ไม่พบผลการค้นหา
‘สมชัย’ คาด กกต. ส่งเรื่อง ‘พิธา’ เข้าศาลรัฐธรรมนูญอาจเข้าที่ประชุมพรุ่งนี้ ระบุหากสั่ง ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ปมถือหุ้นไอทีวี ยังสามารถเข้าสภาฯ ได้ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ไม่ใช่ฐานะ ส.ส. หวั่น ส.ว. ยกข้ออ้างโหวตฝืนมติประชาชน

วันที่ 10 ก.ค. สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิชัยการเมือง และการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเสนอกรณีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น เข้าที่ประชุม กกต.ในเวลา 13.00 น. 

โดยคาดว่า หาก กกต. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร็วที่สุดน่าจะภายในวันนี้ และช้าที่สุดคือพรุ่งนี้ (11 ก.ค.66) ซึ่งหากส่งเรื่องไปยังฝ่ายธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นการรับเรื่องเฉยๆ ไม่มีผลอะไร แต่หากเสนอเป็นวาระพิจารณารับเรื่อง เป็นไปได้ว่าจะเข้าที่ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธนี้ (12 ก.ค.66) 

สมชัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ได้ โดยจะส่งผลให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.นี้ พิธา จะไม่สามารถเข้าสภาฯ ในฐานะ ส.ส. แต่จะเข้าสภาในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจะสั่งให้หยุด หรือไม่หยุดปฎิบัติหน้าที่ เรื่องนี้จะมีผลให้ ส.ส และ ส.ว.จำนวนหนึ่งหยิบยกไปเป็นข้อกล่าวอ้างในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยอาจจะงดออกเสียง เนื่องจากคุณสมบัติไม่ชัดเจน อาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต 

“เรื่องดังกล่าวทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดี เพราะเป็นการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแบบเร่งรีบ เป็นจังหวะใกล้กับวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ กกต.จะกล่าวอ้างว่ามีการพิจารณาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ประชาชนจะมองว่า องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือจัดการคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง” สมชัย กล่าว 

สมชัย ยังกล่าวถึง กรณีที่ กกต. ไม่เรียก พิธา เข้ามาชี้แจงข้อมูลอีกว่า หากจะให้เกิดความสมบูรณ์ควรเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะเวลา กกต. ตัดสิทธิบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ครบ จู่ๆ ก็ตัดเลย โดยไม่มีโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าชี้แจง หากเป็นกรณีการดำเนินคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 จะต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ดูจากคุณสมบัติแล้วตัดสิทธิ ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยเรียกใครเข้ามาชี้แจง ในอดีตการตัดสิทธิมักจะอยู่ในจังหวะที่รับสมัครเสร็จแล้วตรวจพบว่าขาดคุณสมบัติก็ตัดสิทธิเลย เมื่อตัดสิทธิแล้วก็ไปร้องกับศาลฎีกา ส่วนกรณีของ พิธา ถือเป็นการพิจารณาหลังประกาศผลการเลือกตั้ง