ไม่พบผลการค้นหา
ครม.ไฟเขียวแพ็กเกจ 'ไทยแลนด์พลัส' หักลดหย่อนภาษีนิติบุคคลร้อยละ 50 นาน 5 ปี สำหรับโครงการลงทุนจริงมูลค่าขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาท ถ้าลงทุนฝึกอบรมบุคลากรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง นำมาหักรายจ่ายได้อีก 2.5 เท่า นาน 2 ปี จ้างพนักงานใหม่ทักษะสูง ให้หักรายจ่ายได้อีก 1.5 เท่า หรือลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้หุ่นยนต์ ออโตเมชั่น หักรายจ่ายได้อีก 2 เท่า

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการ ไทยแลนด์ พลัส แพ็คเกจ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานรับผิดชอบ ประกอบ 7 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง ด้านสิทธิประโยชน์ โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563

สอง กระบวนการตัดสินใจ โดยให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน และประสานงานการลงทุน เป็นต้น 

สาม ด้านคน มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology) ไปหักค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่า หรือ 250 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2562-2563 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้รับรองก่อนใช้สิทธิ์ 

นอกจากนี้ ยังให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็น 2 เท่า ในกรณีของโครงการลงทุนใหม่และโครงการลงทุนเดิมที่ยังได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ ด้านมาตรการสนับสนุนการจ้างงานใหม่ที่เป็นบุคลากรทักษะสูง โดยให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายการจ้างงานใหม่ ที่เป็นบุคลากรทักษะสูงไปหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า หรือ 150 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2562-2563 เป็นต้น

สี่ Ease of Doing Business โดยเร่งปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงพิจารณานำเสนอแนวทางลดข้อจำกัดและแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการลงทุน ผ่านกลไกเหมาะสม ปรับปรุงระเบียบเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (Visa and Work Permit) รวมถึงอำนวยความสะดวกในการพำนักในประเทศไทย เป็นต้น 

ห้า ที่ดิน โดยจัดหาและพัฒนาพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ

หก ด้านตลาด ให้พิจารณาสรุปผลการศึกษา และดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูและการเข้าร่วม CPTPP เป็นต้น 

เจ็ด ด้านห่วงโซ่อุปทาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ เห็นควรให้กำหนดมาตรการคลังเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้ 2 เท่า หรือ 200 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2562-2563 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยภายใต้สถาบันไทย-เยอรมันเป็นผู้รับรองก่อนใช้สิทธิ์ 

นอกจากนี้ ยังมีด้านการตลาดเชิงรุกที่จะจัดทีมบูรณาการชักจูงโครงการย้ายฐานการลงทุน พร้อมจัดทำข้อมูลประกอบการชัดจูงเฉพาะราย รวมถึงประชาสัมพันธ์โดยเน้นพื้นที่เป้าหมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ทั้งนี้ ขอให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากกรอบงบประมาณปี 2563 โดยเป็นงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยประมาณ 50 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :