ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นขอประกันตัวนักโทษการเมือง 15 ราย ย้ำสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะกลับมายืนยันขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง

9 ก.พ. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้เดินทางเข้ายื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองทั้งหมด 15 ราย โดยหลังจากยื่นประกันตัวต่อศาลเสร็จ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ฺ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แถลงข่าวระบุว่า

เวลานี้ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 38 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 25 คน และคดีถึงที่สุดแล้ว 13 คน

ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 จำนวน 14 คน และมีเยาวชน 2 คน ถูกคุมขังในข้อหานี้ เพราะศาลกำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา ส่วนในคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือเผารถตำรวจ มีผู้ไม่ได้ประกันตัว รวม 9 คน

โดยตั้งแต่เมื่อวาน (8 ก.พ. 2567) และวันนี้ ทนายความพร้อมนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ จะเข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังที่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิประกันตัว ทั้งหมด 15 ราย ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, “แม็กกี้“, ไพฑูรย์, สุขสันต์, ธนายุทธ,วีรภาพ, อุดม, “กัลยา“, จิรวัฒน์ และทีปกร โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นเงินบริจาคของประชาชน ในการวางหลักประกันต่อศาล

ในส่วนของวุฒิ ประสงค์ขอยื่นประกันตัวในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เนื่องจากเป็นวันเดียวกับการฟังคำพิพากษาในคดีของตัวเอง และอานนท์ นำภา ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะยื่นประกันตัวเองพร้อมกับยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการยื่นอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม 14 ต.ค. 2563

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากต้องการยุติการต่อสู้ทางคดีแล้ว รอคดีสิ้นสุด ได้แก่ ชนะดล และสมบัติ ทั้งในส่วนของวารุณี ได้แจ้งความประสงค์ว่าขอดูสถานการณ์ และยังไม่ขอตัดสินใจยื่นประกันตัวในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เหลือ ได้แก่ เวหา, เก็ท โสภณ ได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมจนกว่าผู้ต้องขังรายอื่นจะได้รับการประกันตัวทั้งหมด ส่วนบุ้ง เนติพร ไม่ประสงค์ให้ยื่นประกันตัว เพื่อประท้วงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม

ด้าน เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือการจำคุกด้วยเหตุผลว่ากลัวว่าพวกเขาจะไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินความผิดของพวกเขาเลย ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการเรื่องการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังตอนนี้ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าคนเหล่านี้เป็นอันตรายกับสังคม หรือสิ่งที่พวกเขาพูดเป็นอันตรายกับใครกันแน่ การจองจำดังกล่าวทำไปเพื่อปกป้องใคร หรือเพียงพอไม่ต้องการให้พวกเขาได้มีโอกาสท้าทายผู้มีอำนาจอีก จนนำไปสู่การปฏิบัติที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม”

เบญจรัตน์ กล่าวต่อว่า ในโอกาสที่สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเลือก ประชาชนต่างตั้งความหวังว่า รัฐบาลจะนำพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น อีกทั้งในโอกาสที่ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนง ว่าต้องการเข้าร่วมกลไกสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ นี่จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะกลับมายืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และหลักการพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง

แถลงการณ์ฉบับเต็ม

ตั้งแต่ปี 2566 สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีครอบครองอาวุธที่สืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และฎีกามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 38 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 25 คน และคดีถึงที่สุดแล้ว 13 คน

ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 จำนวน 14 คน และมีเยาวชน 2 คน ถูกคุมขังในข้อหานี้ เพราะศาลกำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา ส่วนในคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือเผารถตำรวจ มีผู้ไม่ได้ประกันตัว รวม 9 คน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง นักศึกษา และภาคประชาสังคม ได้รวมกลุ่มกันเป็น “เครือข่ายนิรโทษกรรม” จัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยมีกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องในช่วงวันที่ 1-14 ก.พ. 2567 เพื่อให้รัฐยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง

ทั้งผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกคุมขัง เมื่อทราบถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและกิจกรรมของเพื่อนข้างนอกแล้ว หลายคนแจ้งความประสงค์ที่จะยื่นขอประกันตัว เพื่อใช้สิทธิของตนเองอีกครั้ง และเพื่อตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ายังมีคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และได้รับความเดือดร้อน

ในวาระที่มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ประกอบสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อันจะเป็นทางออกในการยุติความขัดแย้งทางการเมือง และกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อพวกเขา

ตั้งแต่เมื่อวาน (8 ก.พ. 2567) และวันนี้ ทนายความพร้อมนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ จะเข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังที่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิประกันตัว ทั้งหมด 15 ราย ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, “แม็กกี้“, ไพฑูรย์, สุขสันต์, ธนายุทธ,วีรภาพ, อุดม, “กัลยา“, จิรวัฒน์ และทีปกร โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นเงินบริจาคของประชาชน ในการวางหลักประกันต่อศาล

ในส่วนของวุฒิ ประสงค์ขอยื่นประกันตัวในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เนื่องจากเป็นวันเดียวกับการฟังคำพิพากษาในคดีของตัวเอง และอานนท์ นำภา ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะยื่นประกันตัวเองพร้อมกับยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการยื่นอุทธรณ์ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม 14 ต.ค. 2563

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองรายอื่นๆ ที่ไม่ได้ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากต้องการยุติการต่อสู้ทางคดีแล้ว รอคดีสิ้นสุด ได้แก่ ชนะดล และสมบัติ ทั้งในส่วนของวารุณี ได้แจ้งความประสงค์ว่าขอดูสถานการณ์ และยังไม่ขอตัดสินใจยื่นประกันตัวในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เหลือ ได้แก่ เวหา, เก็ท โสภณ ได้ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมจนกว่าผู้ต้องขังรายอื่นจะได้รับการประกันตัวทั้งหมด ส่วนบุ้ง เนติพร ไม่ประสงค์ให้ยื่นประกันตัว เพื่อประท้วงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกของประชาชนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำริบหรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันของศาลในลักษณะเช่นเดิมที่ว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ กลายเป็นแรงผลักให้หลายคนต้องตัดสินใจยอมรับคำตัดสินโทษ โดยไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป แต่เพื่อให้พวกเขาได้กลับมามีอิสรภาพในชีวิตให้เร็วที่สุดอีกครั้ง

การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้งหมดในวันนี้ ด้วยความหวังว่าศาลยุติธรรมจะยังคงยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ คือหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และแม้เป็นจำเลย ก็ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด โดยการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของผู้ต้องขังคดีการเมืองเหล่านี้อย่างเที่ยงธรรม และคืนสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งยังเป็นหลักประกันในการได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองทุกคน