จากกรณีมีรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ จำกัดความเร็วของรถพยาบาล ไม่เกิน 80 กม./ชม. หรือไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร เป็นคนละ 2 ล้านบาท จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ล่าสุด นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะปฏิบัติการนำส่งผู้ป่วยที่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง พบว่าส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการขับรถเร็ว ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
จากข้อมูลในปี 2559 - 2562 พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 318 ราย เป็นพยาบาลและบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 ราย เสียชีวิต 4 ราย พิการ 2 ราย ผู้ป่วยบาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 3 ราย คู่กรณีเสียชีวิต 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึงร้อยละ 80
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลและความคุ้มครองอุบัติเหตุทางถนน ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์
นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวว่า หลักการส่งต่อระหว่างสถานพยาบาลนั้น คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย และมาตรฐานในการรักษาพยาบาลเป็นสำคัญ แพทย์เจ้าของไข้จะทำการประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ไม่อยู่ในภาวะวิกฤติ คาดว่าจะไม่ทรุดลงรุนแรงขณะนำส่งถึงโรงพยาบาลปลายทาง และการเปิดไซเรนหรือไฟฉุกเฉินเป็นการแจ้งให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบว่าภายในรถมีผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม รถพยาบาลยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก และใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด หากใช้ความเร็วสูง แรงปะทะขณะเกิดอุบัติเหตุจะรุนแรง ทำให้เกิดโอกาสการเสียชีวิตได้มาก
สำหรับการให้หยุดรถพยาบาลในจุดที่ปลอดภัยเพื่อทำหัตถการนั้น เนื่องจากการทำหัตถการขณะรถวิ่ง พยาบาลและเจ้าหน้าที่จะต้องปลดเข็มขัดนิรภัยมาทำหัตถการ ทำให้บุคลากรของเราอยู่ในความเสี่ยง จึงมีนโยบายให้รถพยาบาลทุกที่นั่งติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :