หลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์ นายกรัฐมนตรี ประสานทุกหน่วยงานเร่งถอดบทเรียนการปราบปรามยาเสพติด ด้วยปฏิบัติการ ‘สงครามยาเสพติด’ ก่อน มหาดไทย-ผบ.ตร. ขีดเส้นตาย 31 ต.ค. ทุกจังหวัดต้องส่งรายชื่อ ‘ผู้ค้า-ผู้เสพ’ ให้ส่วนกลาง
“เขาพิสูจน์กันมาแล้ว 3 สิ่งที่อยู่กับมนุษย์ ยาเสพติด การพนัน และการขายบริการทางเพศ เพียงแต่รูปแบบการจัดการมันต่างกันออกไป…” รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ยาเสพติด’ และสังคมไทยที่อยู่เคียงคู่กันมายาวนาน
แนวทางป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดำเนินควบคู่กับวงจรดังกล่าวมาหลายยุคหลายสมัย ในช่วงแรกยังคงเป็นการระบาดของ ‘ฝิ่น’ เรื่อยมาจนถึงช่วงการแพร่ระบาดของ ‘ยาบ้า’ หรือยากลุ่มแอมเฟทตามีน (Amphetamines) เฮโรอีน ยาไอซ์ ยาอี ฯลฯ โดยเฉพาะ ‘ยาบ้า’ ที่กลายเป็นยาเสพติดอันดับ 1 ที่ ป.ป.ส.ระบุว่ามีการแพร่ระบาดมากถึง 79% เทียบกับยาเสพติดอื่นๆ
ทั้งนี้ ‘ยาม้า’ มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเป็น ‘ยาบ้า’ ในปี 2539 โดยรัฐหวังให้สังคมตื่นตัวกับยาเสพติดชนิดนี้มากขึ้นพร้อมๆ กับการปรับบทลงโทษให้หนักหน่วงขึ้น ข้อมูลจาก ป.ป.ส.พบว่า พื้นที่ภาคอีสานกลายเป็นเส้นทางหลักของการขนยาเสพติดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนเส้นทางจากเดิมที่นำมาจากประเทศเมียนมาสู่ภาคเหนือ เปลี่ยนเป็นเข้าทาง ส.ป.ป.ลาว แล้วผ่านมาทางภาคอีสาน สอดคล้องกับสติถิการจับกุมที่พบว่า ตำรวจภูธรภาค 4 (เขตอีสานบน) เป็นพื้นที่ที่มีการจับกุมยาบ้าได้สูงสุด
ถึงตอนนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ปัญหายาบ้าระบาดหนักหน่วง และไม่ว่าฝ่ายใดก็ดูจะพยายามชูแนวทางการจัดการกับปัญหานี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ‘วอยซ์’ จึงชวนผู้อ่านถอดบทเรียนประสบการณ์การปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงที่การปราบปรามมีประสิทธิภาพอย่างยากจะหาได้ในรัฐบาลใด พร้อมๆ ไปกับเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายอย่างรุนแรง
“การแพร่ระบาดของยาเสพติดเพิ่มสูงและแพร่ระบาดหนักมากหลังปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาบ้า จากเดิมที่ขายกันในตรอกซอกซอย ปรากฏว่ามีการขายกระจายกันเต็มไปหมด แม้แต่ตามโรงเรียนและในวัด ผู้เกี่ยวข้องกับการเสพและการขายเดิมอยู่ในกลุ่มคนจน คนด้อยการศึกษา ผู้มีอิทธิพล นักเลงหัวไม้ แต่ระยะหลังคนมีการศึกษาสูงจบปริญญาตรี ปริญญาโท ก็ขายยาบ้าด้วย รวมทั้งคนที่มีอาชีพมีเกียรติในสังคม ครู พระสงค์ นักเรียน ล้วนถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด”
“รายงานประจำปีของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชนก็ระบุถึงปัญหายาเสพติดในประเทศไทยในลักษณะที่สอดคล้องกันว่า ในปี 2545 ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสพยาบ้ามากที่สุดในโลก โดยพิจารณาจากที่กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่ามีผู้เสพยาบ้าเป็นประจำอย่างน้อยถึง 3 ล้านคน”
พินิจ ลภาธนานนท์ จากหน่วยวิจัยสารเสพติดและผลกระทบทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขียนไว้ในหนังสือ ‘สงครามยาเสพติด การแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน’ พร้อมยกตัวอย่างข่าวมากมายในช่วงนั้นที่สะท้อนปัญหาดังกล่าว
หลังการเลือกตั้งปี 2544 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้รับเสียงสนับสนุนมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพสูง
นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี เล่าว่า ช่วงนั้นพรรคไทยรักไทย ใช้แคมเปญการเลือกตั้ง ‘3 สงคราม’ คือ สงครามกับความยากจน สงครามกับยาเสพติด และสงครามกับคอร์รัปชั่น เมื่อได้จัดตั้งรัฐบาล หลังโปรดเกล้าฯ ให้ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ และอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ามาบริหาร มีการจัดเวิร์คช็อประดมสมองที่อ.ชะอำ จ.ประจวบ เป็นการคุยกันแบบสบายๆ “ยังจำได้ว่าทักษิณใส่รองเท้าสนีกเกอร์แบบไม่สวมถุงเท้ามาร่วม” เพื่อหาแนวทางการป้องกันยาเสพติด และสรุปเป็นแนวทาง รวมถึงขีดเส้นแบ่งระหว่างผู้เสพ และผู้ค้า ด้วยการกำหนดปริมาณการครอบครอง หากมากกว่า 5 เม็ดจะถือว่าเป็น ผู้ค้า หรือ ‘อาชญากร’ ทันที ส่วน ผู้เสพ จะถือว่าเป็น ‘ผู้ป่วย’ ที่ต้องดูแลรักษา
นพ.พรหมมินทร์ อธิบายอีกว่า เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญ ‘หัวไม่ส่าย หางก็ไม่กระดิก’ จะไม่มีข้าราชการขัดขืน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ ดังนั้นการจัดการเรื่องยาเสพติด ต้องจัดการด้วยความเข้มงวด เจ้าหน้าที่รัฐต้องชัดเจน ทหารเองก็สำคัญเพราะตอนนั้นประเทศไทยเป็นทางลำเลียงยา ก็ต้องปิดประตูไม่ให้เข้ามา
4 ธันวาคม 2545 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสถึงความห่วงใยในยาเสพติด และย้ำอย่างชัดเจนว่ายาเสพติดเป็นปัญหาที่รุนแรง รัฐบาลทักษิณจึงปรับนโยบายเชิงรุก ด้วยการกำหนดกรอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การปราบปราม เน้นที่ผู้ผลิต ผู้ค้า (Supply) การบำบัดรักษา เน้นที่ผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติด (Demand) และการป้องกัน โดยมุ่งเน้นที่ชุมชนและกลุ่มเสี่ยง (Potential Demand)
อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ดูเหมือนจะเน้น ‘การปราบปราม’ ซึ่งกำหนดระยะเวลาไว้ 90 วันในการกวาดล้าง และองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการบำบัดหรือป้องกันนั้นทำไปจนสิ้นปี
“มันคือการพิสูจน์การทำงานเชิงพื้นที่ จะต้องต่อสู้ให้ได้รับชัยชนะ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือน จังหวัดต่างๆ ต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ มีตัวชี้วัดที่ทำให้ส่วนกลางเห็นว่าปัญหายาเสพติดหมดสิ้น หรือเบาบางลงจนยากที่จะกลับมาอีก” นพ.พรหมมินทร์ กล่าว
“ผมขอประกาศตัวเป็นแม่ทัพใหญ่ในการทำสงครามขั้นแตกหักกับยาเสพติด และให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ชาวไทยทุกคนต้องผนึกกำลังร่วมรบชนิด ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย…” ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในพิธีประกาศสงครามยาเสพติดขั้นแตกหัก เมื่อ 31 ม.ค. 2546
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ ท่าทีอันแข็งกร้าวในการใช้คำพูด และลักษณะการสื่อสารทางกาย ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็น ‘ใบอนุญาต’ ที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ความรุนแรงได้โดยตรง ขณะที่ท่าทีของทักษิณยังเกี่ยวเนื่องไปถึงการตอบโต้ต่อสหประชาชาติ (UN) ด้วยคำกล่าว ‘ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ’ ภายหลังที่สหประชาชาติจะส่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ามาตรวจสอบนโยบายดังกล่าว
ขณะที่ นพ.พรหมมินทร์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น อธิบายต่อปรากฎการณ์ Iron Fist หรือ ‘กำปั้นเหล็ก’ ว่า การปฏิงานด้านอาชญากรรมจะละมุนละม่อมไม่ได้ เพราะผู้ค้าเราถือว่าเป็นอาชญากร เมื่อเราเข้มงวด เขาก็มีการสู้กลับ จึงเกิดการวิสามัญโดยตำรวจ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ปัญหายาเสพติดไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และสถานการณ์ ในเรื่องอาชญากรรมให้ลองนึกดูว่า ถ้าไปโค่นต้นไม้ใหญ่ แล้วใช้มีดปอกลิ้นจี่เล็กๆ มันก็ยังอยู่ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ผู้สั่งการนโยบายต้องมีจริยธรรมมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเพื่อความผาสุก
“ขบวนการค้ายาเสพติด มันอยู่กันด้วย กฎของปืน ไม่ใช่กฎหมาย เพราะตัวเองทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือ ถ้ามีการไม่ไว้วางใจกันเขาก็จะต้องมีการจัดการกัน เพราะกลัวว่าเป็นภัยที่จะมาถึงตัว ถ้าคนอยู่ในวงการอาชญากรรม หรือใครไม่เก็บความลับ มันอยู่ด้วยกฎแห่งอำนาจเผด็จการ วัดกันด้วยผลประโยชน์” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ระบุ
อย่างไรก็ตาม คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยนโยบายที่เข้มงวด จริงจัง สั่งการให้หน่วยงานระดับพื้นที่เข้า เอ็กซ์เรย์ตรวจสอบทุกตารางนิ้ว จัดทำ ‘บัญชีดำ’ และตั้งเป้าหมายชัดเจนในเวลาอันสั้น ได้สร้าง บรรยากาศแห่งความกลัว ขึ้น ผสมกับคำพูดของทักษิณที่ราวกับฟางเส้นสุดท้ายต่อขบวนการค้ายาเสพติดคือ “ที่อยู่ของขบวนการค้ายาเสพติดมี 2 ที่ คือ ถ้าไม่ไป คุก ก็ไป วัด”
ในยุคหนึ่งที่ยาเสพติดถูกมองว่าเป็น ‘ปีศาจ’ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็ย่อมถูกสังคมมองว่าเป็นผีห่าซาตาน แต่ในมุมกลับ นักสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ยาเสพติดถือเป็นภัยคุกคามชาติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่มีสิทธิพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรม
“เรื่องการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ผมได้เตรียมการปรับขบวนในการที่จะทำสงครามยาเสพติดอย่างรุนแรงเต็มที่ในปีนี้…” ทักษิณ กล่าวผ่านรายการทักษิณคุยกับประชาชน เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2546
28 ม.ค. 2546 คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 29/2546 เรื่องการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด ถือเป็นคำสั่งสำคัญในการรองรับการปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด และเป็น ‘จุดคิกออฟ’ ในการเปิดพรมกวาดล้าง ด้วยการเชิญหัวหน้าส่วนราชการทั้งส่วนกลาง ระดับภาค และจังหวัดมารับนโยบาย
การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติการในคำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญในการจัดตั้งองค์กร 2 ระดับ ได้แก่
จากนั้นมีการกำหนดแผนการ โดยวันที่ 30 ม.ค. - 13 ก.พ. 2546 (2 สัปดาห์) เป็นการ X-Ray พื้นที่ จัดทำ ‘บัญชีดำ’ รายชื่อ จำนวนผู้ผลิต หรือผู้ค้า, จำนวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด, จำนวนผู้ติดยาเสพติด และจำนวนหมู่บ้านที่เตรียมเข้าสู่กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง
5 ก.พ. 2546 มีการกำหนด เป้าหมายภายใน 3 เดือน จนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2546 ได้แก่ จำนวนผู้ผลิต หรือผู้ค้า ต้องหมดไป, จำนวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องหมดไป ภายใน 15 ก.พ. 2546 (10 วัน), จำนวนผู้ติดยาเสพติดต้องเข้าบำบัดไม่น้อยกว่า 75%, ทุกหมู่บ้านเตรียมเข้าสู่กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง และความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 90%
ขณะที่การ วัดผล มีการกำหนดไว้ 4 ห้วงเวลา ได้แก่ ห้วงที่ 1 ระยะเวลา 7 วัน (1 ก.พ. - 10 ก.พ. 2546) บรรลุผล 5% ห้วงที่ 2 ระยะเวลา 7 วัน (21 ก.พ. - 28 ก.พ.) บรรลุผล 50% ห้วงที่ 3 ภายใน 31 มี.ค. 2546 บรรลุผล 50% และห้วงที่ 4 ภายใน 30 เม.ย. 2564 บรรลุผล 100%
นโยบายสงครามยาเสพติด ที่มุ่งเน้นปราบปรามและแก้ไขปัญหาจากระดับพื้นที่ชุมชน ด้วยระบบ ‘Area Approach’ ส่งผลให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดต้องเป็น ‘ปาท่องโก๋’ คือต้องทำงานร่วมกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้อง เป็นประธานใหญ่ในระดับจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นรองประธานในระดับอำเภอ
ทั้งคู่ต้องร่วมกัน ‘X-Ray’ พื้นที่ชุมชนทุกตารางนิ้ว เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. 2546 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2546 ประกอบกับมีการประเมินผล ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ค้ายาเสพติดจะถือว่า ‘หย่อนสมรรถภาพ’
รวมถึงตีกรอบระยะเวลา 2 สัปดาห์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ายาเสพติดต้อง ‘เตรียมตัวเลิก’ ถ้าไม่เลิกก็มีโอกาสถูกจัดการทุกรูปแบบไม่ว่าทั้ง ‘ตัว’ หรือ ‘ชีวิต’ และถ้าหาก ผู้ว่าฯ และผู้บังคับการฯ ‘ล้มเหลว’ ในการปฏิบัติหน้าที่ก็จะ ‘โดนเด้ง’ ทั้งคู่
“ถ้าล้มเขา (ผู้ค้ายาเสพติด) ไม่ลง ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดก็จะต้องไปด้วยกัน” ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในการประชุมวันที่ 14 ม.ค. 2546
นพ.พรหมมินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประชุมวันนั้น เล่าว่า ด้วยความที่ ทักษิณ เป็นอดีตตำรวจ ก็มีความคิดว่า “ตำรวจย่อมรู้ดีว่าใครเป็นคนร้ายในพื้นที่” และ “ผู้ว่าฯ อยู่กับประชาชนอยู่แล้ว” ฉะนั้นทั้งคู่ต้องทำงานร่วมกันไม่ให้หลุด กลยุทธ์นี้เป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน และเมื่อรู้ตัวแล้วว่าใครเป็นผู้ค้าก็ไปบอกให้เขาหยุด ถ้าไม่กลับตัวกลับใจจะกลายเป็นอาชญากรทันที
“ยาเสพติดไม่กลัวนายกฯ ยาเสพติดไม่กลัวตำรวจทหาร ยาเสพติดไม่กลัวคสช. แต่ยาเสพติดกลัวชุมชนเข้มแข็ง” ทวี สอดส่อง อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุ
ในปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด จุดเริ่มต้นสำคัญมาจากการจัดทำ ‘บัญชีดำ’ ต้นตอรายชื่อในบัญชีนั้นมาได้อย่างไร มีความถูกต้องเพียงไหน
การจัดทำบัญชีดังกล่าวกำหนดให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญผ่านการทำ ‘ประชาคมหมู่บ้าน’ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดกรองเพื่อเป็นด่านแรกในการ ‘เร่ง-ล่า-หารายชื่อ’ ผู้มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกระบวนการประชาคมหมู่บ้านในการแก้ปัญหายาเสพติดจะดำเนินการ 3 ครั้ง คือ
จากรายงานการวิจัยของพินิจ ระบุด้วยว่า มีการแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่
หลังจากนั้นทั้ง 3 ฝ่ายจะนำรายชื่อมาชั่งตวงกัน โดยศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดระดับอำเภอ (ศตส.อ.) จะนำรายชื่อที่รวบรวมได้ทั้งหมดมาดำเนินการตรวจสอบรายชื่อซ้ำ ก่อนยกร่าง ‘รายชื่อผู้ต้องสงสัย’ ส่งกลับไปยังแต่ละตำบล หรือหมู่บ้าน เพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่าในรายชื่อยังเกี่ยวข้องอยู่หรือเปล่าผ่าน ‘ชุดปฏิบัติการชุมชน’ ที่ร่วมกันทำประชาคมในหมู่บ้าน โดยมีเงื่อนไขอันน่าพิลึกคือ ‘เพิ่มได้อย่างเดียว ไม่สามารถตัดออกได้’ ก่อนจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่อยู่ในรายชื่อเข้า รายงานตัว แล้วทางราชการจึงจะลบชื่อออกจากแบล็คลิสต์
รายงานวิจัยของพินิจ ยังจำแนกผู้ที่มารายงานตัวในช่วงสงครามยาเสพติดไว้ 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเกรงกลัวอำนาจรัฐ ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากความหวาดกลัวในความเข้มข้นของการปราบปราม กลุ่มแสดงความบริสุทธิ์ ส่วนมากเคยเสพแต่เลิกแล้ว หรือเคยเสพเพียงครั้งเดียว กลุ่มต้องการเลิกเสพ โดยกลุ่มนี้ต้องการทำเพื่อครอบครัว และเห็นปัญหาของการใช้ยาเสพติดจริงๆ
การจัดทำบัญชีดำนั้นเวลาค่อนข้างสั้น แม้จะมีกระบวนการหลายขั้นตอนและมีการมีส่วนร่วมของชุมชนค่อนข้างมากในการคัดกรอง กระนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็เคยวิจารณ์ ‘จุดโหว่’ การจัดทำบัญชีดำไว้ว่า รายชื่อส่วนใหญ่มาจากการประชุมประชาคมหมู่บ้านจึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความขัดแย้งกันมาก่อน ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการเมืองท้องถิ่นกลั่นแกล้งกันได้ คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อจำนวนไม่น้อยเป็นบุคคลกลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลที่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด บุคคลที่มีฐานะไม่ค่อยดีแต่กลับมีเงินทุนในการประกอบกิจการ บุคคลที่เคยร้องเรียนหรือมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลที่เป็นฐานเสียงหรือหัวคะแนนพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น หรืออาจมีญาติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แล้วถูกเหมารวมว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย
“รัฐบาลทำเรื่องนโยบาย เรื่องการจัดการเป็นฝ่ายประจำ ฉะนั้น เราไม่สามารถล้วงไปถึงได้ เราเป็นคณะรัฐมนตรีอาจจะมีผู้ช่วยหรือคนทำงาน วิธีการต่างๆ ส่วนกลางตอบไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องเชื่อว่ามันมีการตรวจสอบจริง” นพ.พรหมมินทร์ กล่าว
ตามเกณฑ์ชี้วัดของสำนักงาน ป.ป.ส. ปี 2546 กำหนดให้ ชุมชนที่จะเป็นชุมชนเข้มแข็งได้นั้น ต้องไม่มีผู้เสพรายใหม่ ไม่มีปัญหาของการแพร่ระบาด หรือมีการระบาดเบาบางคือ ผู้เสพไม่เกิน 5 คนต่อประชากร 1,000 คน
ในแง่มิติทางสังคมยาเสพติดเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ไม่อาจยอมรับ โดยพบว่า มีการใช้คำพูดหรือวาทกรรมที่ยึดโยงปัญหาเหล่านี้ไว้ผ่านสโลแกน คำขวัญ เช่น “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด” “คนค้ายาเสพติดเป็นคนทรยศต่อชาติ” รวมถึงการมอบธงเฉลิมพระเกียรติให้แก่หมู่บ้านที่ได้รับการประกาศว่า ปลอดยาเสพติด หรือแผนปฏิบัติการ ‘เทิดไท้องค์ราชันย์ พลังไทย ต้านภัยยาเสพติด’
งานวิจัยของ มนตรี เกษมสุข (2548) ซึ่งศึกษาการปรับตัวของผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยหลังรายงานตัว เข้าร่วมโครงการทำความดีเพื่อแผ่นดินในปี 2546 และติดตามผลหลังครบ 1 ปี พบว่า ร้อยละ 79 ยังไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และหากเจาะดูผู้เสพหรือผู้ค้ารายย่อยที่เข้าอบรมในจังหวัดเชียงใหม่พบว่า 1 ใน 3 ไม่ได้เรียนหนังสือ และอีก 1 ใน 3 จบเพียงชั้นประถมศึกษา
แต่ขณะเดียวกันก็พบปัญหาที่สำคัญ อันเนื่องมาจากทัศนคติของสังคมว่าด้วย 'ปีศาจยาเสพติด' เพราะผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะถูกตัดสิทธิจากการกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน รวมไปถึงเงินกองทุนที่ชาวบ้านรวบรวมกันเอง ทำให้ยิ่งเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และจำนวนไม่น้อยยังคงเผชิญกับความกลัวจะถูกกำจัดจากขบวนการค้ายาเสพติดที่ตนเคยมีส่วนร่วม
“รัฐบาลไทยทุกยุคล้มเหลวในการแก้ปัญหายาเสพติด เพราะมุ่งใช้วิธีการปราบปรามเพื่อให้ได้ผลเร็วที่สุด มองปัญหายาเสพติดด้วยกรอบ “คนดี คนชั่ว คนทรยศต่อชาติ” จึงต้องใช้การปราบปรามเป็นหลัก การแก้ปัญหาในมิติทางสังคม ก็มักเอานักเรียนนักศึกษามาเดินพาเหรดชูคำขวัญ ประเภท “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด” โครงการโรงเรียนสีขาว โรงเรียนปลอดยาเสพติด ... หากรัฐบาลเปลี่ยนมุมมองว่าปัญหายาเสพติดเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจของครัวเรือน การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหาวัยรุ่นที่เผชิญความกดดันทุกด้าน ปัญหาการศึกษาที่ล้มเหลวที่เอาแต่กดดันมากกว่าจะพัฒนาเยาวชน ฯลฯ วิธีการแก้ปัญหาก็จะแตกต่างไป” พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยอธิบายปัญหาเชิงโครงสร้างไว้
ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ วิเคราะห์ความเชื่อมโยงปัญหายาเสพติดกับคนในเครื่องแบบ ว่า "ปัญหานี้มันเกิดจากการซื้อขายตำแหน่ง ตำแหน่งผู้กำกับดีๆ 30 ล้าน แล้วตำรวจจะเอาตังค์ที่ไหนมาให้ ไปกู้หนี้ยืมสินมา ผลสุดท้ายก็ต้องไปหากินกับอาชีพตำรวจที่หากินกับสิ่งอบายมุข บ่อน ซ่อง หวย แต่ที่เดินได้ดีที่สุดคือ ขายยา... ผมไม่ด่าตำรวจ ผมด่าฝ่ายการเมืองที่หาแดกกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ"
สิ่งปลุกเร้าที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต่างต้องกระตือรือร้นวิ่งเต้นดำเนินการตามแผนนโยบายปราบปรามยาเสพติด นอกเหนือจากความกลัวที่จะโดนเด้ง อีกส่วนหนึ่งก็มาจาก ‘ระบบการให้รางวัล’ เพื่อหวังจะจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐให้อยู่ในร่องในรอย ตั้งใจปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติดอย่างเคร่งครัด ไม่รับสินบนจากขบวนการยาเสพติด
“การให้เงิน 3 บาท ต่อยาบ้า 1 เม็ดที่ยึดมาได้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่กลายเป็นเศรษฐีเงินล้านได้ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย แทนที่จะไปขอเงินสินบนจากพวกเดนมนุษย์เหล่านั้น” ทักษิณเคยกล่าวไว้
ประกาศกระทรวงยุติธรรม ลงนามโดย พงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม เมื่อ 11 ก.พ. 2546 ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐสามารถดำเนินคดีจับกุมผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ตั้งแต่ 11 - 500 เม็ด เจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับเงินตอบแทน กรัมละ 5,000 บาท หากเกิน 500 เม็ด ปริมาณสารบริสุทธิ์ 20% ขึ้นไป เงินรางวัลจะตกอยู่ที่เม็ดละ 3 บาท ทั้งนี้รวมแล้วไม่เกิน 1,000,000 บาท
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่า การใช้ระบบเงินตอบแทน ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น การจับกุมโดยไม่มีหลักฐาน หรือการยัดยาเพื่อทำยอดคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทั่งการเรียกเอาทรัพย์จากผู้ที่อยู่ในบัญชีดำ แลกกับการปล่อยตัว ฯลฯ
นอกจากเงินรางวัลที่มอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ยังมีเงินที่ตอบแทนให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ หรือ ‘สายสืบ’ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักข่าว ไทยพับลิก้าเคยรายงานว่า ช่วงปี 2544-2549 มีการมอบเงินให้แก่ผู้แจ้งความนำจับสำหรับการครอบครองเพื่อจำหน่ายและนำเข้าส่งออกเท่านั้น
ในระยะเวลา 6 ปี จำนวนคดียาเสพติดมีทั้งสิ้น 107,207 คดี มอบเงินนำจับ 622,970,624 บาท เฉลี่ยคดีละ 5,810 บาท โดยในปี 2545 ก่อนประกาศนโยบายสงครามยาเสพติด คดียาเสพติดมีจำนวน 31,744 คดี และหลังจากปี 2546 ที่เริ่มต้นประกาศใช้นโยบาย ตัวเลขลดลงเกือบเท่าตัวเหลือเพียง 20,695 คดี และลดลงมาเหลือหลักพันคือ 7,300 , 5,500 และ 5,800 คดี ในปี 2547, 2548 และ 2549
