ไม่พบผลการค้นหา
ชาติพันธุ์พีมูฟร้อง กมธ. ชาติพันธุ์ฯ ตรวจสอบกรมอุทยานฯ ออกกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ. ป่าอนุรักษ์ละเมิดสิทธิคนอยู่กับป่า นักวิชาการชี้ คนในป่าเหมือนอยู่ในคุกที่ไม่มีกรง ด้าน ส.ส. ม้งย้ำ เดินหน้าจัดทำรายงานผลกระทบเตรียมขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

วันนี้ (23 ก.ย. 2564) กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอจากชุมชนบ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคา และบ้านแม่โต๋ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ณ มูลนิธิโครงการหลวง บ้านหนองหอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลักดันร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ขอ กมธ. ตรวจสอบการบังคับใช้ พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าวและกฎหมายลำดับรองว่ากระทบต่อสิทธิชาติพันธุ์อย่างไร และชี้แจงมาตรการป้องกันผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์

242523940_848125742758908_5285866359596998440_n.jpg

หนังสือระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 12 ฉบับ และวันที่ 7 กันยายน 2564 ก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2564 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2563 จำนวน 4 ฉบับ และเตรียมนำเสนอพิจารณารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามนั้น แสดงให้เห็นถึงการไม่เคารพข้อตกลงในการเจรจา ผลการประชุม และละเลยการรับฟังข้อเสนอของประชาชน 

“สิ่งที่เราห่วงกังวลคือเนื้อหาในร่างกฎหมายลำดับรองที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ วิถีการทำไร่หมุนเวียนอันเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารหลักจะถูกจำกัดรอบหมุนเวียน จำกัดการทำกินในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 อนุญาตให้ทำกินได้เพียงครัวเรือนละ 20 ไร่ คราวละ 20 ปี ให้การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าตามปรกติธุระที่จำกัดเวลาเพียง 20 ปี การดำเนินคดีในพื้นที่ทำกินบรรพบุรุษเพื่อยึดพื้นที่ และการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตถึง 10,000 บาท” หนังสือระบุ

สุพอ ศรีประเทืองชัย ชาวปกาเกอะญอบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อทราบเนื้อหาของกฎหมายลูกประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตนรู้สึกกังวลใจ ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าชาวบ้านสามารถดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายอุทยานฯ หากละเมิดสิทธิชุมชน

241853729_292089615686679_7590149142133284239_n.jpg

“เรากังวลเรื่องไร่หมุนเวียนกับเรื่องการเลี้ยงสัตว์มากที่สุด พื้นที่ 300 กว่าปีที่ผ่านมา บรรพชนทำไร่หมุนเวียน ซึ่งมันเป็นเรื่องความหลากหลายทางพืชพันธุ์ ผมเกิดมาในยุคนี้ผมดีใจมากที่บรรพบุรุษเราดูแลรักษาป่า แต่พื้นที่เราไม่มีเอกสารสิทธิ์ ยังอยู่ในป่าสงวนฯ ตอนนี้เตรียมการประกาศเป็นอุทยานฯ เขาบอกจะมาเอาป่าเท่านั้นเท่านี้ กล่าวหาว่าเราบุกรุกทำลายป่าจริงๆ น่าจะส่งเสริมไร่หมุนเวียนของเรามากกว่าส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวอีก พวกเรามั่นใจว่าถ้าให้พวกเราดูแลพื้นที่ของบรรพบุรุษ เราก็สามารถดูแลได้ยั่งยืนกว่า” ชาวบ้านป่าคากล่าว

ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ลานคำ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน สะท้อนว่า พ.ร.บ. ของกรมอุทยานฯ กระทบกับชาวบ้านโดยตรง ตนอยู่กับอุทยานแห่งชาติออบขานที่กำลังเตรียมการประกาศ นโยบายใหม่ที่กำลังจะมาก็กระทบมาก เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ สำรวจป่าตลอด ชาวบ้านก็ระแวง กลัวเจ้าหน้าที่ตนกำลังดำเนินการต่อรองว่าอย่ามาคุกคามชาวบ้านอย่ามาให้ชาวบ้านตกใจอะไร เพราะกฎหมายก็ออกมาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่าถ้ากฎหมายออกมาแล้วเป็นอุปสรรคให้คนในป่ามันก็ไม่ดี อยู่กันไม่สงบสุข

“กรรมาธิการฯ ของ ส.ส. ขอให้ช่วยดูแลกฎหมายให้มันชัดเจนหน่อย กฎหมายมันต้องร่างจากประชาชน ร่างให้ครอบคลุมคนอยู่กับป่าที่อยู่กันมานานแล้ว กฎหมายอุทยานฯ มาทีหลัง กฎหมายก็ต้องยุติธรรม ตอนนี้เขาไม่ได้ดูเรื่องความยุติธรรมเลย ชาวบ้านเจอแต่อุปสรรค พอเจอเจ้าหน้าที่ชาวบ้านก็ไม่สบายใจ ทำไมเขามีอำนาจขนาดนั้นจะเข้ามาไม่แจ้งเลย แล้วยิ่งกำลังจะมีกฎหมายแบบนี้เราก็ไม่สบายใจ พะตี่ยืนยันว่ามันต้องเป็นโฉนดชุมชน ถ้ามีสิทธิชุมชนเราอยู่ได้ เราอยู่แบบมีขอบเขตมีกฎระเบียบ เรามีกรรมการหมู่บ้าน เราดูแลกันได้” พะตี่ตาแยะย้ำ

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 12 ฉบับ เตรียมประกาศใช้ 8 ฉบับ อีก 4 ฉบับเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 


 
กมธ. ชาติพันธุ์ฯ รับเรื่อง ย้ำดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อเรียกร้องตามหนังสือร้องเรียนดังกล่าวระบุไว้ 2 ข้อ ได้แก่ หนังสือดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องถึงคณะกรรมาธิการฯ 2 ข้อ ได้แก่ 1.ให้ตรวจสอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ รวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับว่าสร้างผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเด็นใดบ้าง และ 2.ให้ชี้แจงมาตรการหรือแนวปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชุมชนเพื่อป้องกันผลกระทบจากพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวมทั้งร่างกฎหมายลำดับรองทุกฉบับ รวมทั้งขอข้อมูลการสำรวจพื้นที่ทำกินและพื้นที่การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาตรวจสอบร่วมกันจนมีข้อยุติ โดย มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการฯ รับเรื่องร้องเรียน

242317221_553065399249814_4991757569215502258_n.jpg

ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ชี้แจงว่า ตนเห็นว่ากฎหมายจะกระทบต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และได้เริ่มดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เตรียมขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหา 

“ปัญหาการประกาศกฎหมาย 3 ฉบับของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อปี 2562 จะกระทบต่อวิถีชีวิตและการใช้ชีวิตอันเป็นปรกติวิสัยของพี่น้อง โดยเฉพาะกับพี่น้องปกาเกอะญอที่อยู่ในป่าเป็นส่วนใหญ่ เราได้จัดทำรายงานเรียบร้อยแล้ว รายงานผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.บ. 3 ฉบับนี้กับนโยบายทวงคืนผืนป่า ตอนนี้รายงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในกรรมาธิการฯ 

เดี๋ยวเราจะขับเคลื่อนสะท้อนให้เห็นภาพชัดว่ามันจะกระทบต่อสิทธิความเป็นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไร รวมถึงกฎหมายลูกที่กำลังเตรียมประกาศออกมาในอนาคต เราจะทำรายงานให้เป็นภาพสะท้อนให้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณารับรองความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของพี่น้องมากกว่านี้ เราเล็งเห็นแล้วว่าจะต้องมีปัญหาแน่นอน และแก้ปัญหาให้พี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม” ณัฐพลกล่าว

นักวิชาการชี้ ป่าอนุรักษ์เหมือนคุกที่ไม่มีกรง อีก 20 ปีอาจไม่มีชุมชนในป่า

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์ “กฎหมายลำดับรองออกตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ชี้ถึงข้อห่วงกังวลที่จะเกิดขึ้นหากกฎหมายลำดับรองดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กล่าวคือ ชาวบ้านไม่ได้มีกระบวนการในการให้ความเห็น ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ว่าจะใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรอย่างไร และชาวบ้านจะต่อรองได้ตามเงื่อนไขของกรมอุทยานฯ ที่ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตเท่านั้น เช่น กรณีอนุญาตให้ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์คราวละ 20 ปี ซึ่งอาจหมายถึงการล่มสลายของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

241504383_352424086625622_9054346812773860314_n.jpg

“นี่คือโครงการที่จะลดและสลายชุมชนให้หายไปภายใน 20 ปี คนรุ่นปัจจุบันอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะเพิ่งเริ่มต้น แต่เมื่อเริ่มไปมากขึ้นและมีระยะเวลา 20 ปี ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนรุ่นใหม่แล้วปักหลักในพื้นที่ จะมีลุกหลานของเราจำนวนไม่น้อยขอสละสิทธิในการที่จะอยู่อย่างยากลำบากในชุมชนเหล่านี้ นั้นหมายความว่าชุมชนเหล่านี้ก็จะถูกลบออกจากแผนที่ไป” กฤษฎากล่าว 

นอกจากนั้น ใครบ้างที่จะมีสิทธิในที่ดินเหล่านี้ หนึ่งคือ ต้องเป็นคนที่มีที่ดินทำกินในอุทยานฯ ภายใต้กรอบระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ใครที่ตกสำรวจไปจะมีปัญหา สองคือ ต้องมีสัญชาติไทยหรืออยู่ระหว่างการยื่นขอสัญชาติไทย แน่นอนต้องมีชนเผ่าบางคนที่ไม่เคยยื่นขอสัญชาติ ก็จะถูกตัดสิทธิไป สามคือ ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ดังกล่าวเท่านั้น 

ต้องครอบครองและใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง และไม่มีที่ทำกินอื่น ซึ่งในข้อเท็จจริง บางส่วนประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบคาบลูกคาบดอก เช่น บางส่วนอยู่ในป่าอนุรักษ์ บางส่วนอยู่นอกป่าอนุรักษ์ ซึ่งจะเป็นปัญหา จะกลายเป็นคนมีที่ดินสองที่ ทำให้หมดสิทธิในการมีที่ดินในป่าอนุรักษ์ไปด้วย รวมถึงต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ออกจากพื้นที่เหล่านั้นมาก่อน 

“ที่ผ่านมารัฐดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อพี่น้องในป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิจำนวนไม่น้อยเลย พวกเขามีโอกาสในการถูกกีดกันสิทธิ หลายชุมชนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวหรือออกมาป้องกันสิทธิ หลายคนอาจจะยอมภายใต้การกำกับของอุทยานฯ ที่ผ่านมา นี่คือวิธีการแบ่งแยก ปกครอง และลิดรอนสิทธิของประชาชน” นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนากล่าว

กฤษฎายังวิเคราะห์ว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการกำกับดูแลให้ชาวบ้านทำกินในกรอบการอนุรักษ์ จะปลูกป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ครอบครอง ทำกิน ใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะรายงานถึงอธิบดี ถ้าใครผิดก็จะให้อธิบดีเพิกถอนสิทธิไป ระงับการใช้ทรัพยากร เจ้าหน้าที่เห็น หัวหน้าอุทยานฯ เห็น หรือตีความเอาเอง เขาก็รายงานไปที่อธิบดี เมื่อเป็นเช่นนี้หมายความว่าความสัมพันธ์ของหัวหน้าอุทยานฯ กับชาวบ้านต้องดีมาก เพราะถ้าไม่ดีเมื่อไรเกิดปัญหาแน่นอน ชาวบ้านจะถูกรายงานไปอย่างไรก็ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่สิทธิชุมชน แต่เป็นคุก

“มันเป็นคุกชนิดหนึ่งที่ไม่มีลูกกรง แต่เพราะไม่มีลูกกรง เราก็เลยไม่คิดว่าถูกควบคุม แต่เราจะถูกตรวจสอบ เราจะถูกสอดส่องว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อุทยานฯ อนุญาตหรือไม่ แต่มันเป็นคุกในบ้านเราไง คุกเน้นเรื่องการขังในคุก แต่เมื่อคุณทำผิดเมื่อไหร่คุณถูกเด้งออกไปข้างนอก เราอยากจะเรียกสิทธิภายใต้กฎหมายแบบนี้ว่าสิทธิชุมชนจริงๆ หรือ” กฤษฎาย้ำ