ไม่พบผลการค้นหา
ทนายความของ 'พิชัย นริพทะพันธุ์' เผยคดีความวิจารณ​์เศรษฐกิจสมัยรัฐบาล คสช. ปี 2557 ทั้ง 3 คดีถูกยุติแล้ว ชี้การวิจารณ์เป็นไปเพื่อประโยชน์ประเทศ เพราะพิชัย เป็นอดีตรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ย้ำคดีทั้งหมดเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

วันนี้ 6 กุมภาพันธ์ 2564 นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาความผิดเกี่ยวกับ 'วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจการเมือง ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสมัย คสช. ปี 2557'

รวมแล้ว 3 คดี คือ บก.ปอท. 2 คดี ได้แก่ 1.การวิจารณ์เรื่อง การดูด ส.ส. และ ภาพปกนิตยสารไทม์ 2. การวิจารณ์เศรษฐกิจ ตามทฤษฎี กบต้ม และสถานีตำรวจนครบาลดุสิต 1 คดี กรณีการให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง ในปี 2558

พิชัย คดีต้มกบ 1

นรินท์พงศ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี และยุติการดำเนินคดีในส่วน บก.ปอท.ดังกล่าวแล้ว ส่วนกรณี สน.ดุสิต คดีก็ยุติโดยผลของกฎหมายจากการมีคำสั่ง คสช.ที่ 22/2561 (ปลดล็อคทางการเมือง) ไปแล้ว

เขากล่าวอีกว่า ข้อสังเกตทางคดีคือกรณีที่ พิชัยแสดงความเห็นทางเศรษฐกิจการเมืองโดยสุจริต เพื่อเตือนรัฐบาล ทำไปในในฐานะพิชัยเป็นอดีตรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ที่มีความเป็นห่วงใยเศรษฐกิจของประเทศ จากการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลวและเป็นอันตราย จนเกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน ซึ่งปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจก็ปรากฏชัดตามที่พิชัย ได้วิพากษ์จารณ์ไว้ในเรื่อง ทฤษฎี กบต้ม

"การแสดงความเห็นต่างกับรัฐบาล ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนและประเทศ กลับทำให้พิชัย ถูกแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีมูลเหตุเพียงพอที่จะรับดำเนินคดีได้เลย ซึ่งพิชัยและคณะทนายความต้องใช้สิทธิต่อสู้คดีตั้งแต่ปี 2560 เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี โดยนับแต่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นพนักงานสอบสวน ก็มีการให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา รวมทั้งขอให้สอบพยานเพิ่มเติมอีกหลายปาก โดยมี ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ทฤษฎี กบต้ม กับพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ด้วย" นรินท์พงศ์กล่าว

นรินท์พงศ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันที่มีการยุติการดำเนินคดีทั้งหมดนั้น ชี้ให้เห็นว่า พิชัย มิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อใช้กฎหมายปิดปากผู้ที่แสดงความเห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่ความเห็นดังกล่าวเป็นความจริงและถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์ทุกประการ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

"จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ในการใช้อำนาจรัฐทางกฎหมาย เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างและสร้างภาระในการต่อสู้คดีกับประชาชน ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกทางความคิด แม้เป็นความคิดเห็นต่าง อันจะเป็นการนำไปสู่การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นโดยสมบูรณ์ ภายใต้การรับรองของรัฐธรรมนูญ" นรินท์พงศ์กล่าว