ยากจะปฏิเสธว่า จุดตายของรัฐบาลทักษิณ1 คือนโยบายสงครามยาเสพติด ซึ่งในข้อเท็จจริง การปราบปรามดำเนินการอยู่ 3 เดือนเท่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวและหลังจากนั้น นักสิทธิมนุษยชนรวมถึงฝ่ายต่อต้านหยิบยกเรื่องนี้มาโจมตีอย่างหนักเพราะเห็นว่าเกิดกรณีร้องเรียนการละเมิดสิทธิจำนวนมาก ข้อมูลที่ทุกฝ่ายใช้อ้างอิงจนปัจจุบันคือ ‘รายงานการศึกษาเบื้องต้น’ ของคณะกรรมการที่เรียกสั้นๆ ว่า คตน. ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบนโยบายนี้หลังจากรัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารไปแล้ว โดย คตน.ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ประธานคณะกรรมการคือ คณิต ณ นคร
คณะกรรมการอีก 9 คน ประกอบด้วย จรัญ ภักดีธนากุล, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, กิตติ ลิ้มชัยกิจ, อุดม รัตอมฤต, พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด, อุทัย อาทิเวช, ชายญเชาวน์ ไชยานุกิจ, ธาริต เพ็งดิษฐ์
รายงานเบื้องต้นนี้นำเสนอรัฐบาลเมื่อต้นปี 2551 มีทั้งหมด 53 หน้า ในจำนวนนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานราว 17 หน้า ที่เหลือเป็นข้อวิจารณ์และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหลายช่องทางทั้งในเว็บไซต์ ห้องสมุดต่างๆ ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงรายงานฉบับสมบูรณ์
รายงานเบื้องต้นของ คตน. สรุปผลการดำเนินงานปราบปรามยาเสพติด 1 ก.พ.- 30 เม.ย.2546 (3 เดือน)
อย่างไรก็ดี จุดที่สำคัญที่สุดในรายงาน คตน. คือ จำนวนคดีฆาตกรรมในช่วง 3 เดือนนั้น มีทั้งสิ้น 2,559 คดี ผู้เสียชีวิต 2,819 คน ในจำนวนนี้ไม่ใช่เรื่องยาเสพติดทั้งหมด
ถ้านับเฉพาะผู้ตายที่มี ‘พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด’ จะพบว่า มีทั้งสิ้น 1,187 คดี ผู้เสียชีวิต 1,370 คน ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด 1,111 คดี
ส่วนคดีวิสามัญฆตกรรม มีทั้งหมด 45 คดี ผู้เสียชีวิต 54 คน ในจำนวนนี้ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 41 คน ไม่เกี่ยวข้อง 2 คน ไม่ทราบข้อมูล 11 คน
แม้ไม่มีรายละเอียดข้อมูลหรือการจำแนกกลุ่มต่างๆ อย่างชัดเจนมากไปกว่าตัวเลขรวมที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ แต่ คตน.แสดงความกังวลใจว่า ช่วง 3 เดือนดังกล่าว คดีฆาตกรรมเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 87% โดยเชื่อว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่ท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำรัฐบาล และการตั้งเป้าหมาย-เร่งรัดกระบวนการต่างๆ มากเกินไป
นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของอดีตนายกฯ ทักษิณเคยให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อปี 2555 ว่า รายงานหลายตอนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เป็นข้อสรุปที่เกิดจากความเชื่อมากกว่าจากความจริง เช่น การสังหารคนตายไปกว่าพันคน ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากการศึกษาของ ป.ป.ส. มีคดีวิสามัญฆาตกรรมผู้ค้ายาเสพติด 46 คดี มีคนตาย 57 คน ส่วนคดีที่อ้างว่ามีคนตายสองพันกว่าคนเป็นการรวมเอาการตายจากทุกสาเหตุ เช่น ชู้สาว ขัดผลประโยชน์ ปล้นทรัพย์ ทะเลาะวิวาท รวมกันเพื่อบิดเบือนการปราบยาเสพติด ทั้งที่ พ.ต.ท. ทักษิณไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ไปฆ่าผู้ค้ายาเสพติด
"คนค้ายาฆ่าคนค้ายาก็ต้องมีบ้าง ดีกว่าปล่อยให้ยาเสพติดระบาดแล้วคนไปฆ่าเด็กตาย แต่เราไม่ได้ไปยุให้เขาฆ่ากัน แต่เขาเอาตัวรอดจึงตัดตอนกันเอง เพราะกลัวโดนจับจากการซัดทอด" ทักษิณกล่าวในรายการ CARE คิด เคลื่อนไทย เมื่อ 12 ต.ค.2565
ขณะที่พวงทองระบุในบทความเรื่องสงครามยาเสพติดว่า “บรรดาผู้ที่วิพากษ์นโยบายนี้ของทักษิณ รวมทั้งดิฉันด้วย ไม่มีใครบอกว่าคุณทักษิณสั่งการให้ฆ่าตัดตอนผู้ค้ายารายใดรายหนึ่งโดยตรง แต่เขาวิพากษ์นโยบาย คำสั่ง คำพูดของคุณทักษิณและคนในรัฐบาล ที่เป็นดั่งแนวทาง-แรงกดดัน-ไฟเขียวให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อ ‘ผู้ต้องสงสัย’ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมใดๆ”
“ส่วนที่ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้เรื่อง ‘ฆ่าตัดตอน’ เป็นข้ออ้างเพื่อรัฐประหารทักษิณจริงหรือไม่ คำตอบคือ จริง พวกเขาใช้เรื่องนี้เพื่อทำลายความชอบธรรมของคุณทักษิณทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร โดยที่พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิในชีวิตของประชาชนจริงๆ ดิฉันเคยเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในเฟสบุ๊คตั้งแต่ 2562 ว่าหลังรัฐประหารปี 2549 ดิฉันทะเลาะกับเพื่อนนักวิชาการที่เป็นเสื้อเหลือง โดยเขายกเรื่องฆ่าตัดตอนเป็นข้ออ้างว่าต้องหยุดทักษิณ ไม่เช่นนั้นจะมีคนตายอีก และพวกเขาจะหาทางดำเนินคดีกับทักษิณ ดิฉันตอบกลับไปว่า อยากเห็นพวกคุณทำนะ แต่เชื่อเถอะว่าไม่ทำหรอก เพราะถ้าคุณจะเอาผิดในกรณีนี้ มันจะต้องสืบสวนไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารในปฏิบัติการนี้ด้วย...คณะรัฐประหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะต้องปกป้องคนในระบบราชการด้วยกันเอง นี่คือระบบที่อุ้มชูการลอยนวลพ้นผิดของรัฐไทยมาตลอด” พวงทองระบุ
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ยากจะปฏิเสธว่านโยบายนี้ทำให้ยาเสพติดลดลงทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น งานวิจัยของ ปาริชาติ สถาปิตานนท์ (2547) ระบุว่า ในช่วงปี 2546 หลังมีนโยบายสงครามยาเสพติด (3เดือน) ทำให้ปี 2546-2547 ยาบ้ามีราคาสูงขึ้นมาก จากเดิมเม็ดละ 80-120 บาท กลายเป็นเม็ดละ 300-400 บาท
2 มีนาคม 2546 ผลสำรวจของศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตโพลล์ เกี่ยวกับความเด็ดขาดในนโยบายสงครามยาเสพติด ระบุว่า 68% เห็นด้วยอย่างยิ่ง, 28% เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่า การปราบปรามแบบนี้ยังไปไม่ถึงผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ถึง 55%
9 ต.ค.2565 ซูเปอร์โพลเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า 57.2% ต้องการให้ปฏิรูปงานตำรวจ มากกว่าทำสงครามยาเสพติด เพราะทำสงครามยาเสพติดแก้ปัญหาไม่ยั่งยืน ยาเสพติดกลับมาแพร่ระบาดเหมือนเดิมอีก ในขณะที่ 40.8% ต้องการให้ทำสงครามยาเสพติดมากกว่า
ดูเหมือนสังคมไทยอาจค่อยๆ มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้แล้ว ?
“ความมุ่งหมายคือต้องจัดการ คนดื่มเหล้ายังมีปัญหา แต่คนเสพยาแล้วสมองมันคุมสติไม่ได้ ทำให้เสียหายถาวร เกิดการไล่ฆ่ากันมั่วไปหมด มันเลยเป็นชนวนทำให้เกิดอาชญากรรมมากมาย” นพ.พรหมมินทร์ กล่าวถึงความมุ่งหมายของนโยบายสงครามยาเสพติด
“ผมคิดว่าการใช้คำว่า สงคราม มันเป็นคำพูดที่ไม่ค่อยสุภาพกับประชาชน เพราะคนที่ติดยาเสพติดเป็นประชาชน จริงๆ เจตนาคือจะทำสงครามกับคนค้ายา แต่เมื่อใช้คำว่าสงคราม มันเลยสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองในเรื่องสิทธิมนุษยชน” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าว
ในทางทฤษฎี นักอาชญาวิทยา ให้ความเห็นว่า นโยบายสงครามยาเสพติด ตั้งอยู่บนฐานคิดทางอาชญาวิทยาด้วยกรอบ ทฤษฎีควบคุมอาชญากรรม (Crime Control) โดยมีจุดสำคัญตรงการควบคุม และปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก ซึ่งในที่นี้คือผู้ค้ายาเสพติด ส่วนเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกจะได้รับความคุ้มครองก็ต่อเมื่อการควบคุมอาชญากรรมมีผลแล้ว
แนวคิดดังกล่าวมีจุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ หากกฎหมายหย่อนยาน เจ้าหน้าที่รัฐก็จะไม่มีทางควบคุมอาชญากรได้ และความไม่เคารพกฎหมายก็จะเพิ่มมากขึ้น จึงเน้นความเร่งรีบ รวดเร็ว และตอบโต้อาชญากรอย่างเด็ดขาด
สอดคล้องกับความเห็นของ นพ.พรหมมินทร์ ที่ระบุว่า การปราบปรามอาชญากรขั้นเด็ดขาด ถ้าเขาไม่ยอม บางครั้งมันก็ต้องปะทะกันเป็นเรื่องปกติ เราปราบโจรเพื่อดูแลคนจำนวนมาก ไม่ใช่การจงใจ แต่ทั้งนี้ในกระบวนการก็ต้องก็เจรจาเสียก่อน และที่ตำรวจทำไปมันคือการป้องกันตัว
ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งทางอาชญาวิทยาที่มีความเห็นแย้งคือ ทฤษฎีกระบวนการที่ถูกต้อง (Due Process) ซึ่งมองว่า หลักการในเรื่องของการประกันสิทธิ และเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติด รวมถึงหลักความชอบด้วยกฎหมาย (Rule of Law) และวิธีปฏิบัติอันเป็นหลักสากล
รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยา อธิบายว่า องค์ความรู้ด้านอาชญาวิทยาเกี่ยวกับยาเสพติดมีหลายแนวคิด ไม่ว่าจะแนวคิด ‘ถึงลูกถึงคน’ การใช้อาวุธปราบปราม หรือแนวคิดสมัยใหม่ที่มองว่า สิ่งที่ควรจะทำคือการใช้กระบวนการยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เรื่องปลายทางยาเสพติดในไทย ไม่ว่าจะใช้องค์ความรู้ไหน ทำอย่างไร ปัญหาก็ไม่หมดไปจากประเทศ
“เขาพิสูจน์กันมาแล้ว 3 สิ่งที่อยู่กับมนุษย์ ยาเสพติด การพนัน และการขายบริการทางเพศ เพียงแต่รูปแบบการจัดการมันต่างกันออกไป นโยบายทางอาญาของแต่ละประเทศมันก็แก้ปัญหาแตกต่างกัน” รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ ระบุ
รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ ยืนยันว่า การปราบปรามยาเสพติดในสมัย ‘ทักษิณ’ ทำให้ขบวนการค้ายาหยุดชะงักไปชั่วคราวจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่า สังคมอีกด้านก็วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน
ในมิติของการปราบปราม รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า ด้วยความที่นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดเป็นการสั่งการแบบ Top Down จากบนลงล่าง ไม่ใช่ล่างสะท้อนขึ้นบน ฉะนั้น ‘ผลลัพธ์’ กับ ‘วิธีการ’ จึงจำเป็นต้องควบคู่กันไป ผู้กำหนดนโยบายต้องเห็นปัญหาของผู้ปฏิบัติการ ไม่ใช่เอาแต่สั่ง เพราะผู้ปฏิบัติคือคนอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา ฝ่ายนโยบายมักสนใจแต่ผลลัพธ์ วิธีการไปถึงไหม ไปไม่ถึงเพราะอะไร จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ไข
นักอาชญาวิทยา ยังชี้ให้เห็นอีกว่า หากเข้าไปศึกษานโยบายยาเสพติดของทุกรัฐบาล จะพบว่าใช้วิธี ‘จับแบบโควต้า’ ตำรวจต้องรายงานผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาต้องรายงานนายกฯ ว่าดำเนินการแล้วเท่าไร เหตุเพราะต้องการเอาตัวเลขมาโชว์สังคม ปีนี้มีคนเข้าบำบัด 500,000 ราย ปีต่อมา 600,000 ราย แต่ไม่ได้ดูคุณภาพว่ามีกี่คนที่บำบัดแล้วกลับไปเสพซ้ำ
ในมิติการบำบัดรักษา รศ.พ.ต.ท.กฤษณพงศ์ มองว่า ที่ผ่านมานั้นก็ยังไม่ตรงจุด เพราะผู้เสพยาเสพติดแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเริ่มใช้มา 3-6 เดือน หรือบางคนใช้มา 3-5 ปี ทำให้ความเข้มข้นของยาที่อยู่ในร่างกายต่างกัน แต่ด้วยนโยบายของรัฐที่คิดแบบ ‘ตัดเสื้อโหล’ หรือสูตรสำเร็จที่ให้ทุกคนไปเข้าบำบัดด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน ซึ่งนั่นไม่ใช่การบำบัดที่ถูกทิศทางเท่าที่ควร
เมื่อถึงปลายทางของการดำเนินคดี ตำรวจมักจะคิดว่า ตัวเองใช้กฎหมายเต็มที่แล้วก็จบงาน แต่คนที่ถูกปล่อยออกมาหลังจากถูกดำเนินคดี มาตรการหลังจากนั้นก็ต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น ต้องให้ความรู้คนในชุมชน ลดการตีตรา ไม่ให้รู้สึกด้อยค่า ต้องมีนักจิตวิทยาชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้กลับเข้าสู่วังวนยาเสพติดอีก
สำหรับนโยบายในอนาคตข้างหน้า นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ปัญหามากมายเกิดขึ้นในช่วงการใช้นโยบาย มีทั้งส่วนที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าใจผิด หากพรรคเพื่อไทยจะนำกลับมาใช้นโยบายนี้จะต้องมีการทบทวน ความเข้มงวดของกระบวนการทำงานต้องมีการตรวจสอบ หากมีการกระทำเกินเลย การเป็นผู้รักษากฎหมายนั้นไม่ง่าย ยิ่งในต่างประเทศเขาระวังกันมาก เพราะถือว่าขาข้างหนึ่งอยู่ในคุกแล้ว ฉันใดฉันนั้น การตรวจสอบความเข้มข้นในกระบวนการระหว่างทางจะต้องชัดเจน
นพ.พรหมมินทร์ กล่าวด้วยว่า ในแง่มิติทางสังคม ปัญหาใหญ่ของไทยคือเรื่องเศรษฐกิจ ต้องทำให้เกิดการสร้างรายได้ แต่ถ้าหากกำลังรบที่เป็นผู้สร้างรายได้ป่วยเสียก่อน ก็ย่อมส่งผลกับคนในครอบครัว จึงต้องสร้างทางเลือก สร้างโอกาส และเพิ่มการศึกษาต่อการสร้างรายได้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหายาเสพติด
=====
ในตอนหน้าเราจะสุ่มสำรวจ ‘ชีวิตจริง’ ของคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายนี้ รวมถึงผู้ที่ฟื้นคืนชีวิตจากนโยบายนี้
ที่มาบางส่วน :
https://nctc.oncb.go.th/manage/researchMgt/import/researchFull/20170228_18335646_cdbox4_33.pdf
https://nctc.oncb.go.th/manage/researchMgt/import/researchFull/20170228_17504847_Protect_Teenage.pdf
https://nctc.oncb.go.th/manage/researchMgt/import/researchFull/20170228_18315148_cd2_07.pdf
https://nctc.oncb.go.th/manage/researchMgt/import/researchFull/20170301_09414251_rookjit.pdf
https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2550/2134334.pdf
http://dcms.lib.nu.ac.th/dcms/TDC2553_b/1482/chapter2.pdf