ไม่พบผลการค้นหา
'ธวัชชัย ไทยเขียว' รองปลัด ก.ยุติธรรม - พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ ถอดบทเรียนคดีแพรวา การยอมรับผิด หันหน้าพูดคุยและแสดงออกอย่างจริงใจ คือ "สิ่งสำคัญ"

'คดีแพรวา' ที่สังคมเรียกกัน กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ภายหลังมีคู่กรณีออกมาระบายความผิดหวังที่ไม่ได้รับการเยียวยาทั้งทางจิตใจและตัวเงิน แม้ศาลแพ่งชั้นฎีกาจะมีคำพากษาสั่งให้จำเลยชดใช้ผู้เสียหายประมาณ 26 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์เมื่อ 9 ปีก่อน แต่จำเลยกลับไม่ติดต่อดำเนินการชดใช้แม้ล่วงเลยมาแล้วกว่า 2 เดือน ขณะที่กฎหมายกำหนดว่าต้องชดใช้ภายใน 30 วัน

ต่อไปนี้คือแนวทางตามกฎหมายและบทเรียนของสังคม


สืบทรัพย์ยื่นกรมบังคับคดี

ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ผู้เสียหายหรือโจทก์มีหน้าที่ไปยื่นคำฟ้องที่ศาลแพ่ง เพื่อขอหมายบังคับคดี ซึ่งผู้เสียหายมีอำนาจที่จะเข้าไปสืบทรัพย์ของจำเลยทุกรายได้ว่ามีทรัพย์สินเท่าไหร่ ถือเป็นหน้าที่ของผู้เสียหายต้องดำเนินการสืบทรัพย์เอง โดยมีทนายความรับหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ หากเป็นการฟ้องกลุ่มสามารถให้คนใดคนหนึ่งไปดำเนินการได้และคนอื่นเข้าชื่อร่วมกันในภายหลัง

เมื่อผู้เสียหายสืบทราบรายการทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว ให้ไปยื่นต่อกรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการอายัด ซึ่งจะมีผลให้จำเลยไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการนำทรัพย์ขายทอดตลาด

"ถ้าหากผู้เสียหายรายใดไม่มีความพร้อมไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ เนื่องจากด้อยโอกาส เป็นคนยากจน ไม่มีงานทำ ก็สามารถติดต่อศูนย์บริการร่วม ชั้น 2 กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ซึ่งจะออกค่าทนายความและเงินวางศาลให้ทั้งหมดตั้งแต่ชั้นการสืบทรัพย์จนกระทั่งยื่นฟ้องจำเลยล้มละลาย"

ทั้งนี้ ศาลได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ต้องชดใช้ค่าเสียหายนอกจากคนที่นำรถไปขับแล้ว เจ้าของรถ พ่อและแม่ของผู้ขับ ก็ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด ซึ่งมีผลบังคับคดีเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่คำพิพากษาถึงที่สุด

สรุปกันอีกที พูดง่ายๆ จำเลยต้องชดใช้เงินภายใน 30 วัน หากเลยเวลาแล้ว ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องขอให้ศาลขอหมายบังคับคดี เพื่อจะได้มีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์ จากนั้นจึงนำเรื่องดังกล่าวไปยื่นต่อกรมบังคับคดี เพื่ออายัดทรัพย์สินต่างๆ ที่พบ เข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ หรือนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด

ธวัชชัย ไทยเขียว.jpg

ผลกระทบจากล้มละลาย

หากสืบทรัพย์ของจำเลยเพียงพอที่ศาลสั่งให้ชดใช้ก็เป็นอันจบสิ้น แต่หากจำนวนทรัพย์ไม่เพียงพอก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการยื่นฟ้องล้มละลาย โดยกระบวนนี้ผู้เสียหายต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง

โฆษกกระทรวงยุติธรรม เผยว่า กระบวนการล้มละลายมีระยะเวลา 3 ปี มีผลกระทบ เช่น ไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ ได้เลยในช่วง 3 ปี และไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้โดยจะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าหน้าที่บังคับคดี หากได้รับอนุญาตต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินคดีด้วย พูดง่ายๆ ว่าถูกตัดออกจากธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น

นอกจากนี้ ถ้าจำเลยไม่มาพบเจ้าหน้าที่หรือไม่รายงานทรัพย์สิน รายได้ หรือระหว่างนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่บังคับคดีกำหนดไว้ก็มีผลให้การปลดออกจากบุคคลล้มละลายขยายระยะเวลาออกไปอีก 5-10 ปี

ส่วนจะมีการยักยอกถ่ายเททรัพย์สินนั้นสามารถสืบค้นกระบวนการทำธุรกรรมย้อนหลังได้หมด ถ้าเป็นการทำที่ไม่สุจริตโดยพบว่ามีผู้อื่นเข้ามาผู้เกี่ยวข้องสามารถเอาผิดตามกฏหมายได้เพราะถือว่าเป็นกระบวนการปกปิดทรัพย์สิน

เงิน.jpg


อย่าลืมเรื่องดอกเบี้ย

พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า ปัญหาอมตะนิรันดร์กาลคือ การสัมฤทธิ์ผลจากการบังคับคดี ซึ่งหนึ่งในนั้นเรียกว่ากัน 'ดื้อแพ่ง' ขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตาม ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย หรือจงใจประวิงเวลา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเลยและสังคมควรตระหนักคือ ‘ดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้นมหาศาล

"แม้ศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินต่อราย รายละ 1 ล้านบาท แต่อย่าลืมว่า คดีละเมิดกฎหมายแพ่งเขาให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ 27 ธ.ค. 2553 สิ่งที่น่ากลัวคือมีดอกเบี้ยเดินทุกวัน และทบต้นทุกคืน ผ่านไป 9 ปี ป่านนี้เงินรายละ 1 ล้านบาทก็คงไม่ใช่เสียแล้ว

"ยิ่งจ่ายช้าก็ยิ่งหนัก ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากแบงค์หรือการลงทุนหลายๆ แบบ ถ้าจำเลยเข้าใจแบบนี้การแสดงความรับผิดชอบด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ ถือเป็นการช่วยเหลืออีกฝ่ายและยังช่วยเหลือตัวเองด้วย" พ.ต.สมบัติกล่าว


คุยกันอย่างจริงใจ

บทเรียนที่สังคมควรเรียนรู้ก็คือ การหันหน้าเจรจาแสดงความรับผิดชอบและยอมรับผิดอย่างจริงใจ คือทางออกที่ควรจะเป็น

พ.ต.สมบัติ บอกว่า สังคมไทยมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจและขี้สงสารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผู้กระทำความผิดจึงควรแสดงท่าทียอมรับและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงและจริงใจ ซึ่งนับเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ความรู้สึกและบทลงโทษทางกฎหมายอย่างมาก เนื่องจากการพิจารณาของศาลมีการนำประเด็นเหล่านี้เข้าไปพิจารณาด้วย

"เราเห็นแล้วว่า การขาดการสื่อสารและแสดงความรับผิดชอบนั้นมีผลอย่างไร" เขากล่าว

ธวัชชัย บอกว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุ แต่เมื่อเกิดแล้ว ความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ ทางที่ดีที่สุดคือหันหน้าหารือ เนื่องจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายระหว่างผู้สูญเสียและผู้ชดใช้นั้นแตกต่างกัน

"เวลาของคนรอคือฝ่ายโจทก์และคนจำเลยนั้นไม่เท่ากันในแง่ของความรู้สึก ถ้าไม่คุยกัน ไม่ยอมรับผิด ไม่เจรจากันอย่างจริงใจ มันเดินต่อไปไม่ได้"

โฆษกกระทรวงยุติธรรม ทิ้งท้ายให้สังคมได้รับทราบว่า สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยตนเอง อยากให้ระลึกเสมอว่ายังมีกองทุนคอยช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ ทั้งคดีทางแพ่งและอาญา เพื่อให้คนจนที่ด้อยโอกาสสามารถต่อสู้กับคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นทางการศึกษาหรือเงินทุน ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและแก้ปัญหาได้หลาย���้าน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog