ไม่พบผลการค้นหา
‘บีทีเอส’ แจงข้อเท็จจริงขึ้นค่าโดยสาร 158 บาท ย้ำเดินรถต่อแม้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถส่วนต่อขยาย จากหนี้คงค้างของ กทม.กว่า 8,000 ล้านบาท

จากการกรณีที่มีการระบุว่า ‘บีทีเอส’ เตรียมขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดเส้นทาง เป็นจำนวน 158 บาท บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ขอชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อน และผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ปัจจุบัน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เป็นผู้บริหารและรับรายได้ค่าโดยสารจากระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ในส่วนเส้นทางเดิมของสัมปทานจาก กทม.ตามอายุสัญญา 30 ปี หรือ ตั้งแต่ ปี 2542 –2572 โดยเป็นความร่วมมือกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของกทม. สำหรับการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายจากเส้นทางเดิมของสัมปทาน คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) รวมถึงส่วนต่อขยายเพิ่มเติมของสายสุขุมวิท ช่วงแบริ่ง-เคหะฯ และช่วงหมอชิต-คูคต

2. การกำหนดราคาค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานเดิม ระยะทาง 23.5 กม. ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารปัจจุบันในอัตรา 16-44 บาท (ตามระยะทาง) ขณะที่ช่วงส่วนต่อขยายทั้งหมด (อ่อนนุช-สำโรง-เคหะฯ วงเวียนใหญ่-บางหว้า หมอชิต-วัดพระศรีฯ) กทม.เป็นผู้กำหนดค่าโดยสาร

3. ข้อเท็จจริงสำคัญที่ผ่านมา บีทีเอสในฐานะผู้ลงทุนขบวนรถ ส่วน กทม.ในฐานะผู้ลงทุนงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ได้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต จำนวน 59 สถานี รวมระยะทางถึง 68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด (ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ) โดยมีความคืบหน้าพร้อมเปิดเป็นทางการครบทั้ง 59 สถานี ในวันที่ 16 ธ.ค. 2563 นี้

4. ประเด็นค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากเส้นทางเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต ยังคงเป็นการกำหนดโดย กทม. โดยบีทีเอสอยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เท่านั้น และที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย รวมถึง กทม.มีเป้าหมายในการทำให้ค่าโดยสารมีอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้นจาก 15 บาท และรวมตลอดเส้นทางอยู่ในระดับไม่เกิน 65 บาท จากค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมสูงสุดถึง 158 บาท จนนำมาสู่การเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามเป้าหมายและแก้ไขปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของ กทม. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและกระทรวงมหาดไทยและอยู่ระหว่างขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

5. บีทีเอส ยืนยันในข้อเท็จจริงข้างต้น ว่าแม้จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถส่วนต่อขยายจากหนี้คงค้างของ กทม.กว่า 8,000 ล้านบาท ทางบริษัทฯ ให้คำมั่นสัญญาจะรับผิดชอบให้บริการการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงยืนยันหลักการในความร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้แผนการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมระยะทาง 68.25 กม. มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด จนกว่าจะมีความชัดเจนจาก ครม.