ไม่พบผลการค้นหา
10 ข้อสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ของกลุ่ม 'ไทรักษา' ที่มีเนื้อหาตรงข้ามกับ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มราษฎรพร้อมกับเหตุผลที่หัวหน้ากลุ่มออกมาเคลื่อนไหว - ขณะที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องร้องปฏิรูปสถาบันตั้งแต่ พ.ย. 63-ต.ค. 64 ถูกดำเนินคดี ม. 112 อย่างน้อย 151 คน

นับตั้งแต่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ประกาศ 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กระทั่งข้อเรียกร้องนี้เป็น 1 ความฝันของขบวนราษฎรในการเคลื่อนไหวตลอด 1 ปีที่ผ่านมา 

ในปี 2564 กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอย่าง ‘ไทรักษา’ นำโดยกิตติศักดิ์ ยานาบัว ก็ประกาศ ‘10 ข้อสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ (Support of Monarchy)’ โต้กลับ นับเป็นครั้งแรกที่มีการตอบโต้กันระหว่างข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันและสนับสนุนการคงอยู่ของสถาบันในแบบเดิมในพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นทางการ 

รุ้ง ปนัสยา 31057945324907362_n.jpg
  • รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ปฏิรูปสถาบัน vs สนับสนุนสถาบัน

“เรามาประกาศข้อเรียกร้องสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ เพื่อต่อสู้กับการปฏิรูปสถาบัน ทั้ง 10 ข้อของกลุ่มราษฎร” กิตติศักดิ์ กล่าว 

13 ตุลาคม 2564 ในขณะที่ประชาชนรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 ในวันครบครอบ 5 ปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ที่บริเวณหน้าศาลฎีกา อีกด้านหนึ่ง กิตติศักดิ์ ยานาบัว หัวหน้ากลุ่มไทรักษา ก็เปิดเวทีประกาศล้มแนวคิดปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มราษฎร โดยเสนอ 10 ข้อสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ที่บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร

เนื้อหา 10 ข้อสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มไทรักษา ส่วนใหญ่มีเนื้อหาตรงข้ามกับ 10 ข้อปฏิรูปของกลุ่มธรรมศาสตร์จะไม่ทน และเพิ่มเติมในส่วนของการสนับสนุน ‘ราชสวัสดิการ’ ให้สถาบันทรงมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น 

101010.jpg
  • 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน และ 10 ข้อเสนอสนับสนุนสถาบันเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

หัวหน้ากลุ่มไทรักษากล่าวถึงเหตุผลที่ออกมาต่อสู้กับแนวคิดการปฏิรูปสถาบันว่า เป็นเพราะเขาไม่เชื่อว่า 10 ข้อปฏิรูปสถาบันนั้นจะทำให้สถาบันกษัตริย์ดีขึ้นได้จริง หากปฏิรูปสำเร็จจะทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเพียง สัญลักษณ์ ที่ไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลืออะไรประชาชนได้ จึงตัดสินใจประกาศ 10 ข้อสนับสนุนสถาบัน เพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบกับ 10 ข้อเสนอปฏิรูปของนักศึกษา

“ใจความหลักๆ ของการปฏิรูปคือให้พระมหากษัตริย์อยู่เฉยๆ เป็นสัญลักษณ์ ถามว่ามันจะเกิดประโยชน์อะไรกับคนยากจน เวลาที่เขาต้องการการช่วยเหลือ เวลาที่หน่วยราชการทำงานไม่ถึง ช้า สิ่งเหล่านั้นคุณมีคำตอบอะไรให้เขา เราถึงมี 10 ข้อของเราที่เอามาชน และให้ประชาชนเขาเลือกซ้ายหรือขวาแค่นั้นเอง 10 ข้อของเราแค่สวนและตรงข้ามกันหมด เพราะเรารู้ว่าของเขาไม่มีประโยชน์” กิตติศักดิ์ กล่าว

“วันนี้ทั้ง 10 ข้อนี้ ถ้าดำรงรักษาไว้และผลักดันให้สำเร็จในบางส่วน ประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น สถาบันพระมหากษัติย์จะอยู่เคียงข้างประชาชนได้อย่างชัดเจนแน่นแฟ้น ผูกพันด้วยความรัก และเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคงด้วยความรัก ประเทศเรา การงาน รถ บ้าน ทรัพย์สินต่างๆ จะไม่พังลงไป ทุกอย่างจะมั่นคงสถาพร เป็นอนาคตที่ดีต่อไปได้ เพียงแค่เราสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าเราปฏิรูปทำให้สถาบันอ่อนแอ ความอ่อนแอนั้นอาจเป็นรากฐานของการล้มล้างต่อไปในอนาคต อีก 20-30 ปีเราไม่รู้ หรือ 50 ปี ซึ่งสิ่งที่เดือดร้อนตามมาคือชีวิตทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้” กิตติศักดิ์ กล่าว

กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติและวิกฤตโรคระบาดร้ายแรง สถาบันกษัตริย์ทรงมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างมาก เช่น ทรงพระราชทานเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ช่วยเหลือประชาชนอยู่ตลอด ซึ่งต่างจากนักการเมืองที่เอาแต่หาผลประโยชน์ส่วนตัว 

“ประชาชนเขาอยากรู้ว่า ปฏิรูปแล้วงานที่ในหลวงทำมา คุณจะชดเชยเขายังไง เกษตรกรบนดอย เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ โครงการหลวง คุณจะดูแลเขาต่ออย่างไร ถ้าปฏิรูปแล้ว เด็กทุนหลวงจะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีทุนต่อไปไหม ประชาชนเขาอยากรู้ว่า คุณจะทำชีวิตของประชาชนให้ดียังไงถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์” กิตติศักดิ์ ตั้งคำถามต่อแนวคิดการปฏิรูปสถาบัน

กิตติศักดิ์ ยานาบัว ไทรักษา


ปกป้องสถาบันด้วยรูปแบบใหม่ๆ

กิตติศักดิ์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มไทรักษาว่า เป็นการเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันด้วยรูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มปกป้องสถาบันก่อนๆ ที่ไม่ค่อยมีเนื้อหาอะไรมาดึงดูดคนรุ่นใหม่นัก เพราะเป็นเพียงการชูป้ายและตะโกนแสดงความจงรักภักดีเฉยๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์สักเท่าไร กลุ่มของตนจึงตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ โดยหลังจากนี้จะเดินทางไปยื่น 10 ข้อดังกล่าวของกลุ่มต่อหน่วยงานต่างๆ ต่อไป 

“เพราะว่าเรารู้ว่าปัญหายังแก้ไม่ถูกจุด มันไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ว่าเขาอยากได้อะไรจากสถาบัน วันนี้เราเอาคำตอบไปให้เขาแล้วว่าสถาบันมีัประโยชน์อะไร ไม่ใช่แค่การร้องว่า รักในหลวงอย่างเดียว มันไม่พอแล้ว ชูป้ายปกป้องสถาบัน ปกป้องจากอะไรล่ะ ชูป้าย save112 save112 แล้วคำตอบคืออะไรล่ะ มันไม่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องทำแบบนี้ ค่อยๆ ขยับไปเรื่อยๆ” กิตติศักดิ์ กล่าว

“เราจะไปเคลื่อนไหวในอนาคตข้างหน้า บนถนนอาจจะมีการแห่รถ เราจะไปยื่นข้อเรียกร้องที่หน่วยความมั่นคง เราไปยื่นที่สภา ยื่นถึงท่านนายกฯ ยื่นถึง กอ.รมน. ยื่นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ประชาชนสนับสนุนสถาบันพระมหากษัติย์ และไม่เอาการปฏิรูปที่เป็นข้ออ้างล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” กิตติศักดิ์ กล่าว

“สถาบันวิพากษ์วิจารณ์ได้นะ มีคนที่วิพากษ์วิจารณ์แล้วไม่โดนจับก็มีออกสื่อเลย แต่เขาวิพากษ์​วิจารณ์โดยพื้นฐานความหวังดี จากเจตนาที่ดี สถาบันพระมหากษัตริย์จะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น อะไรเป็นบรรทัดฐาน ดีขึ้นในรูปแบบของคณะราษฎร ของ 3 นิ้ว ให้สถาบันอยู่เฉยๆ ทำอะไรไม่ได้เลย สมมติวันหนึ่งข้างหน้า มีโรคระบาดใหญ่ ปฏิรูปแล้วสถาบันทำอะไรไม่ได้ อยู่เฉยๆ ประชาชนตายทุกวันๆ ในหลวงมาช่วยอะไรไม่ได้เลย ดีหรือไม่ดี นี่คือคำตอบง่ายๆ” กิตติศักดิ์กล่าว 

ไม่กังวลคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกลุ่มราษฎรมากขึ้น 

“ถามว่าคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกลุ่มราษฎรมากขึ้นกังวลไหม ไม่กังวลนะ เพราะมีคนเกิดมาเป็นเจนเนอร์เรชั่นใหม่ๆ ตลอด ชุดนี้บางส่วนอาจจะเสียไปแล้ว และไม่ใช่เป้าหมายที่เราจะไปรบด้วย เราไปรบกับแกนนำดีกว่า มวลชนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นผู้ไม่สนใจการเมือง หรือไม่ได้มีความสนใจตั้งแต่ต้น ตรงนั้นคือเราไปบอกเขาว่าสถาบันมีความหมายอย่างไร” กิตติศักดิ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว

เมื่อถาว่า ทำไมจึงมีจุดยืนว่า แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1-2 ไม่ได้ เขาตอบว่า ตอนนี้สถาบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ถ้าไม่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญก็อยู่ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดรูปแบบรัฐ กำหนดหมวด 1-2 และการที่ไม่สามารถแก้หมวด 1-2 ได้ เพราะมันเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงของประเทศเกี่ยวโยงกับเราหมด

“ไม่มีสถาบัน ประเทศล่มสลายแตกแยก ภาคธุรกิจก็กระทบ ตรงนี้คือปัญหา เพราะฉะนั้นการไปแตะหมวด 1-2 เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะทำได้” กิตติศักดิ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว

ไทรักษาประกาศ 10 ข้อสนับสนุนกษัตริย์
  • กิตติศักดิ์ ยานาบัว หัวหน้ากลุ่มไทรักษา ปราศรัยบริเวณหน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อ 13 ต.ค. 64

จาก พ.ย. 63- ต.ค. 64 มีผู้ถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 151 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระแสการปฏิรูปและสนับสนุนสถาบันจะเริ่มถูกพูดถึงในที่สาธารณะมากขึ้น ทว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันก็มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยศูนย์ทนายฯ รายงานจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 24 พ.ย. 63 - 19 ต.ค 64 มีจำนวนทั้งสิ้น อย่างน้อย 151 คน ใน 156 คดี แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 77 คดี คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 10 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 5 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

โดยพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 34 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 37 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 72 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 13 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 12 ราย

ข้อมูลศูนย์ทนาย 112
  • ข้อมูลตั้งแต่ 24 พ.ย. 63 - 19 ต.ค 64


จากข้อเสนอ 7 ข้อ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ สู่ 10 ข้อปฏิรูปของเยาวชน

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในยุโรปได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงข้อเสนอ 7 ข้อที่เขาเคยเสนอมาก่อนในปี 2553 อีกครั้งหนึ่ง เนื้อหาดังกล่าวอาจเรียกได้ว่าเป็นต้นทางของ 10 ข้อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่ม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ โดย 7 ข้อเสนอดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพิ่มเติมมาตราในลักษณะเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาฯพิจารณาความผิดของกษัตริย์)

2. ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน (ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง)

4. ยกเลิก ส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่ขาดความจำเป็นให้ยกเลิก (องคมนตรี), หน่วยงานที่มีหน้าที่ (หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์, ฯลฯ) ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น

5. ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด

6. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความเห็นการทางการเมือง และ

7. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันฯทั้งหมด


สมศักดิ์ เจียม

กิตติ พันธภาค
Journalism is not a Crime.
12Article
11Video
0Blog