เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงการสูญเสีย แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จากเหตุบิ๊กไบค์พุ่งชนขณะเดินข้ามทางม้าลายเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา
หากแต่ยังมีการจัดเวทีคู่ขนานถอดบทเรียนเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน โดยมีตัวแทนจากฝ่ายการเมือง ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ร่วมแสดงความคิดเห็น
ชี้ 'คอร์รัปชัน-อุปถัมภ์' รากเหง้าปัญหา ยันโทษขั้นต่ำต้อง 10 ปี
เริ่มจาก นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุถึงความไม่ได้สัดส่วนจากคำพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 15 วัน ของศาลชั้นต้นว่า เมื่อติดคุกจริงอาจไม่กี่เดือน ซึ่งโทษขั้นต่ำเพื่อความยุติธรรมอย่างต้องจำคุก 10 ปี เนื่องจากเหุตดังกล่าว สามารถตีความเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ เพราะเป็นการขับเร็วตรงทางม้าลาย
"มีคำอธิบายสาเหตุต้องโทษน้อยว่า ต้องคำนึงถึงอนาคตอยู่ แต่ก็ต้องถามกลับไปว่าแล้วหมอกระต่ายและครอบครัวยังมีอนาคตหรือไม่ กรณีดังกล่าวเราไม่สามารถพึ่งเจ้าหน้าที่ได้ เพราะระบบอ่อนปวกเปียก จากสองสาเหตุที่ทุกคนทราบกันดีว่าเกิดจากการคอรัปชั่น และการอุปถัมภ์" อดีตกสม. กล่าว และตั้งคำถามต่อสังคมไทยว่า "เราเสียแพทย์จักษุที่มีเพียงไม่กี่คนในประเทศไทย แต่ทำไมสังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย และจากกนี้จะมีคนกลัวหรือไม่"
แนะ อุทธรณ์-ฎีกา จี้ปมฝืนกฎหมายร้ายแรง - ปลุกโซเชียลร่วมกดดัน
นพ.แท้จริง ให้ข้อเสนอแนะด้านการต่อสู้ทางกฎหมายว่า การต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา ยังต้องแสดงให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่ความประมาท แต่เป็นความประมาทอย่างร้ายแรงฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจนในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกัน ประชาชนต้องเลิกคิดว่า ตนเองไม่มีอำนาจ แต่จะต้องใช้โซเชียลมีเดียที่ทุกคนมีในการส่งเสียงว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้อีกต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นทวงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับหมอกระต่ายอย่างเหมาะสม
ส่วนผู้แทนภาครัฐจากกระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงสถิติความปลอดภัยบนท้องถนน การบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎกระทรวง กฎจราจร ทว่าตลอดระยะเวลาการให้ข้อมูลไม่ได้ให้ความคิดเห็นพาดพิงถึงเหตุความสูญเสียหรือคำพิพากษา จากกรณีการทำผิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนทำให้หมอที่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียชีวิตแต่อย่างใด หากแต่มีเพียงการส่งเสียงสนับสนุนแนวทางของหมอแท้จริงที่เรียกร้องใช้สังคมโซเชียลฯ ร่วมกันแสดงออกเพื่อการสร้างมาตรการการกดดันทางสังคม
สป.ยธ. ทวงสำนึกผู้นำ ชู ชาติเจริญแล้ว นายกฯรับผิดชอบทันที
ไฮไลต์สุดท้ายของเวทีรำลึก-ถอดบทเรียนการจากไป 'หมอกระต่าย' อาจจะไม่ใช่ช่วงเปิดใจของ นายแพทย์อนิรุทธิ์ สุภวัตรจริยากุล ผู้เป็นบิดาที่ระลึกถึงการจากไปของบุตรสาว
หากแต่เป็น พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ที่ทวงถามสามัญสำนึกของผู้มีอำนาจว่า "ประเทศไทยมีอันตรายบนท้องถนนสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก หากเป็นประเทศเจริญแล้วมีประชาชนเสียชีวิตบนทางม้าลาย นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงความรับผิดชอบ แต่จะลาออกหรือไม่ ผมไม่ทราบ นี่คือเหตุสลด นี่คือความสูญเสียที่ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะมันเกิดจากการระทำของบุคคลที่สังคมมองว่าเป็นผู้รักษากฎหมาย"
พ.ต.อ.วิรุตม์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีไปในทางเดียวกับหมอแท้จริงว่า ไม่ใช่อุบัติเหตุ โดยขอให้เปลี่ยนคำนี้ เพราะนี่คือเรื่องที่ถูกกระทำให้เสียชีวิต ส่วนกระบวนการลงโทษตั้งแต่ชั้นจับกุมถึงการพิสูจน์หลักฐาน ยังไม่ครบถ้วนเพียงพอ จึงถูกลงโทษแค่ 1 ปี 15 วัน ซึ่งโทษประมาทจนทำให้เสียชีวิต มีสูงถึง 10 ปี แม้จะรับสารภาพ แต่โทษที่ออกมาก็ถือว่าน้อยไป
(แฟ้มภาพ- รัชนี สุภวัตรจริยากุล มารดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ถูก ส.ต.ต. ขับรถชนเสียชีวิตขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย ยื่นหนังสือผ่านคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร)
เอือม ทัศนคติ ตร.แย่ ชู ปฏิรูปใหญ่ แต่ผู้นำนั่งทับอำนาจ-ปัญหา
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาจากต้นตอ พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่า อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ระบบตำรวจ ระบบรักษากฎหมายมีปัญหาร้ายแรงมาก นอกจากมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพแล้ว ยังมีปัญหาการทุจริต การรับส่วยสินบน ดังนั้น หัวใจการแก้ปัญหาที่แท้จริง คือ การปฏิรูประบบรักษากฎหมายครั้งยิ่งใหญ่ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มตำรวจยังโวยวายว่า ทำไมขับรถชนคนตายติดคุก แต่ขณะที่คนอื่นไม่ติด นี่คือทัศนะของตำรวจไทยที่มีปัญหา และจะต้องได้รับการปฏิรูป
"แต่ผู้มีอำนาจแก้ปัญหานั่งทับอำนาจทับปัญหาอยู่ ผู้ที่อยากแก้ปัญหาก็ไม่มีอำนาจ จึงทำให้แก้อะไรไม่ได้เลย" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง