ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ แนะทุกฝ่ายผนึกกำลังแก้ รธน.ทั้งฉบับ ’พริษฐ์’ บอกมี 4 ด่านที่ต้องผ่าน ชี้ไม่แก้ฉบับปี 60 อาจเจอระเบิด 3 อาวุธ ล้มรัฐบาลเลือกตั้งได้ ด้าน ’ทวี’ บอก คสช.ถ่ายโอนอำนาจให้ ส.ว.คือรัฐประหารเงียบ

วันที่ 8 ก.ค. ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) จัดเสวนาหัวข้อ "บทบาทของรัฐสภา และเส้นทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" โดยมีผู้เข้าร่วม อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ,พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคประชาชาติ ,พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมวงพูดคุย

จาตุรนต์ กล่าวเริ่มต้นว่า รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อนหน้านี้หลักการอำนาจไม่ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่เพื่อบางองค์กรบางกลุ่ม จึงได้รัฐบาลเผด็จการมา 5 ปี และรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองประชาชนมา 4 ปี รวมถึงวันนี้แม้การเลือกตั้งจะชนะท่วมท้น แต่ก็ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ การเลือกตั้งจึงยังไมีมีความหมาย ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นประเทศจะล้าหลังไปเรื่อยๆ เดินหน้าไม่ได้และจะมีปัญหากับประชาชนในปัจจุบันและอนาคต

จาตุรนต์ ยังกล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญว่า คนที่เขียนรัฐธรรมนูญเขาออกแบบไว้ให้อย่างแยบยล ทำให้แก้ยากเป็นพิเศษ ตนเสนอว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำทั้งฉบับ และเริ่มจากการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

ส่วนกรณีที่ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทะเลาะกันในขณะนี้ ตนอยากให้ความสนใจกับการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่กว่าตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ควรต้องรณรงค์ร่วมกับประชาชน ช่วยกันตั้ง สสร.ให้สำเร็จ และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

"อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เราต้องผนึกกำลังกันจริงๆ เพราะภารกิจการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายอยากเห็น" จาตุรนต์ กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ได้ ต้องมีเสียงสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ให้ได้ 1 ใน 3 หรือประมาณ 60 คน มาร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมามีการถ่ายโอนอำนาจจาก คสช. ผ่าน ส.ว. ซึ่งเป็นรัฐประหารเงียบ โดยจากนี้อีกประมาณ 10 เดือน โดยวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ส.ว.ก็จะหมดอายุ และเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งจากประชาชน 

พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ตอนนี้เรามีความหวัง โดยเริ่มจาก 13 กรกฎาคมนี้ รัฐสภาจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ถ้าเรามองให้ลึก การเลือกไม่ควรการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ แต่ควรเลือกตามจริยธรรม อาทิ ด้านความรู้ ความสามารถ การมีคุณธรรม แต่การจะเอานโยบายที่หาเสียงของพรรคก้าวไกลมาเป็นเหตุผลไม่เลือก พิธา ตนคิดว่าจะเป็นความคิดที่ผิด ดังนั้นจึงเชื่อว่าตามที่ ส.ว.มณเฑียร บุญตัน บอก ส.ว.ควรเลือกตามเสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่เสียงข้างน้อย และถ้าเลือกโดยการจะซื้องูเห่า ก็จะผิดหลักกการ 

"การเป็นประชาธิปไตย ควรจะต้องมาก่อนรัฐธรรมนูญ ด้วยซ้ำ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ด้าน พริษฐ์ กล่าวว่า การฟื้นฟูประชาธิปไตยและนำพาประชาธิปไตยกลับสู่สถานการณ์ปกติคือต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งในมุมมองของพรรคก้าวไกลรัฐธรรมนูญปี 60 ขาดความชอบธรรมในด้านของเนื้อหา และจัดทำโดยคนที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประการที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม แม้จะผ่านการทำประชามติแต่ไม่ได้เป็นเสรี และคนที่ถูกคัดค้านหลายคนถูกดำเนินคดี รวมทั้งคำถามพ่วงที่นำมาซึ่งส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีมีความซับซ้อนและชี้นำ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 60 ที่มี 279 มาตรา มีหลายส่วนขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล และเจตนารมณ์ประชาชน และมี การฝั่งอาวุธ 3 ชนิด คือ 1. ส.ว.อำนาจล้นฟ้าในการเลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการโหวตกฎหมายสำคัญของประเทศ 2. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งกระบวนการและแต่งตั้ง ซึ่งถูกคาดหวังว่าต้องมีความเป็นกลางกับถูกเลือกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และ 3. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผูกขาดและเปิดช่องให้ขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากดำเนินนโยบายขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แม้จะเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประเทศ 

พริษฐ์ ระบุว่า แม้วันที่ 13 ก.ค. เรามีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล แต่ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญอาวุธเหล่านี้อาจเป็นระเบิดเวลา ที่ทำให้ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่เราจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราไม่เพียงพอ 

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประชาชนจะต้องผ่าน 4 ด่าน ก็คือการทำประชามติ 2 ครั้ง การเลือกตั้งสสร. และการทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งใน 4 ด่านจะต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่งและเกินครึ่งจะต้องเห็นชอบกับกระบวนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะต้องทำให้รัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขได้แต่ฉีกไม่ได้และวางให้ต่อต้านการรัฐประหารในอนาคต 

ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญอาจจะใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นระหว่างทางจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 รายมาตราที่สุ่มเสี่ยงไม่ให้ขัดขวางรัฐธรรมนูญใหม่ และรณรงค์ให้คนเห็นความสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามหากการตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกในเดือนสิงหาคม เชื่อว่าเราอาจจะมีการจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ภายในปีนี้ได้ และ ส.ว. ชุดนี้ทำหน้าที่อยู่จะไม่ปัดตกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะไม่มีเหตุผล หากเราจัดทำประชามติและประชาชนเห็นด้วยแล้ว