สำนักข่าว BBC รายงานอ้างอิงหนังสือพิมพ์ The Sunday Times ซึ่งระบุว่าระหว่างการพบกันในช่วงปี 2554 - 2558 ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษและ ชีค ฮาหมัด บิน ยัสซิม อดีตนายกรัฐมนตรีของกาตาร์ เจ้าฟ้าชายชาร์ลสทรงรับมอบการถวายเงิดสดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3 ล้านปอนด์ หรือราว 130.5 ล้านบาท
รายงานที่หลายสื่อมองว่าคือการ 'แฉ' ของ The Sunday Times ระบุว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลสเป็นผู้รับมอบเงินสดทั้ง 3 ครั้งด้วยพระองค์เองในช่วง 4 ปี มีหนึ่งครั้งที่เงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ถูกบรรจุมาในกระเป๋าใบใหญ่ และการส่งมอบเกิดขึ้นระหว่างการพบกันที่พระตำหนักแคลเรนซ์ใจกลางกรุงลอนดอน และนอกจากนั้นก็ยังมีการรับมอบเงินสดที่ถูกบรรจุมาในกระเป๋าขนย้ายที่ห้างหรู Fortnum & Mason อีกด้วย
พระตำหนักแคลเรนซ์ชี้ว่าหลังจากที่มีการรับเงินสดเกิดขึ้น เงินทั้งหมดก็ถูกส่งต่อไปยัง 'หนึ่งในมูลนิธิเพื่อการกุศล' ในพระอุปถัมป์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทันที และมีการปฏิบัติตามขั้นตอนของการรับเงินบริจาคอย่างเคร่งครัด โดย BBC ชี้ว่า ไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินหรือธุรกรรมที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีข้อมูลชี้ชัดถึงการกระทำผิดใดๆ หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับอดีตผู้นำกาตาร์ทางใดทางหนึ่งหรือไม่ แต่การเผยข้อมูลนี้ออกมาสร้างคำถามขึ้นในสังคมถึงเรื่องความเหมาะสมในการรับเงินบริจาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกรณีอื้อฉาวเรื่องข้อกล่าวหาการรับเงินบริจาคเพื่อแลกกับการมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้มหาเศรษฐีชาวซาอุดีอาราเบีย
สำนักข่าว BBC รายงานในวันที่ 19 ก.พ.2565 ว่า สำนักงานตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนได้เดินหน้าสอบสวนมูลนิธิเดอะปรินซ์ หรือ The Prince’s Foundation ภายใต้การเป็นองค์ประธานของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
การตัดสินใจเดินหน้าสอบสวนคดีดังกล่าวโดยสำนักงานตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนมีขึ้นหลังมีการพบหลักฐานชิ้นสำคัญที่เป็นจดหมายเมื่อเดือน ก.ย.2564 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาที่สื่อนำเสนอว่าคนใกล้ชิดของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ที่ชื่อ 'ไมเคิล ฟอว์เซตต์' เสนอความช่วยเหลือให้กับมหาเศรษฐีชาวซาอุดีฯ ในการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์โดยแลกกับการบริจาคเงินให้มูลนิธิฯ
หลังจากนั้นในเดือน พ.ย.2564 ไมเคิล ฟอว์เซตต์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิฯ ได้ตัดสินใจยื่นในลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีฉาวที่เกิดขึ้น โดยมีการยืนยันมาโดยตลอดว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ทรงทราบถึงการดำเนินงานของมูลนิธิในแต่ละวัน และทรงมีหน้าที่เป็นเพียงประธานของมูลนิธิเท่านั้น