ไม่พบผลการค้นหา
กองทัพมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รวมทั้งบทบาทของ ผบ.เหล่าทัพ ที่คาบเกี่ยวระหว่างยุค คสช. มาสู่ยุคหลังเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาลและดัน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกสมัยได้สำเร็จ

โดยบทบาทกองทัพได้กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ซึ่งปีนี้มีเพียง ‘บิ๊กต่าย’ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ที่เกษียณฯ จาก ผบ.ทอ. แล้วส่งไม้ต่อให้ ‘บิ๊กนัต’ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ.คนใหม่

พล.อ.อ.มานัต จบ ตท.20 - ร.ร.นายเรืออากาศรุ่นที่ 27 และจบ ร.ร.นายเรืออากาศเยอรมัน เป็นอดีตนักบินเครื่องบิน F-5 โดยมี Call Sign ว่า “Jetta” เคยเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศประจำเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี , รักษาราชการผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ กรุงปารีส และ กรุงโรม เคยอดีตผู้บังคับการ กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการวางระบบเครื่องบินรบ Gripen จากสวีเดนด้วย

โดยในยุค พล.อ.อ.มานัต มีนโยบายในการสร้างนายทหารสัญญาบัตร จาก ร.ร.นายเรืออากาศ ให้มีคุณสมบัติ ’10 Q’ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ของ ทอ. คือ “Air power and cyber space” ในการสร้างคนที่เก่ง มีคุณธรรม และมีจิตวิญญาณ

สำหรับนโยบายการจัดซื้อยุทโธปกรณ์นั้น พล.อ.อ.มานัต ยอมรับว่ามีแน่นอน เพื่อเป็นการรักษาขีดความสามารถของกองทัพ มีทั้งส่วนที่ซื้อใหม่และการปรับปรุงพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการยกระดับหรืออัปเกรดอาวุธยุทโธปกรณ์ของเก่า โดยใช้ภูมิปัญญาของคนไทยเข้าไปจัดการเกือบทั้งหมด ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มาก

อย่างไรก็ตามภาพการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศในการเลือกประเทศผู้ผลิตนั้น ยังไม่เด่นชัดเท่ากับกรณีของกองทัพบกและกองทัพเรือในขณะนี้ ที่มองกันว่ากองทัพบกเอนเอียงทางสหรัฐฯและกองทัพเรือมาทางจีน หลัง ทบ.ไทย จัดซื้อรถเกราะสไตรเกอร์จากสหรัฐฯจำนวนมาก

โดย สหรัฐฯ จัดส่งรถเกราะสไตรเกอร์ให้ไทยล็อตแรก 70 คัน โดยใช้งบประมาณกลางของรัฐบาล วงเงิน 2,860 ล้านบาท แบ่งเป็น ทบ.ไทย จัดซื้อเอง 37 คัน และ สหรัฐฯ ให้เปล่า 23 คัน เพื่อภารกิจเสริมสร้าง ‘กองพลทหารราบที่ 11’ ที่วางแผนไว้ให้เป็น ‘กรมทหารราบยานเกราะ’ เปรียบเทียบได้กับกองพลน้อยของสหรัฐฯ หรือ Stryker Brigade Combat Team

อีกทั้งจัดหาโดยใช้งบประมาณของ ทบ. วงเงิน 850 ล้านบาท จำนวน 10 คัน เพื่อสนับสนุนปรับโอน ‘หน่วยออกนอกกองทัพบก’ ทั้งนี้ ทบ. มีแผนจัดซื้อสไตรเกอร์ในปีงบประมาณ 2563 อีกราว 50 คัน โดยทางสหรัฐฯจะให้เปล่าอีก 30 คัน

ทั้งนี้โครงการรถเกราะสไตรเกอร์ ถือเป็นความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะจัดหามาตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ทบ. จนมาติดปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เรื่อยมาถึงเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22พ.ค. 2557 ขึ้นมา จึงทำให้แผนการจัดซื้อสไตรเกอร์ถูกพับยาว จนมาปัดฝุ่นในปีนี้ ยุค พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ที่ได้ชื่อว่าเป็นนายทหาร ‘อเมริกันสไตล์’ เพราะผ่านหลักสูตรต่างๆของสหรัฐฯ และเป็นที่จับตาของกองทัพสหรัฐฯตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 แล้ว


กองทัพ 2273-4734-8D10-64FE42AA4572.jpeg

นอกจากนี้ สำนักงานเพื่อความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงหรือ Defense Security Cooperation Agency (DSCA) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้แจ้งต่อสภาคองเกรสว่ารัฐบาลสหรัฐได้อนุมัติการขาย ฮ.ลาดตระเวนติดอาวุธ AH-6i จำนวน 8 ลำ พร้อมอาวุธ อะไหล่ และการสนับสนุนอื่นๆ ให้กับ ทบ.ไทย 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.2 หมื่นล้านบาท

ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ได้ชี้แจงถึงโครงการจัดหา ฮ.ลาดตระเวณติดอาวุธ ของ ทบ. เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี2554 สมัย พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ได้กำหนดความต้องการขั้นต่ำไว้ 31 เครื่อง ซึ่งในปีนั้นได้รับอนุมัติให้จัดหาเข้ามาประจำการเป็นล๊อตแรกก่อน 8 เครื่อง 


กองทัพ เฮลิคอปเตอร์ 01-4B5D-83D8-1B9858968AA0.jpeg

สำหรับครั้งนี้ ถือเป็นล็อตที่ 2 ตามแผนรวมของการจัดหา ซึ่งได้ขออนุมัติจัดหาอีก 8 เครื่อง รวมระบบอาวุธ, เครื่องควบคุมการยิง, กล้องตรวจการณ์, ชิ้นส่วนควบคู่สำหรับซ่อมบำรุง , ชิ้นส่วนซ่อมสำหรับการส่งกำลัง (ASL) เป็นระยะเวลา 2 ปี, รวมถึงการก่อสร้างโรงเก็บอากาศยาน พร้อมด้วยเครื่องช่วยฝึก (Simulator) และ หลักสูตรการฝึกอบรม ในวงเงิน 4,226 ล้านบาท 

แต่ในแผนการจัดหาครั้งนี้ของ ทบ.ไทย ต้องการจัดหาใบแบบเฉพาะรายการตามความจำเป็น เพื่อทดแทน ฮ.Cobra ที่ประจำการมานานกว่า 30 ปี ซึ่งตัวเลข 1.2 หมื่นล้านที่สหรัฐฯรายงานนั้น เป็นลักษณะเปิดกรอบการจัดหาให้ไทยไว้แบบเต็มระบบโดยเฉพาะในเรื่องของระบบอาวุธ

มากันที่กองทัพเรือไทย ได้ลงนามต่อเรือยกพลขึ้นบก LPD Type 071E รวม 1 ลำ 6,100 ล้านบาท จากประเทศจีน โดยลงนามรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี ที่ได้ราคาถูกกว่าซื้อจากประเทศอื่น 2-3 เท่า ตามสเปกขนาดเรือที่มีระวางขับน้ำ 22,000 ตัน ขนาดเรือยาว 210 เมตร เสริมภารกิจบรรเทาสาธารณภัย ที่สำคัญเพื่อรองรับเรือดำน้ำ Yuan Class S26T ในฐานะ ‘เรือพี่เลี้ยง’ ที่จะเข้าประจำการพร้อมกันปี66


กองทัพ เรือ 6B-49D2-8BB5-BC7ACD4852FD.jpeg

ทั้งนี้ ทร. มีแผนจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 จากจีน ตามแผนของโครงการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ ในวงเงินรวม 36,000 ล้านบาท ที่รวมการสร้างโรงซ่อมบำรุง การฝึกอบรมต่างๆด้วย 

อย่างไรก็ตามช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ได้เดินทางไปจีน เพื่อทำพิธีวางกระดูกเรือดำน้ำ Yuan Class S26T ด้วย พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าต่างๆ จากนั้นได้ไปลงนามต่อเรือยกพลขึ้นบก LPD ‘071E’ ในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ พล.ร.อ.ลือชัย ได้มอบนโยบาย ทร.63 ถึงการจัดหายุทโธปกรณ์ ว่า กำลังรบต้องมีขีดความสามารถสมบูรณ์ในตัวเอง “Expeditionary Force” การจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องดำเนินการเช่นปีที่ผ่านมา ต้องมีความโปร่งใส เป็นที่พึงพอใจของประชาชน พร้อมถูกตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน และต้องไม่ทำให้น้องๆหรือลูกหลานต้องไปตายในภายหน้า และต้องก้าวตามหรือล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยี

ส่วน ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ปฏิบัติภารกิจเงียบๆใน บก.ทบ. ช่วงสัปดาหห์นี้ โดยอยู่ระหว่างจัดเตรียม บก.ทบ. ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม ที่จะมาตรวจเยี่ยม 9 ต.ค.นี้ พร้อมทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์กองทัพเฉลิมพระเกียรติ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ สั่งปรับปรุงสานเจตนารมย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยเป็น ผบ.ทบ. ด้วย


อภิรัชต์

เป็นที่น่าสนใจว่า พล.อ.อภิรัชต์ สานต่อโครงการจาก พล.อ.ประยุทธ์หลายโครงการจนสำเร็จ ด้วยสถานการณ์ภายในไทยและนอกประเทศที่เอื้ออำนวย แต่อีกนัยยะหนึ่งก็สะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แนบชิดและไว้วางใจมาโดยตลอด ที่ต่างเกื้อหนุนกันในการทำงานระหว่าง ‘กองทัพ’ และ ‘รัฐบาล’ ที่เป็นเอกภาพตั้งแต่ยุค คสช.

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์ ได้เลี่ยงตอบคำถามว่าจะเปิด ‘บทความเชิงวิทยานิพนธ์’เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมื่อใด แต่ระบุว่าใกล้เขียนเสร็จแล้ว หลังเคยเปรยก่อนหน้านี้ว่า หากเปิดออกมาจะมี ‘คนเดือดร้อนแน่’ แต่ช่วงต.ค.นี้ ตนจะเจาะลึกเรื่อง จ.ชายแดนภาคใต้ แทน เพราะเคยเป็นอดีต ผบ.ฉก.ยะลา มาก่อน ทั้งกินนอนและทำงานในพื้นที่มา 1 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูล ซึ่งตนจะนำบรรยายเองด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหว 3 ผบ.เหล่าทัพ ท่ามกลางสถานการณ์นอกรั้วทหารที่เข้มข้น แต่ไม่พ้นที่กองทัพต้องรับมือ ที่ถูกเพ่งเล็งในเวลานี้คืองบกระทรวงกลาโหมปี63 ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เกิดกระแสต่อต้านจากสังคม ที่กองทัพจะต้องชี้แจงให้ชัดเจน รวมทั้งรับมือฝ่ายค้านที่โจมตีในเรื่องนี้

สถานการณ์ ‘นิ่ง’ แต่ไม่ ‘เงียบ’ !!

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog