โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เริ่มส่งเสียงฮึ่มกำชับ ส.ส. เร่งรัดประชุม 3 วัน ต่อสัปดาห์ หวังผ่านกฎหมายชดเชยหยุดยาวช่วงปลายปียิ่งสุ่มเสี่ยง "สภาล่ม" ได้ทุกนัด แม้เปิดศักราชมาประธานสภาฯ จะมีคำสั่งด่วนให้งดการประชุมสภาฯ ในวันที่ 5-6 ม.ค. 2565 เพื่อให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังต้องติดตามกันในวันที่ 7 ม.ค. 2565 อีกครั้งว่าจะกำหนดแนวทางการประชุมสภาฯ อย่างไรต่อไป
ขณะที่ นิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล ใหม่ถอดด้ามยังมีเรื่องต้องกุมขมับ ทั้งเชิงตัวบทข้อบังคับ เรื่อยจนถึงลีลาการเมือง ยังไม่ได้ใจ "20 พรรคร่วม" บรรดา ส.ส. ว่ากันตามตรงยังห่างชั้น วิรัช รัตนเศรษฐ อดีตประธานวิปรัฐบาลคนเก่าอยู่หลายช่วง
แต่ "นิโรธ" ได้รับมอบงานใหญ่ เพราะ "ซื่อสัตย์-ชัดเจน" กับนายกฯ
แม้นัดแรกรับงานใหม่โชว์ฟอร์มผ่านฉลุย ส.ส.พรรคร่วมตบเท้าร่วมประชุมกันพร้อมเพรียง แต่เบื้องหลังแย้มว่า บรรยากาศประชุมวิปรัฐบาลทุกวันอังคารยังคงมีคำถาม เพราะประธานวิปรัฐบาล อาศัยสัมพันธ์ส่วนตัวพึ่งมันสมอง 2 รองประธานวิปเบอร์เก๋า จากพรรคร่วม "ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา" ทำหน้าที่ "เดอะแบก" คอยงัดข้อบังคับ "ชี้แจง-แก้ต่าง" ตอบข้อซักถามตัวแทน "พรรคจิ๋วปัดเศษ" ที่ขึ้นตรงกับ "เส้นเลือดใหญ่" ของรัฐบาลคอย "หยั่งเชิง-ลองของ" เป็นระยะ สภาล่ม 2 วันซ้อนพิสูจน์ชัด
ไม่นับการเมืองนอกพลังประชารัฐ ทั้ง "ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย" ก็พร้อมใช้จุดอ่อน "สภาล่ม" งัดข้อต่อรองเมื่อสบโอกาส สภาพสภาผู้แทนราษฎรจึงดูเหมือนทะเลคลี่นลมสงบ ทว่าคลื่นใต้น้ำ จากปัญหาระบบเลือกตั้งเบี้ยหัวแตก "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" พร้อมก่อตัวโถมใส่รัฐบาล ถึงจะเงินถุงเงินถังพร้อมยกมือโหวตสนับสนุนให้รายครั้ง ก็ต้องอย่าลืม "ศึกนอก-ศึกใน" รัฐบาลยังแรงต่อเนื่อง
ด้าน "ฝ่ายค้าน" ยังคงชูธงประชาธิปไตย เดินหน้าใช้กลไกสภาฯ ตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง แม้ไม่หวือหวา แต่ก็ยังทำแต้มได้ต่อเนื่อง "ทัพหลวงเพื่อไทย" พร้อมรัวหมัดใส่ปมเวทีโลกหลังไทยโดนยี้จากโลกเสรี ด้วยข้อหาเผด็จการอำนาจนิยม
ส่วน "ทัพน้อยก้าวไกล" ก็ใช่ย่อยตามมาตรฐานความแหลมคม ใช้ กมธ. ไล่บี้เกมดุนอกสภาจากรัฐบาลที่พลิกลิ้นสลายม็อบจะนะไม่ปี่ไม่มีขลุ่ย ควบคู่เสนอกฎหมายปกป้องสิทธิมนุษยชนเปิดประจานหวังสร้างความตื่นตัวเยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งยังต้องลุ้นว่าจะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หรือไม่ด้วย
แน่นอนเปิดศักราช 2565 พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะเดินหน้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตร 152 เพื่อใช้เวทีรัฐสภา ดึง 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ามาตอบข้อซักถามในสภาฯฯ
อีกเกมที่จะต้องจับตาต่อไป คือ ฝ่ายค้านยังจะใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกครั้งในการประชุมรัฐสภา สมัยประชุมครั้งถัดไปด้วย
ส่วน สภาสูงวัย ส.ว. แม้จะมุ่งรับใช้รัฐบาลอย่างแข็งขัน อ้างปฏิรูปไล่จี้ส่วนราชการเต็มกำลังแต่ 3 ปียังก็ยังคงไร้ผลงานที่เป็นรูปธรรม สภาพแค่เป็นลูกหาบช่วยเติมองค์ประชุมรัฐสภาก็ดูไร้ความหมาย กฎหมายปฏิรูปหลายฉบับค้างเติ่ง องค์ประชุมล่มไม่เป็นท่า มีผลงานเพียงคอยเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลเมื่อเจอศึกที่ต้องปะทะกับฝ่ายค้านในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา อำนาจ ส.ว.จึงยังจำเป็นในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะ ส.ว. 250 เสียง จะต้องมีส่วนร่วมในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังไม่ตัดสินใช้อำนาจยุบสภาฯ
ทว่าความเชื่อมั่นที่หดหายในสายตาประชาชนจะส่งผลต่อวิกฤตศรัทธามากขึ้นทุกขณะ
แน่นอนในปี 2565 รัฐสภาจะยังเป็นแนวรบสำคัญของการเมืองไทยที่ทุกฝ่ายจะต้องชิงความได้เปรียบ
ที่จะต้องจับตา คือการเคลื่อนไหวเขย่ารัฐบาลประยุทธ์ จะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2565 จาก "ศึกซักฟอกแบบไม่ลงมติ" ถึงจะไร้ผลทางกฎหมายในการน็อกรัฐบาล แต่การอภิปรายต่อเนื่องยาวนานจะยิ่งเปิดแผลความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดินที่จับตรงไหนก็ต้องบอกว่า เจ็บ ทั้งการเมือง การยุติธรรม และการเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19
ประกอบกับการชิงเหลี่ยมรื้อกฎหมายลูกวางกลไกระบบเลือกตั้ง ในบัตร 2 ใบ ถ้า ส.ส. ฝ่ายค้านโน้มน้าวพรรคร่วมรัฐบาลยึดสูตรนับแต้มแบบรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 สำเร็จ ก็เชื่อขนมกินได้ว่า พรรคพลังประชารัฐและ 'พล.อ.ประยุทธ์' อาจต้องมีหนาวแน่ กับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอนาคต
อีกงานหิน โจทย์ตีความคุณสมบัตินายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 กำหนดไว้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีติอต่อกันไม่ได้
เรื่องนี้ แม้ฝ่ายกฎหมายสภาฯ จะรับรองอยู่ยาวยันปี 2570 ทว่าก็แค่ด่านแรก ปลายทางชี้ขาดหนีไม่พ้น "ศาลรัฐธรรมนูญ" ที่จะต้องมีคำวินิจฉัยให้ผูกพันทุกองค์กร ซึ่งก็อาจสร้างเซอร์ไพรส์เปลี่ยนตัวผู้นำที่บอบช้ำจนเกินเยียวยา
หรือต่อให้พลิกข้อกฎหมาย หามุมรอดให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ หากพินิจมุมการเมืองก็ยิ่งร้อนฉ่า เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งอยู่ต่อวีซ่าทางการเมืองได้อีก ก็ยิ่งมีแต่ 'ชำรุดยุทธ์โทรม' ตามฉายาที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลได้ตั้งไว้เมื่อปลายปี 2564
ยิ่งหากสถานการณ์นอกสภา ม็อบหนุ่ม-สาว ปลดแอกเกิดสร้างกระแสจุดติดอีกระลอกเช่นปี 2563 เร่งเร้ากดดันรัฐบาลให้มากขึ้น
ความร้อนแรงของการเมืองไทยในปี 2565 ก็อาจนำไปสู่การยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินอีกครั้ง ภายใต้กติกาบัตรสองใบที่ไม่ต้องปัดเศษ โดยเสียงประชาชนจะเป็นฉันทามติกดดันให้ รัฐสภา ชี้ชะตาสถานะ พล.อ.ประยุทธ์ ในลำดับถัดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง