ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลยืนยันมาเลเซียจะช่วยให้ได้คุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าการพูดคุยไม่ควรมีกรอบจำกัด แต่อ้างว่าความต้องการกลุ่มเห็นต่างไม่ตรงกับของประชาชนในพื้นที่ทำให้รัฐต้องคุยกับประชาชนทุกกลุ่่มเอง ยอมรับว่ามีผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศได้ แต่ไม่ใช่เข้าร่วมใกล้ชิด

ในความพยายามที่เห็นได้ชัดว่าเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับเรื่องปัญหาความขัดแย้งสามจังหวัดภาคใต้ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลได้ไปร่วมการเสวนาในหัวข้อ “สันติสนทนา: เส้นทางเผชิญความุนแรงชายแดนใต้ 2534-2554” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยย้ำหลายครั้งว่าการพูดคุยเป็นวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ช่วยลดการเผชิญหน้า และทำให้รัฐบาลได้รับรู้ปัญหาที่ทำให้มีการใช้ความรุนแรง “การแก้ปัญหาด้วยอาวุธอย่างเดียวใช้ไม่ได้ มันต้องผสมผสาน” 


“ผมเป็นทหาร ผมให้เกียรติทหารคู่ต่อสู้ มันเป็นเรื่องที่ผมถูกสอนมา ผมเห็นคู่ต่อสู้เรา เขาไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน เขาก่ออาชญากรรมเกิดจากความเชื่อ วิธีการแก้ต้องไม่ใช่วิธีทางกฎหมายอย่างเดียว ต้องพูดคุย” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าว


พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล

ประเด็นสำคัญที่พูดกันในเวทีเสวนาหนนี้คือการพูดคุยนี้จะมีกรอบเพียงใด ที่ผ่านมามักระบุว่าเป็นการพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับว่าตัดประเด็นเรื่องการแยกตัวและอาจรวมถึงการปกครองตนเองออกไปจากการพูดคุยหรือเจรจา

ในชั้นแรกพล.อ.อุดมชัยบอกกับผู้ฟังว่า ตนวางไว้ว่าการพูดคุยต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และยังต้องพิจารณาอีกด้วยว่าจะให้ถึงระดับไหน นอกจากนั้นยังจะต้องพิจารณากรอบกฎหมายอื่นที่มีออกมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วย 

แต่ผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพของมหาวิทยาลัยพายัพ รศ.ดร. มาร์ค ตามไทแสดงความเห็นว่าการพูดคุยไม่ควรมีกรอบ “เพดานไม่มีความหมายเพราะว่าคนที่จะให้ได้คือประชาชน"

เขาระบุว่าควรจะต้องคุยกันได้ในทุกเรื่อง “วิธีปลดความทุกข์ใจของประชาชนคือต้องปลดล็อค พูดได้ทุกเรื่องทุกที่ เช่นเรื่องเอกราชก็ต้องตกลงกันว่าจะเอาไหม ต้องให้คนพูดสิ่งที่ทุกข์ใจออกมา ทันทีที่ห้าม ก็จะมีปัญหา ถ้าอยากรู้ก็ต้องให้เขาพูด ถ้าใช้วิธีที่สันติ เพดานต้องสูงคุยอะไรก็ได้ แต่ถ้าใช้ความรุนแรง เพดานจะเตี้ยเพราะผิดกฎหมาย” ซึ่งต่อมาพล.อ.อุดมชัยกล่าวในเชิงเห็นคล้อยตามว่า ตนก็เห็นด้วยว่าการพูดคุยไม่ควรจะมีเพดานหรืออีกนัยหนึ่งมีกรอบจำกัด พร้อมกับยกตัวอย่างว่าเคยคุยกับกลุ่มสมาชิกบีอาร์เอ็นถึงสามวันมาแล้วโดยคุยกันทุกเรื่อง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทั้งสองกล่าวถึงนั้นไม่ชัดเจนว่าหมายถึงการพูดคุยในระดับเป็นการต่อรองอย่างเป็นทางการหรือไม่ 

หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขระบุว่าที่ผ่านมาสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.วิเคราะห์ได้ถูกต้องว่า ความรุนแรงเป็นแค่ผิวหน้าของปัญหา แต่ก็จะต้องศึกษาว่าจะมีผลต่อการพูดคุยขนาดไหน พร้อมกันนั้นชี้ว่า สิ่งที่ สมช.ควรทำก็คือ กำหนดให้ชัดเจนว่าปัญหารากเหง้าของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขาใช้เรียกว่า “เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความเกลียดชังกันถึงระดับโครงสร้าง” นั้นคืออะไรกันแน่ ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลที่มาบริหารต่างเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้และสังคมสามารถต่อยอดความรู้เรื่องนี้ได้ 

แต่ทั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขและอดีตเลขาธิการสมช.นายสมเกียรติ บุญชูต่างยืนยันว่า ความต้องการของกลุ่มขบวนการหรือกลุ่มผู้ก่อเหตุนั้นยังไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนทั่วไปเสียทีเดียว “ทุกคนอ้างประชาชน ผมกับทหารก็อ้าง คนที่ต่อสู้ก็อ้าง แต่ประชาชนต้องการอะไรแน่” พล.อ.อุดมชัยกล่าว

ด้านนายสมเกียรติเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่เคยพาคนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ไปพบกับสมาชิกกลุ่มติดอาวุธที่อยู่นอกประเทศจึงได้ผลสรุปว่า “คนที่อยู่นอกประเทศเชื่อว่าตัวเองทำทุกอย่างในนามคนสามจังหวัด จริงๆ คนข้างในอยากได้ความเปลี่ยนแปลง แต่อาจไม่ตรงกับคนในขบวนการ เพราะฉะนั้นเรื่องที่พูดในนามคนสามจังหวัดมันไม่ตรงกับความต้องการของคนสามจังหวัด” พล.อ.อุดมชัยยืนยันว่า เรื่องนี้ทำให้ทีมงานของตนจะต้องพูดคุยกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพียงกลุ่มก่อเหตุ รวมทั้งจะต้องมีผู้ช่วยในการมองหาคำตอบให้ว่าความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ 

กับเรื่องนี้พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสถาบันพระปกเกล้าให้ความเห็นจากกลุ่มผู้ฟังว่า ที่ผ่านมาสถาบันได้สนับสนุนให้มีการทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่เรียกว่า Peace Survey ที่มีตั้งแต่ปี 2558 ก็พบว่าสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการกระจายอำนาจภายใต้กรอบและรูปแบบที่รัฐบาลดำเนินการอยู่เท่านั้น ไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดน

อย่างไรก็ตาม รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้อธิบายด้วยว่า ในการทำแบบสำรวจดังกล่าว มีประชาชนเกือบร้อยละ 50 ที่หลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถามในทำนองนี้ รวมทั้งเรื่องของอัตลักษณ์ ซึ่งทีมงานที่ทำการสำรวจวิเคราะห์กันว่าน่าจะเป็นเพราะบรรยากาศที่ไม่เปิดกว้างทำให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น “สันติสนทนาต้องมีบรรยากาศและคนต้องรู้สึกปลอดภัยมากพอ ไม่อย่างนั้นเราจะได้ยินเฉพาะสิ่งที่เราอยากได้ยิน” 

พล.อ.อุดมชัยระบุว่าตนไม่สามารถบอกได้ว่าการพูดคุยนี้จะต้องใช้เวลายาวนานขนาดไหน บอกได้แต่เพียงว่าจะทำให้เร็วที่สุด แม้ว่ามาเลเซียจะวางกรอบไว้สองปีก็ตาม ที่สำคัญในระหว่างการพูดคุยนี้พล.อ.อุดมชัยยืนยันว่าสิ่งหนึ่งที่ตนไม่อาจทำได้คือทำให้มีการหยุดยิงหรือยุติการใช่้ความรุนแรงทันที “ที่เป็นปัญหาคือเริ่มพูดคุยแล้วจะให้หยุดยิง ผมว่าอันนี้เราไม่ควรพูด เพราะเขาใช้ความรุนแรงมาเรียกร้อง ต้องฟังเขาว่าอะไรคือปัญหาที่ทำให้เขาใช้ความรุนแรง แต่ผมบอกได้ว่าจะดูทุกปัญหา คุยกับทุกกลุ่มและรวบรวม ใครคุยก่อนได้ก็จะคุย” เขาระบุว่าจะต้องคุยทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะ และว่า “ปกติการพูดคุยบนโต๊ะจะทำก็ต่อเมื่อคุยกันใต้โต๊ะแล้ว” นับว่าเป็นการวางแนวทางในการสื่อสารกับสาธารณะ หลังจากที่การพูดคุยที่เปิดเผยในอดีตทำให้ถูกวิจารณ์ว่านำไปสู่ความล้มเหลวเพราะต่างฝ่ายต่างต้องแสดงผลงานกับผู้สนับสนุนมากไป

พล.อ.อุดมชัยเห็นว่าในห้วงเวลาของการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการหรือใต้โต๊ะดังว่านั้นไม่ใช่เวลาที่จะให้มีตัวแทนจากต่างประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ แต่ทว่าก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการให้มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศเสียทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของทางกลุ่มผู้เห็นต่างที่ผ่านมา แต่ที่แล้วมานั้นไทยไม่ตอบสนองเพราะมองกันว่าการมีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศจะกลายเป็นการยกระดับความขัดแย้ง ทำให้ปัญหาขึ้นสู่เวทีระหว่างประเทศกลายเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กลุ่ม

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อุดมชัยเห็นว่า การมีบทบาทของตัวแทนต่างประเทศในกรณีนี้ไม่น่าจะเป็นการยกระดับสถานการณ์แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ก็ยังยืนยันว่าเรื่องนี้จะต้องศึกษาเพิ่มเติม “เราต้องคุยกันว่าการยกระดับคืออะไร ขนาดไหน”

สันติภาพสนทนา

ส่วนนายสมเกียรติเห็นว่า การที่กลุ่มผู้เห็นต่างให้มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศนั้นเป็นเพราะว่าไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมักมีการเปลี่ยนแปลง “หนึ่งจะใช้แนวทางนี้นานแค่ไหน มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่อยๆ สองนโยบายอย่าง แต่ปฏิบัติอีกอย่าง เมื่อไม่ไว้ใจก็ต้องไปหาคนอื่นมาช่วย” อดีตรองเลขาธิการสมช.สื่อสารไปยังกลุ่มขบวนการด้วยว่า พวกเขาจะต้องเข้าใจว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีปัญหาต้องสร้างเอกภาพ “ขบวนการเองก็ต้องเข้าใจว่า นอกจากฝ่ายตัวเองที่มีหลายกลุ่มแล้ว รัฐก็เช่นกัน ต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายเดียวกันเอง ขบวนการต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลา การพูดคุยเร่งรัดไม่ได้” 

กับคำถามว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น พล.อ.อุดมชัยยืนยันว่าจะมีการสานต่อการพูดคุยอย่างแน่นอน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดภาคใต้นั้นได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ซึ่งนายสมเกียรติ อดีตเลขาสมช.ก็ชี้ว่า เป็นจุดที่ทำให้ข้าราชการสามารถพูดเรื่องนี้และระดมกำลังทำงานได้ ถือเป็นย่างก้าวสำคัญของการยกระดับการจัดการปัญหาของรัฐบาล

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :