น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ก.ค.2563 มีมติเห็นชอบปรับปรุงรายละเอียดโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคท่องเที่ยว หรือ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยปรับเพิ่มมูลค่าคูปอง (e-Voucher) จาก 600 บาทต่อวัน เป็น 900 บาทต่อวัน สำหรับการท่องเที่ยวในวันธรรดา เพื่อสนับสนุนคนเดินทางท่องเที่ยววันธรรมดา ระหว่างวันจันทร์ – วันพฤหัสบดี อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับเพิ่มวงเงินในคูปองอาหารและท่องเที่ยวให้ แต่ยังอยู่ภายใต้วงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้เดิม 20,000 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ ครม.ยังเห็นชอบขยายวงเงินการใช้คูปองอาหาร-ท่องเที่ยว ให้ครอบคลุมร้านค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ในลักษณะการร่วมจ่าย (Co-pay) ในอัตราร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน โดยต้องเป็นร้านโอทอปที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และประสงค์เข้าร่วมโครงการโดยลงทะเบียนผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com
นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบขยายขอบเขตผู้ประกอบการที่พักที่สามารถเข้าร่วมโครงการ คือ 1.ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและโฮมสเตย์ที่ใบอนุญาตหมดอายุก่อนวันที่ 1 ม.ค.2563 และได้ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตแล้ว 2.ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและโฮมสเตย์ที่ใบอนุญาตหมดอายุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นมา 3.ผู้ประกอบธุรกิจที่พักอื่นนอกเหนือจาก 2 ข้อข้างต้นที่อยู่ในระบบฐานภาษีของกรมสรรพากร
ยอดจองห้องพักไม่ถึง 1 แสนคืน จากโควตา 5 ล้านคืน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการโดยตรงมายังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อยุติเหตุการณ์แบบนี้ จึงเตรียมหารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กับสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ว่ามีโรงแรมใดบ้างที่ปรับราคาห้องพักแพงผิดปกติเอาเปรียบผู้บริโภค และพบว่ามีรายใดขึ้นราคาห้องพักที่ขายผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันแบบผิดปกติอยู่ จะขึ้นแบล็คลิสต์ ถอดชื่อโรงแรมนั้นๆ ไม่ให้เข้าร่วมการขายทันที ตั้งแต่เฟส 1 รวมถึงเฟส 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น และต้องคืนเงินด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตรวจสอบที่มาของราคาห้องจากทั้งการจองโดยตรงกับโรงแรมและการจองผ่านบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA) ที่เข้าร่วมโครงการว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่ โดยจะเปิดช่องทางให้ประชาชนที่พบปัญหาร้องเรียนเข้ามาผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน และเบอร์สายตรงของ ททท. 1672 โดยขอเวลาตรวจสอบไม่เกิน 3 วัน
"หากผู้ประกอบการโรงแรมไม่ดำเนินตามเงื่อนไข จะถอนสิทธิออกจากโครงการทันที และต้องคืนเงินให้ประชาชนด้วย เนื่องจากนายพิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวฯ ย้ำว่าไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาส เพราะสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องการคืออยากให้กระตุ้นภาคท่องเที่ยวร่วมกัน" นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ยอดจองห้องพักเมื่อวันที่ 18-19 ก.ค.ที่ผ่านมาจะมีไม่ถึง 1 แสนคืน และยังมีสิทธิคงเหลือกว่า 4.9 ล้านคืน จากโควตา 5 ล้านคืน อาจสะท้อนว่า นักท่องเที่ยวไทยระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้ไม่สามารถหวังผลเฉพาะการใช้จ่ายได้อย่างเดียว ต้องเน้นกระตุ้นจำนวนวันพักค้างและเดินทางข้ามจังหวัดด้วย เพื่อให้อัตราเข้าพักทั่วประเทศสูงกว่าจุดวิกฤติหรือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 28 โดยล่าสุดมียอดผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ 4.1 ล้านคน ได้รับสิทธิแล้ว 3.9 ล้านคน อีก 2 แสนคนยังลงทะเบียนไม่สำเร็จ
นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอีก 2 สัปดาห์นับจากนี้หรือประมาณต้นเดือน ส.ค.2563 จะเปิดเฟส 2 ของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวไทยให้รีบจองห้องพักผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com หลังเปิดให้ประชาชนผู้ได้รับสิทธิเริ่มจองห้องพักเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า 2 วันแรกมียอดชำระเงินค่าห้องพักแล้ว 87,960 คืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :