ไม่พบผลการค้นหา
ณัฐชา' อภิปรายไม่ไว้วางใจ 'จุติ ไกรฤกษ์' แฉแผน 'กินเหนือเมฆ' ตั้งบริษัทลูก 'บมจ.เคหะสุขประชา' รวมทรัพย์สินการเคหะไว้ในมือ จับแต่งหน้าปั้นตัวเลขดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมแต่งตั้งคนของตัวเองแทรกซึมบอร์ดการเคหะ ทำตัวเป็นบริษัทนายหน้าเก็บหัวคิวโครงการเพื่อคนจน หวัง กินเร็ว กินรวบ กินยาว

19 ก.ค.2565 กลางดึกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรณีของโครงการสุขประชา

ณัฐชา กล่าวว่า 'โครงการเคหะสุขประชา' ถูกผลักดันในช่วงโควิดระบาดอ้างว่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกให้ประชาชนได้เช่าแทนการขาย โดยจะสร้างให้ได้ปีละ 20,000 ยูนิต เป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งสิ้น 100,000 ยูนิตทั้งยังอ้างว่า โครงการนี้ทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล จะเปิดโครงการ 20,000 หลังทุกๆ วันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวง ร.10 จนครบ

ณัฐชา ยังได้กล่าวถึงความไม่สมเหตุสมผลของโครงการนี้ว่า คนในการเคหะแห่งชาติเองก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากขณะนั้นยังมีบ้านการเคหะอีกนับหมื่นยูนิตที่นำมาให้เช่าได้ เมื่อผลการศึกษาความคุ้มทุนออกมาว่าโครงการนี้หากจะคืนทุนต้องใช้เวลาถึง 200 ปี ก็มีการสั่งให้ปั้นตัวเลขใหม่จนเหลือ 25 ปี พร้อมใส่โครงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ปลูกผัก ปลูกเมล่อน แล้วเอารายได้จากการขายผักขายไข่มาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเพิ่มตัวเลขอัตราผลตอบแทนทางการเงิน EIRR ของโครงการ 

เมื่อคนในไม่เห็นด้วยและมีเสียงคัดค้าน สุดท้ายผู้ว่าการเคหะฯ ถูกบีบจนต้องลาออก แล้วมีการตั้งผู้ว่าคนใหม่เป็นคนสนิทของ รมต. ซึ่งรับลูกชงโครงการเคหะสุขประชาเข้าครม.ในเดือนมิ.ย.63 โดยเป็นเรื่อง "เพื่อทราบ" แต่ไม่ได้ขอเงินสนับสนุนจากรัฐ ตอนนี้ทำไปแล้ว 2 โครงการ 500 กว่ายูนิต 

ณัฐชา กล่าวอีกว่า กระบวนการจัดทำโครงการ มีการสั่งแยกโครงการถมดินกับโครงการก่อสร้างออกจากกัน ซึ่งการเคหะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ผลที่ตามมาก็คือโครงการนี้ที่มีแต่การถมดินทิ้งไว้โดยไม่มีการก่อสร้าง ปล่อยทิ้งไว้นานนับปีจนหญ้าวัชพืชขึ้นเต็มพื้นที่

"เพราะถมดิน มันกินกันง่าย เวลาของท่านรัฐมนตรีก็เหลือน้อย ถ้าจะกินทั้งถมดินและก่อสร้างก็คงจะไม่ทันการ ก็ถมไปก่อนทุกโครงการ เลยหยิบชิ้นปลามันไปกินก่อนแบบเร็วๆ"

ณัฐชายังกล่าวถึง 'แผนกินเหนือเมฆ' ผ่านการรวบรวมขุมทรัพย์ทั้งหมดของการเคหะมาไว้ที่บริษัทลูกเพียงแห่งเดียว เพื่อสามารถรับงานได้ทั้งหมด ตั้งแต่รับเหมาก่อสร้างไปจนถึงการดูแลผลประโยชน์เก็บค่าเช่าต่างๆ แล้วดันเข้าตลาดหุ้น เพื่อให้ตัวเองหรือเครือข่ายสามารถเข้าไปถือหุ้นและหาประโยชน์ได้แม้ว่าจะหมดวาระการเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว เพราะโครงข่ายยังมีอิทธิพลต่อไปในบอร์ดการเคหะ

บริษัทดังกล่าวคือ บมจ.จัดการทรัพย์สินและชุมชน หรือ เซ็มโก้ ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีอยู่แล้วแต่แต่งตัวนำเข้าตลาดหุ้น จึงได้ปั่นตัวเลขจากการนำไปรับเหมาถมดินในโครงการเคหะสุขประชา ทั้งที่ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เฉพาะปี 2563 ปีเดียว บริษัทนี้รับงานขุดดินทำรายได้ไป 821 ล้านบาท โดยไม่ต้องผ่าน e-bidding 

"การเคหะอ้างว่า ตัวเองถือหุ้นเซ็มโก้ มากกว่า 25% เลยเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกอบกฎกระทรวงปี 61 ให้สามารถจ้างบริษัทเซ็มโก้แบบเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งมีลักษณะตีความกฎหมายอย่างศรีธนญชัย เพราะการที่กฎหมายอนุญาตให้รัฐวิสาหกิจจ้างบริษัทลูกได้แบบเฉพาะเจาะจง ต้องเป็นการจ้างในกรณีที่บริษัทลูกมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งตรงตามเนื้อหาของงานที่จะจ้าง พูดแบบชาวบ้านก็คือ จะจ้างบริษัทลูกแบบเฉพาะเจาะจงได้ ก็ต่อเมื่อเป็นงานที่บริษัทลูกทำเองอยู่แล้วจริง ๆ ไม่ใช่จ้างบริษัทลูกที่ต้องไปจ้างช่วงบริษัทอื่นกินหัวคิวต่อ"

ทั้งนี้ ณัฐชา กล่าวว่า เซ็มโก้ตั้งตามมติ ครม. เมื่อปี 2537 ไม่เคยรับงานก่อสร้างถมดินมาก่อน ไม่มีทั้งวิศวกร บุคลากร หรือเครื่องมือ เพราะวัตถุประสงค์ที่ตั้งบริษัทเพียงเพื่อดูแลนิติบุคคลหมู่บ้าน คอนโด คอยเป็นตัวแทนเก็บค่าเช่าค่าส่วนกลางให้กับการเคหะแห่งชาติเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้ผู้ว่าการเคหะคนใหม่ไปสั่งแก้ระเบียบให้ไม่ต้องมีผลงานก่อสร้างมาก่อนก็รับได้ แถมยังให้เข็มโก้รับงานการเคหะพร้อมกันกี่สัญญาก็ได้ ไม่ถูกจำกัดไว้ที่ 3 สัญญา เหมือนผู้รับเหมารายอื่น นอกจากนี้ ยังให้เซ็มโก้เบิกเงินล่วงหน้าได้ 15% ก่อนส่งงวดงาน 

"แบบนี้จะจ้าง เซ็มโก้ ไปห้กหัวคิวทำไม ทำไมไม่ไปจ้างบริษัทที่เขาทำงานถมดินจริงๆ ตั้งแต่แรก ก็จะประหยัดงบประมาณแผ่นดินไปได้ ไม่ต้องผลาญภาษีพี่น้องประชาชน หลังจบการอภิปราย คงต้องทำเรื่องยื่นต่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบต่อไป"

ณัฐชา ยังขยายความต่อว่า เบื้องต้นแผนเอาเซ็มโก้เข้าตลาดเหมือนจะเดินไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายผู้ถือหุ้นของบริษัทเซ็มโก้ไม่เอาด้วย จึงนำไปสู่มหากาพย์เรื่องต่อไป นั่นคือการดึงโครงการเคหะสุขประชา ออกจากเซ็มโก้มาอยู่ที่ 'บมจ.เคหะสุขประชา' บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อมารับบทบาทแทนเซ็มโก้ โดยจดวัตถุประสงค์ให้รับงานก่อสร้างได้และสามารถรับจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้เลย

ณัฐชา ชี้ว่าหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในแผนกินเหนือเมฆครั้งนี้ คือ นาย จรร. คนสนิทของจุติ ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นมือปั่นหุ้นและเป็นคนนำหลายๆ บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์และเป็นที่เพ่งเล็งของ กลต. 

ณัฐชา กล่าวว่า เพื่อดำเนินการตามแผนการในการจัดตั้งบริษัทใหม่ทันที จุดิ สั่งให้มีการแจกแจงสินทรัพย์ทั้งหมดของการเคหะแห่งชาติออกมา เพื่อเลือกหยิบเฉพาะชิ้นงามๆ เตรียมการยักย้ายถ่ายโอนไปบริษัทแห่งใหม่ ซึ่งแท้จริงแล้วคือการปั่นหุ้น สร้างสตอรี่วาดฝันสวยหรู 

"รายได้คาดการณ์ของ บมจ.เคหะสุขประชาสูงถึง 120,000 ล้าน ครึ่งนึงมาจากไปล็อกงานก่อสร้าง 100,000 ยูนิตมาจากการเคหะ อีก 1 ใน 4 มาจากรายได้พัฒนาเศรษฐกิจให้ชุมชน เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกเมล่อน พับฤงกล้วยแขกขาย มโนกันว่าจะทำเงินได้ปีละ 2,000 ล้าน 10 ปี 20,000 กว่าล้าน มันจะเป็นไปได้ยังไง ที่บ้าไปกว่าการพับถุงกล้วยแขกคือความพยายามในการหากำไรจากคนจน โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย แต่ปั่นตัวเลขว่าจะทำกำไรสูงถึง 13% แบบนี้คือจะไปรีดเงินจากพี่น้องประชาชนคนจนในประเทศ จิตใจท่านทำด้วยอะไร"

ณัฐชา กล่าวต่อไปว่า ภาพสุดท้ายของสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับมหากาพย์ เรื่องนี้ คือภาพเดียวกับการที่เซ็มโก้ได้รับประเคนงานถมดินบวกก่อสร้าง เพื่อกินหัวคิวล็อตใหญ่ ซึ่งในขณะนี้ ล่าสุด บมจ.เคหะสุขประชา กำลังเปิดลงทะเบียนผู้รับเหมา รับงานก่อสร้าง ที่จะเอาโครงการก่อสร้างมาจากการเคหะ 

ณัฐชา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า บมจ.เคหะสุขประชา ไม่เพียงตั้งขึ้นเพื่อหาประโยชน์จากหัวคิวแล้ว ยังทำตัวเป็นภาระให้ลูกหลานในอนาคตด้วย โดยมีการร่างข้อบังคับการคหะแห่งชาติ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทในเครือของการเคหะแห่งชาติ เพื่อเป็นการอนุญาตให้การเคหะแห่งชาติสามารถค้ำประกันเงินกู้ของ บมจ. เคหะสุขประชา ได้ ซึ่งเวลานี้เฉพาะหนี้สินของการเคหะปาเข้าไป 40,000 ล้านบาทแล้ว และหนี้ของรัฐวิสาหกิจจะถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ จึงเท่ากับว่าจะเพิ่มหนี้รายหัวต่อประชากรที่จะส่งผ่านไปถึงลูกหลาน โดยบริษัทใหม่มีแผนธุรกิจจะสร้างหนี้อีก 60,000 ล้านบาท ซึ่งร่างข้อบังคับนี้ ครม. มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 หรือไม่ถึง 1 เดือน หลังจากที่มีมติเห็นชอบให้ตั้งบมจ.เคหะสุขประชา 

"คนที่บอกว่าไม่ควรผ่านร่างข้อบังคับนี้ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ท่านรัฐมนตรีอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังได้ให้ความเห็นว่า การเคหะยังไม่มีความจำเป็นในการออกข้อบังคับดังกล่าว เห็นควรให้การเคหะกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทในเครือให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้และไม่เป็นภาระ ขนาดรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลยังส่ายหัวไม่เอา แล้วรัฐมนตรีจุติจะเอาไงต่อไป ทั้งโครงการ ทั้ง บริษัท ยังจะดันต่อหรือไม่"

จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงชี้แจงว่า ตนเองเข้ามากำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ สถานะทางการเงินมีหนี้สินรวม 35,419 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวม 53,746 ล้านบาท แต่ยอมรับมีปัญหาเกี่ยวกับภาระโครงการเอื้ออาทรที่ขาดทุนสะสม 38,843 ล้านบาท ทำให้มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยประจำปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท

เมื่อตนเข้ามาในตำแหน่ง ทางคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ได้มีการรายงานว่าได้รับข้อสังเกตจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สั่งการให้สำรวจตรวจสอบความผิดปกติของการจัดทำบัญชีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินพร้อมเน้นว่าการเคหะแห่งชาติมีระบบการควบคุมภายในที่ไม่ดีเพียงพอ และมีการบริหารจัดการทรัพย์สิน ที่ไม่ครอบคลุมธุรกิจโดยเสนอให้แก้ไขข้อกฎระเบียบบังคับ โดย สตง. ตรวจสอบพบปัญหาความผิดปกติในบริษัทลูกและผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งยังมีการตั้งญาติของอดีตผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ มาเป็นผู้จัดการบริษัทลูกอีก โดยนำทรัพย์สินบางส่วนของการเคหะแห่งชาติไปให้สมาคมเช่า แล้วไม่มีการนำรายได้นำส่งให้แก่การเคหะแห่งชาติ

นายจุติ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการได้ทำงานด้วยความเหนื่อยยากต้องสู้กับระบบนายทุนผูกขาดที่หากินกับการเคหะแห่งชาติมายาวนานโดยคณะกรรมการได้ออกระเบียบข้อบังคับการจัดการทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลเรื่องนี้ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานเรื่องผิดปกติไปยังป.ป.ช.

นอกจากนั้นมีการเร่งคืนเงินประกันที่ได้เก็บไว้นานมากเกือบ 10 ปีกว่า 1,400 ล้านบาท ที่บริษัทต่างๆ ได้มีการนำเงินมาค้ำประกันไว้ภายใน 3 เดือน ซึ่งเป็น 90% ของเงินที่เก็บไว้ และปรับโครงสร้างภายในบริษัทลูกดังกล่าวเพื่อให้ฐานะการเงินเข้มแข็งตามข้อเสนอของ สตง. รวมถึงให้ปรับปรุงสถานะทางการเงิน เพื่อให้ฟื้นตัวจากผลขาดทุนให้เป็นกำไรให้ได้และยังตั้งคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการเอื้ออาทร ซึ่งถือเป็นภาระให้กับรัฐบาลมานานมาก ทำให้มีนักธุรกิจที่หากินกับการเคหะแห่งชาติติดคุกจำนวน 4 คน

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยจัดระบบการเช่าใหม่โดยอาคารที่เช่าเหมาหมดสัญญาแล้วให้กลับมาทำ จึงเป็นที่มาของการอภิปรายของสมาชิกที่บอกว่ามีข้อมูลที่เชื่อว่าเป็นข้อมูลเด็ด ข้อมูลลับ ของผู้บริหารบริษัทลูกที่ได้ทำผิด ละเมิดธรรมาภิบาล

จุติยังปฏิเสธเรื่องที่มีการตั้งนักปั่นหุ้นมาเป็นกรรมการการเคหะแห่งชาติ ว่าไม่เป็นความจริงเพราะการที่จะเลือกกรรมการแต่ละคนไปอยู่ในรัฐวิสาหกิจจะต้องผ่านการตรวจสอบถึง 4 ชั้น และมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่มีคดีไม่สามารถเป็นคณะกรรมการได้ จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการกล่าวเท็จ

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าตนเองแอบอ้างสถาบันเพื่อทำโครงการนั้น นายจุติ ยืนยันว่า ไม่เคยมีคำสั่งไม่เคยมีจดหมายขอกระทำแบบนี้ ตนเองทำด้วยใจ ทุกเรื่องที่ทำถวายสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่เกิดและจะทำจนตาย และยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีคดีล้มล้างการปกครองไม่เคยมีคดีล้มเจ้าแน่นอน

ส่วนข้อกล่าวหาว่าตนเองบีบบังคับให้อดีตผู้ว่าการเคหะจะออกเพราะไม่สนองนโยบายยืนยันว่าจดหมายลาออก เพราะปัญหาสุขภาพตนเองไม่ได้บีบให้ลาออก ส่วนที่เมื่อลาออกแล้วได้เอาคนข้างในเข้ามาเพื่ออวยโครงการ ก็เป็นข้อกล่าวเท็จ เพราะผู้ว่าการเคหะแห่งชาติคนปัจจุบัน เข้ามาหลังโครงการสร้างบ้านให้คนจนได้เช่าในราคาถูก