ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมทำพื้นที่เซฟโซนในโรงเรียน มอบอาชีวะประดิษฐ์เครื่องกรองอากาศ 10,000 เครื่อง กระจายในโรงเรียนสังกัด สพฐ. กำหนด 37 โรงเรียนในกทม.นำร่อง

นายไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวการรับมือฝุ่น PM 2.5 ในสถานศึกษา ว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แผนการดำเนินงานของ ศธ.ที่จะดูแลนักเรียน คือ กำหนดพื้นที่เซฟโซนในโรงเรียน ซึ่งเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีการสร้างเครื่องกรองอากาศต้นแบบขึ้นมา ที่มีการประดิษฐ์ไม่ซับซ้อน ใช้ต้นทุนไม่แพงมากเฉลี่ยไม่เกิน 1 พันบาท ซึ่งจากการทดลองพบว่า ทำงานได้จริง ช่วยลดค่าฝุ่นละอองในอากาศได้ โดยจะมีการพัฒนาให้มีความปลอดภัย ไม่อันตรายต่อเด็กนักเรียน โดยตั้งเป้าว่าจะให้อาชีวะช่วยกันเร่งผลิตให้ได้ประมาณ 10,000 เครื่อง เพื่อกระจายไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งล็อตแรกจะผลิตให้ได้ 1,000 เครื่อง เพื่อส่งให้แก่โรงเรียนสังกัด สพฐ.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 37 โรงก่อน โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน

นายไกรเสริม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ได้รับรายงานจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ว่า สถานการณ์ฝุ่นเริ่มลดลง เพราะจะมีฝนเข้าสู่ประเทศไทย และเป็นช่วงใกล้ปิดเทอมแล้ว ซึ่งการทำพื้นที่เซฟโซนในโรงเรียน ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนเท่านั้น เพราะในช่วงปิดเทอมก็อาจใช้เป็นห้องสะอาดที่รองรับคนในชุมชนได้อีกด้วย ส่วนการผลิตเครื่องกรองอากาศส่วนที่เหลือก็จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ค่าฝุ่นที่อาจกลับมาสูงขึ้นอีกในช่วงปลายปี คือ ธ.ค. - ม.ค. และในลำดับถัดไปตั้งใจว่า จะเปิดกว้างสำหรับประชาชน หน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อขอความร่วมมืออาชีวะประดิษฐ์เครื่องกรองอากาศให้ไปใช้งานเพื่อความทั่วถึง นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์รับมือภัยฝุ่น PM 2.5 ของ ศธ.ขึ้นมาเป็นคณะทำงาน เพื่อประสานงานทุกฝ่ายให้การดำเนินงานเรื่องฝุ่น PM 2.5 มีความคล่องตัวมากขึ้น

นายพีระพล พูลทวี รองเลขาธิการ สอศ. กล่าวว่า เครื่องกรองอากาศต้นแบบมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ 1.เครื่องกรองอากาศผ่านการใช้น้ำเป็นตัวกรองฝุ่น โดยวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี ซึ่งจะใช้มอเตอร์ดูดอากาศเข้ามาผ่านน้ำ และเป็นอากาศสะอาดกลับคืนออกมา หลักการคล้ายกับปั๊มลมตู้ปลา ซึ่งการใช้งานควรมีการเปลี่ยนน้ำ เมื่อน้ำสกปรก หรืออาจเปลี่ยนวันละครั้ง โดยแทนที่จะใช้พัดลมพ่นไอน้ำออกมา ก็เปลี่ยนกลับมาใช้ดูดอากาศเข้ามาผ่านน้ำแทน ซึ่งจากการทดลองก็พบว่าช่วยลดค่าฝุ่นในอากาศได้ดี แต่เนื่องจากอากาศผ่านน้ำจึงมีความชื้นซึ่งเครื่องวัดจะรวมความชื้นในอากาศเข้าไปด้วยทำให้ตัวเลขอาจสูงขึ้น  

2.เครื่องกรองอากาศผ่านระบบพัดลม โดยวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี โดยซื้อแผ่นกรองฝุ่น PM2.5 มาติดกับเครื่องดูดอากาศ ทำให้อากาศไหลผ่านแผ่นกรอง และพัดเอาลมออกมา ซึ่งจากการทดลองเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในห้องขนาด 21 ตารางเมตร ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในห้องจาก 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เหลือเพียง 35 มคก./ลบ.ม. ซึ่งระยะเวลาใช้งานคือประมาณ 4 พันชั่วโมง ก็ควรเปลี่ยนตัวกรองใหม่  

3.เครื่องกรองอากาศโดยใช้ชุดกรองรถยนต์ที่หาซื้อได้ทั่วไปมากรองลม เพื่อให้อากาศดีขึ้น โดยวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา โดยจากการทดลองในห้องขนาด 32 ตารางเมตร เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ค่าฝุ่นจาก 75 มคก./ลบ.ม. เหลือเพียง 10-20 มคก./ลบ.ม.

ด้านนายพีระ รัตนวิจิตร รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า โรงเรียนสังกัด สพฐ. เฉพาะใน กทม.และปริมณฑล 6 จังหวัด ครอบคลุม 25 อำเภอ มีโรงเรียน 325 โรงได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดยังมีผลกระทบที่ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นต้น ซึ่งตนมีหนังสือแจ้งทุกโรงเรียนให้ดำเนินการตามที่ซักซ้อมไปตอนต้นปี คือ ถ้ามีผลกระทบปริมาณน้อย ให้นักเรียนสวมหน้ากากกันฝุ่นมา 

แต่หากเริ่มมีผลกระทบมากขึ้น ให้งดกิจกรรมภายนอกอาคาร และหากจำเป็นจริงๆ ให้อำนาจผู้บริหารโรงเรียนสั่งปิดสถานศึกษา และจัดการเรียนการสอนชดเชย และขอความร่วมมือไม่เผาขยะ ให้มีการเก็บขยะให้ถูกต้อง และช่วยกันลดฝุ่นในโรงเรียน เช่น ทำความสะอาดล้างถนนในพื้นที่