ไม่พบผลการค้นหา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกฎหมายให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับผู้บริจาคเพ่ือสนับสนุนการกีฬาและการศึกษาต่ออีก 1 ปี ครอบคลุมการบริจาคตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2562

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (11 มิ.ย.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา สำหรับผู้บริจาคหรือสนับสนุนการกีฬาให้แก่ การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า "แห่งประเทศไทย" หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา โดยขยายระยะเวลามาตรการเดิมตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559 ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ออกไปอีก 1 ปี เป็น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการกีฬาอย่างต่อเนื่อง 

บริจาคเพื่อการศึกษาได้สิทธิลดหย่อนต่ออีก 1 ปี

ขณะเดียวกัน ครม. ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญา หรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้   

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวคือ ขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการศึกษา โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 

เพื่อเป็นการปฏิรูประบบการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นการจูงใจให้ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา การวิจัยในสาขาวิชาต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ภายใต้หลักการและแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย ดังนี้ 

1.กำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ สามารถหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว และรายจ่ายในการจัดสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนหรือของราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการศึกษา 

2.การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินตามข้อ 1 จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ของกรมสรรพากร

3.ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษาข้างต้น โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล  

4. การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดทำประมาณการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวมีผลทำให้รัฐจัดเก็บภาษีลดลงตลอดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ประมาณ 8 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐในด้านการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ อาทิ ภาคเอกชนมีทางเลือกในการสนับสนุนด้านการศึกษามากขึ้น ทำให้มีแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา การวิจัยในสาขาต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา อันมีผลต่อความยั่งยืนทางการศึกษาของประชาชน ก่อให้เกิดการยกระดับสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญสู่ความเป็นเลิศ มีความเป็นสากล สามารถแข่งขันได้ในประชาคมโลก และนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :