กลุ่ม CARE จัดเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ที่ ลิโด คอนเนคต์ สยามสแควร์ โดยมี 14 บุคคล จากหลายภาคส่วนร่วมอภิปรายและแสดงวิสัยทัศน์ ถึงการสร้างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่วมกันหาทางออกจากมหาวิกฤต ภายใต้คำขวัญ #รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย และ #ให้มันเกิดที่รุ่นเรา
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยและสหรัฐอเมริกา ระบุว่า รัฐธรรมนูญต้องมีความชอบธรรม โดยต้องมาจากฉันทามติหรือความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม และรัฐธรรมนูญที่อยากได้คือ ที่บังคับคนมีอำนาจได้ การฉีกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหารต้องถูกลงโทษ ซึ่งตลอด 70-80 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีผู้ก่อรัฐประหารในไทยถูกลงโทษเลย
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้ถึงการที่ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ จงใจเขียนกฎหมายให้ยืดยาวและอ่านไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ควรเขียนให้สั้น กระชับ เป็นภาษามนุษย์ธรรมดาให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญในฝันของตน พร้อมยกตัวอย่างว่า หากคนเข้าใจรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่อง 'สิทธิเสรีภาพ' จะทำให้ผู้คนตระหนักได้ ผู้มีอำนาจจะมาตีกินอย่างที่ผ่านมาไม่ได้อีกแล้ว
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า ความต้องการแก้รัฐธรรมนูญห้วงนี้ ไม่ใช่แค่แก้ไขบางมาตรา แต่ต้องการหลุดออกจากระบอบ คสช.ทาง iLaw จึงเสนอ รื้อระบบ คสช.เพื่อสร้างหนทางสู่ประชาธิปไตยและเปิดโอกาสร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นของประชาชนนำสู่การเข้าชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ โดยเสนอ "5 ยกเลิก 5 แก้ไข" ที่สำคัญคือ ยกเลิกช่องทางนายกรัฐมนตรีคนนอก, ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศของ คสช., แก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง, เซตซีโร่องค์กรอิสระแล้วสรรหาใหม่ตามระบบรัฐธรรมนูญปี 2540, รวมถึงให้ ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในวิกฤติการเมืองปัจจุบัน มีวิกฤตกฎหมายกับวิกฤตนักกฎหมายปนอยู่ด้วยแน่นอน และเผด็จการมองกฎหมายเป็นแค่เครื่องมือการปกครองเท่านั้น "กฎหมายคืออะไรก็ได้ที่ผู้มีอำนาจสั่ง" เห็นการใช้เพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง สร้างความชอบธรรมให้อำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะรัฐประหารครั้งล่าสุด ที่มีการอ้างใช้กฎหมายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีมาตรฐาน
ดังนั้นจึงเสนอว่า รัฐธรรมนูญใหม่ ควรลดการนำเรื่องการเมืองไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างเรื่องคุณสมบัติ ส.ส.ที่ไม่ต้องเป็นคดีอาญาด้วย หรือเรื่องเชิิงจริยธรรมนักการเมือง ควรให้เป็นเรื่องของรัฐสภา พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ใช้กฎหมายต้องพิจารณาว่าการทำอย่างที่ผ่านมาไปต่อไม่ได้ จึงควรทำกฎหมายให้เป็นกฎหมายได้แล้ว
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤติในสังคมทุกด้าน เกี่ยวข้องเชื่องโยงกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดโครงสร้างและการเข้าสู่อำนาจรัฐ พร้อมยืนยันว่า ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนยุบสภา เพราะมีเเนวโน้มสูงที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิมหรือคนใหม่ที่ถูกจัดตั้งมาครองอำนาจแทน พร้อมเสนอการแก้ไขโดยไม่จำเป็นต้องผ่านประชามติในขยักแรก ก่อนจะเลือกตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือแนวทางอื่นๆ คือ แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.และให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกได้เท่านั้น ซึ่งตัดอำนาจ ส.ว.ออกไป และแก้ไขให้ระบบเลือกตั้งเป็นแบบ "บัตร 2 ใบ" ได้เลย โดยไม่ต้องทำประชามติเช่นกัน และเชื่อว่าสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ใน 2 เดือน
ส่วนรัฐธรรมนูญในฝัน ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 อย่างคือ
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องกำหนดว่า อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน, ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างจริงจัง รวมถึงต้องตรวจสอบอำนาจรัฐได้ นอกจากนี้ต้องให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาชน ให้ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ อีกทั้งต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและตรวจสอบได้โดยประชาชนและมีอำนาจเหนือกองทัพ ไม่ใช่ให้กองทัพเป็นอิสระจากรัฐบาลและรัฐสภาอย่างที่เป็นอยู่
รัฐธรรมนูญต้องถูกร่างโดยประชาชนและต้องแก้ไขได้เมื่อประชาชนต้องการ ท่ามกลางสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนการจะเขียนเพื่อป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญนั้น จะไม่เป็นผลเพราะคณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี แต่เป็นเพราะต้องการยึดอำนาจรัฐ แต่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตจึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ จะทํายังไงให้เขาคงไม่ยอมให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะผู้นำกองทัพและไม่ให้ระบบยุติธรรมหรือศาลทั้งหลายรับรองการรัฐประหารฉีกรับธรรมนูญ
ประเทศไทยจะผ่านวิกฤตไปได้ ต้องเปลี่ยนทั้งรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอการแก้ไขสู่การยกสร้างใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญในฝันของประชาชนคือ เริ่มจากแก้ไขโดยตัดอำนาจ ส.ว.ออกไปแล้ว ค่อยยุบสภาจัดเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลใหม่ จากนั้นให้ลงประชามติเพื่อให้มี ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จแล้วลงประชามติอีกครั้ง ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องส่งเสริมการเคลื่อนไหวของเยาวชน นักศึกษา ประชาชน จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญใหม่
วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรและนักจัดรายการ กล่าวว่า สนับสนุนให้เขียนรัฐธรรมให้สั้นและเข้าใจได้ง่าย และหวังให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย ไม่โดนฉีกอีก เนื้อหาต้องกำหนดให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน และให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจการปกครอง นอกจากนี้ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการต้องยึดโยงหรือมาจากประชาชน
จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อยู่ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ และการคุกคามผู้เห็นต่างเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยอย่างประเทศไทย ที่ผู้อำนาจรัฐสร้างความหวาดกลัวให้คนในรัฐ ไม่ได้โอบอุ้มหรือเห็นว่านักเคลื่อนไหวและผู้เห็นต่างเป็นพลเมืองในรัฐ เหมือนผู้มีอำนาจมองคนไม่เท่ากัน และปัจจุบันคนไทยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนให้มีสิ่งเหนือกว่ารัฐธรรมนูญไว้ด้วย โดยรัฐธรรมนูญในฝันของตน เห็นว่า ต้องยึด "หลัก 6 ประการ" ของคณะราษฎรเป็นพื้นฐาน ซึ่งต้องสร้าง "RULE Of game " ก่อน
จุฑาทิพย์ ยืนยันว่า ขบวนการเยาวชนนักศึกษาที่ผลักดันเรื่องนี้ ต้องการทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย โดยจะผลักดันให้ก้าวหน้ากว่าปี 2540 โดยต้อง ยึดหยุ่น แต่ล้มยาก สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ ที่สำคัญต้องพูดถึงคนทุกชนชั้นทุกสถานะได้เช่นกัน เพราะใครก็ตามที่อยู่ในประเทศนี้ ต้องอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน
พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริษัท ฟิลเทคเอ็นเตอร์ไพรส์ 1994 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในไทยไม่ง่าย เนื่องจากมีอุปสรรคจากกฎหมายที่ซ้ำซ้อนมากมาย ทั้งเอื้อประโยชน์แก่ผู้ค้ารายใหญ่ให้ได้เปรียบผู้ค้ารายเล็ก โดยเฉพาะในแง่การผูกขาด ซึ่งเป็น 2 เรื่องหลักที่ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรายเล็กต้องเผชิญ ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถือเป็นตัวแทนผู้ประกอบการรายเล็ก จึงหวังให้รัฐธรรมนูญช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อยากให้การออกแบบรัฐธรรมนูญคำนึงถึงผู้ค้ารายย่อย และให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการร่างด้วย
ธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญกับคนรัก ว่า ทุกคนล้วนปรารถนาการเป็นคู่รักที่ "อบอุ่น ปลอดภัย และไม่ทอดทิ้งกัน" โดยต้องไม่ร่างรัฐธรรมนูญจากพื้นฐานความเกลียดชัง แต่ต้องร่างจากความรัก และรัฐธรรมนูญในฝันของตน ประกอบด้วย 3 หลักการสำคัญ คือ 1. หลักการว่าด้วยประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด, 2. หลักการว่าด้วย ความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม มีพื้นที่ยืนสำหรับคนทุกกลุ่ม 3. หลักการว่าด้วย สิทธิเสรีภาพ ที่ต้องกว้างขวางและมีหลักประกันที่ชัดเจนด้วย
ลักขณา ปันวิชัย พิธีกรและผู้ประกาศข่าว กล่าวสรุปเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ว่า จะสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของประชาชนไม่ได้ ถ้าไม่ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยปี 2560 ก่อน พร้อมเรียกร้องบทสนทนาเกี่ยวกับการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อยู่ในกระแสสังคม จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ฉบับถาวรที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องมีคำประกาศอิสรภาพหรือเอกราชบัญญัติไว้ด้วย เพื่อให้คนตระหนักถึงขั้นตอนการประกาศอิสรภาพของประชาชน ซึ่งยังไม่สมบูรณ์นับแต่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 จึงต้องเอาความเป็นทาสออกจากรูปการจิตสำนึกของคนไทยด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: