นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า หลังจากติดตามข้อเท็จจริงที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ ของตนเองเพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ กับพี่น้องประชาชน แล้ว พบว่า กรณีดังกล่าวอาจมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา และอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงได้
นายเรืองไกร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ถ้าเป็น ก็มีบทบัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ดังนั้น กรณีที่นายกรัฐมนตรีเปิดเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ จึงอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าของสื่อมวลชนใด ๆ ตามมาได้
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า คำว่า สื่อมวลชน มีความหมายเช่นใดนั้น นายกรัฐมนตรีก็ต้องทราบดีมาก่อนแล้ว เห็นได้จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องร่าง พรบ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ที่มีความในมาตรา 3 ระบุว่า
“สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อกลางที่นำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใด ที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป
นายเรืองไกร เพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรียังทราบถึงข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญแล้วด้วย ทั้งนี้ตามความในหนังสือที่ นร 1503/ว(ร)157 ลงวันที่ 5 เม.ย. 2560 ข้อ 3.2.3 ลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี คือ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีรู้กฎหมายอยู่แล้ว แต่ยังเปิดเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ ของตนเองเพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ กับพี่น้องประชาชน ย่อมถือว่า การฝ่าฝืนข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้ว และเข้าข่ายที่จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว
ดังนั้น ในวันที่ 14 ม.ค. 2562 เวลา 11.00 น. ตนจะไปยื่นเรื่องให้ กกต. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :