สื่ออังกฤษ รายงานว่า นักธรณีวิทยาชายชาวไทย วัย 27 ปี ซึ่งเข้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้างเหมืองทองในบูเกนวิลล์ เขตปกครองตนเองของประเทศปาปัวนิวกินี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่อาจจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้ 

เดอะการ์เดียนระบุ ผู้เสียชีวิตใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Channon Lampoo ทำงานให้บริษัท Austhai Geophysical Consultants ที่ปรึกษาด้านธรณีฟิสิกส์ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบริษัทเหมืองแร่ SRMO จากฟิลิปปินส์ และตำรวจในบูเกนวิลล์ระบุว่า จุดเกิดเหตุยิงอยู่ในเขตอาราวา พื้นที่ชนบทห่างไกลทางฝั่งตะวันออกของบูเกนวิลล์ เจ้าหน้าที่อาจเข้าไปสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงได้ยาก 

ผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียนได้ติดต่อสถานกงสุลไทยในกรุงพอร์ตมอเรสบี เมืองหลวงของปาปัวนิวกินี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ทางสถานกงสุลไม่ได้ยืนยันข่าวดังกล่าว และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม 

การเสียชีวิตของนักธรณีวิทยาชาวไทย เป็นเหตุร้ายครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทเหมืองแร่ต่างชาติที่เข้าไปในพื้นที่บูเกนวิลล์ โดยตำรวจของปาปัวนิวกินีระบุด้วยว่า บริเวณดังกล่าวขึ้นชื่อในฐานะแหล่งแร่ทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสงครามกลางเมืองแย่งชิงทรัพยากรอยู่นานหลายปี ก่อนจะมีการลงนามสงบศึกได้ในปี 2544

อย่างไรก็ตาม ยังมีความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่ยังเกิดขึ้นอยู่ประปราย และตำรวจอ้างว่า บริษัทต่างชาติที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ไม่ได้ติดต่อหรือแจ้งคนในชุมชนท้องถิ่นก่อน  

ขณะที่ Post Courier สื่อของปาปัวนิวกินี รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'ดิกสัน เนลสัน' อดีตผู้บริหารบริษัทด้านเหมืองแร่ทองคำในปาปัวนิวกินี ซึ่งประณามการยิงนักธรณีวิทยาชาวไทย พร้อมระบุว่า ความเชื่อเรื่องแหล่งแร่ทองคำในบูเกนวิลล์เป็นที่รับรู้กันมานาน ทั้งยังเป็นขนวนเหตุแห่งความขัดแย้งยืดเยื้อ แต่กลับยังไม่เคยมีการสำรวจพื้นที่อย่างจริงจังว่ามีแร่ทองคำมากน้อยเพียงใด เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจเข้ามาในพื้นที่ก็กลับต้องจบชีวิตลงทั้งที่ยังอายุน้อย

เนลสันระบุด้วยว่า ไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่ชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง เพราะสงครามกลางเมืองจบลงไปแล้ว ถ้าคนในบูเกนวิลล์ต้องการอิสรภาพและคิดจะแยกจากปาปัวนิวกินีจริงๆ ก็ต้องเคารพในกฎกติการะหว่างประเทศ รวมถึงเคารพชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วยเหลือ

AFP-บูเกนวิลล์ ปาปัวนิวกินี ลงประชามติแยกดินแดน พ.ย.-ธ.ค.2562.jpg
สิทธิชุมชนและการแย่งชิงทรัพยากร ชนวนเหตุ 'แยกดินแดน'

แม้บูเกนวิลล์จะถูกนับเป็นเกาะหนึ่งของประเทศปาปัวนิวกินี แต่ก็อยู่ห่างไกลจากเกาะใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงพอร์ตมอเรสบี และอยู่ติดกับหมู่เกาะโซโลมอนมากกว่า ทำให้เกิดสงครามความขัดแย้งในบูเกนวิลล์เพื่อเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนอยู่นานกว่าทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2531 จนกระทั่งถึงปี 2544 จึงมีการลงนามสงบศึก

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ประชากรในบูเกนวิลล์ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 300,000 คน บนพื้นที่เกือบ 10,000 ตารางกิโลเมตร และเมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค.2562 ได้มีการจัดลงประชามติเรื่องแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้น โดยผู้ที่มีสิทธิออกเสียงมีอยู่ประมาณ 206,731 คน และมีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง 181,067 คน เป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนรวม 176,928 คน ผู้สนับสนุนการปกครองตนเองโดยมีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ เพิ่มขึ้น 3,043 คน และผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจหรือบัตรเสีย รวม 1,096 คน

แม้การลงประชามติจะชี้ชัดว่าเกือบ 98 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่มีสิทธิออกเสียง 'สนับสนุนการประกาศอิสรภาพ' แต่ผลประชามติไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย และเป็นเพียงการหยั่งเสียงเท่านั้น รัฐบาลกลางไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามผลประชามติ แต่เชื่อว่าประชากรในบูเกนวิลล์ต้องการผลักดันไปสู่จุดนั้นให้ได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของสถาบันโลวีในออสเตรเลียเคยศึกษาความเป็นไปได้ที่บูเกนวิลล์จะประกาศอิสรภาพและตั้งประเทศใหม่ว่ามีความเป็นไปได้จริงยาก หรือถ้าจะเป็นจริงได้ก็ต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะขณะนี้บูเกนวิลล์ยังไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ 

แม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติซุกซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเแร่ทองคำ ทองแดง และอื่นๆ แต่คนบูเกนวิลล์ยังต้องพึ่งการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศจึงจะหารายได้เพียงพอในการก่อตั้งประเทศใหม่ และบริหารประเทศต่อไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง