ไม่พบผลการค้นหา
'ปิยบุตร' ร่วมวงบรรยายคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ย้ำข้อเสนอ 'ปฏิรูป' คือทางเดียวที่จะธำรงสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่กับประชาธิปไตย - ด้าน 'สมชาย' ย้ำข้อถกเถียงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่ 2475 พร้อมระบุ การเคลื่อนไหวของนิสิต-นศ.-ประชาชนช่วงนี้ คือ เสียงเรียกร้องของยุคสมัย

โครงการ Common School ได้จัดการบรรยายสาธารณะ Common School On Tour ในหัวข้อ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่ห้องประชุม LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563 โดยมี 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ 'รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล' อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมบรรยายในหัวข้อดังกล่าว โดยมีผู้สนใจร่วมฟังการบรรยาย ทั้งนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

'สมชาย' เสนอหลัก 3 ข้อ เตรียมการต้านรัฐประหาร 

รศ.สมชาย ระบุว่า สิ่งที่ตนอยากชวนคุยไปถึงกลุ่มคนที่เป็นกษัตริย์นิยม กับคนที่นิยมรัฐบาลโดยตรง เพราะการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าสังคมกำลังจะพังพินาศลงหรือไม่ ข้อกล่าวหาหรือวิธีมองที่มีต่อการเคลื่อนไหวแบบนี้ มีการกล่าวว่าเพราะเยาวชนถูกล้างสมอง มีผู้อยู่เบื้องหลังให้คิดไปในลักษณะนี้ แต่ขอตอบง่ายๆ ว่าถ้ามีคนล้างสมองเด็กได้ คนที่กุมอำนาจ กลไกรัฐ และสื่อมากที่สุด ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคพวก

"นี่คือ 'เสียงแห่งยุคสมัย' นี่คือเสียงที่เป็นปฏิกิริยา จากการได้รับรู้ถึงความเหลวแหลกของระบบการเมืองและสถาบันทางการเมืองของประเทศไทยมานาน เบื้องหลังคือความล้มเหลวอย่างกว้างขวางของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่ตกต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน"

รศ.สมชายระบุว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นได้โยนความกลัวที่คนรุ่นตนเคยมีทิ้งไป แต่ก็คิดว่ามีเรื่องที่ต้องระมัดระวังด้วย เช่น เรื่องรัฐประหาร

"ที่ผ่านมาไม่ว่าจะปี 2549 หรือ 2557 เราไม่เคยเตรียมเรื่องเหล่านี้เอาไว้เลย คำถามคือถ้าเกิดขึ้นเราจะทำอะไรกัน เราต้องคิดที่จะต้องรับมือกับการทำรัฐประหารเอาไว้ด้วย เพราะอย่าคิดแต่ว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น"

รศ.สมชาย เสนอว่าการต้านรัฐประหาร อย่างน้อยต้องอยู่บนหลักการสามข้อ คือ 1) ไม่ใช้ความรุนแรง 2) ไม่ทำให้ผู้ต้านรัฐประหารต้องสุ่มเสี่ยง และ 3) ต้องทำให้คนทุกคนร่วมกันได้

ย้ำข้อถกเถียง “หนึ่งความฝัน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2475

รศ.สมชาย กล่าวต่อว่า หลัง 'อานนท์ นำภา' ได้พูดข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงข้อเสนอ 10 ข้อจากเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ก็ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นอย่างมาก และทำให้ดูเป็นข้อเสนอที่แหลมคม แต่ตนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยมีการถกเถียงกันมาก่อนเลย

"หลังปี 2550 เป็นต้นมา เอาเข้าจริงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ต่างมีข้อถกเถียงว่าด้วยการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็มีข้อเสนอเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ธงทอง จันทรางศุ ต่างก็เคยมีข้อเสนอออกมาและมีการถกเถียงกันมาโดยตลอด"

"สิ่งที่อยากบอกกับสังคมไทยและฝ่ายที่กำลังรู้สึกตระหนกตกใจ ที่มีการพูดถึงประเด็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ คือนี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่เลย ในทศวรรษที่ผ่านมามีการพูดเรื่องนี้บ่อยครั้ง เพียงแต่ที่ผ่านมาเราอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายอำนาจนิยม ฝ่ายที่ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถขยับไปข้างหน้าได้" 

รศ.สมชายย้ำว่า ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาในสังคมไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมาย มาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย และมีการรอมชอมกันจนเป็นที่พึงพอใจ แต่ยังอยู่ภายใต้หลักการสามเรื่องที่ตรงกัน นั่นคือ 1) การที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2) กษัตริย์อยู่ในสถานะเหนือการเมือง และ 3) The King Can Do No Wrong ว่าการกระทำใดๆ เกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่สามารถกระทำเองได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นผู้รับผิดทางการเมือง

สิ่งเหล่านี้คือหลักการที่ถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างน้อยในช่วง 15 ปีแรกของคณะราษฎร แต่หลังปี 2492 สืบมาได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นั่นคืออาการแยกแย้งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกิดเส้นทางที่แยกหรือที่แย้งกันเอง เมื่อทหารกลับมามีบทบาททางการเมืองพร้อมกลุ่มอนุรักษนิยม ที่กลับมาผลักดันอุดมการณ์กษัตริย์นิยมพร้อมกันไปด้วย

การจัดวางตำแหน่งแห่งที่หลังจากนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ และเปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดข้อถกเถียงใหญ่เกิดขึ้น สี่ประเด็นใหญ่ คือ 1) ที่มาของอำนาจอธิปไตย “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ปวงชนชาวไทย 2) สถานะเหนือการเมืองมีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์หรือไม่ กิจการใดบ้างที่ถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ เรื่องไหนเป็นเรื่องของราชการแผ่นดิน 3) ขอบเขตของคำว่าอันล่วงละเมิดมิได้ หมายถึงเฉพาะการกระทำทางการเมือง หรือรวมถึงเรื่องส่วนพระองค์ด้วย ประเด็นนี้การมีบทบาทของมาตรา 112 มากขึ้นในเวลาต่อมาทำให้เรื่องนี้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก

ดังนั้นเรื่องของ “หนึ่งความฝัน” ตั้งแต่ปี 2475 มา ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ จากระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาสู่ระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน

"คนที่พยายามผลักดันตอนนี้เขาพยายามยืนตามระบบ พยายามผลักดันผ่านระบบที่เขารู้ว่ามันจะยุ่งยาก เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เขายังผลักดันผ่านระบบอยู่ ผมคิดว่าไม่มีทางที่มันจะกลายเป็นการกระด้างกระเดื่อง หรือกลายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ตามที่ตำรวจมาแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 อย่างน้อยผมคิดว่ากลุ่มที่เป็นฝ่ายรอยัลลิสต์ นี่เป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้"

"ผมอยากจะยืนยันว่าสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวที่มีใครอยู่เบื้องหลัง ผมคิดว่านี่คือเสียงเรียกร้องของยุคสมัย ของกลุ่มคน เยาวชน นักศึกษา หรือกระทั่งกลุ่มคนอื่นๆก็ตาม ที่เราได้อยู่ร่วมกันเป็นประจักษ์พยานถึงปัญหาต่างๆ ที่มันทับถมในสังคมนี้มาอย่างยาวนาน สิ่งที่เสนอขึ้นมา สิ่งที่ผลักดัน รวมถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้น ผมคิดว่านี่คือข้อเรียกร้องของคนในยุคสมัยนี้ หวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้” รศ.สมชายกล่าวทิ้งท้าย

'ปิยบุตร' ย้ำไม่ควรล็อกหมวด 1-2 ไม่ให้แก้ 

ด้าน ปิยบุตร กล่าวว่าสิ่งที่เราต้องยอมรับ คือ สิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วกับโลกสมัยใหม่ คือ 1) การเอาอำนาจสูงสุดไปอยู่ไว้ที่คนๆ เดียว 2) คนๆ นั้นสืบทอดมาตามสายเลือด 3) การไม่แบ่งแยกเรื่องสาธารณะกับเอกชนออกจากกัน

แต่เหตุที่หลายๆ ประเทศยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้อยู่ ดูในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นเพียงสองทางเท่านั้น คือ กลายเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) หรือกลายมาเป็นสาธารณรัฐ สุดท้ายถ้ากษัตริย์ไม่ปรับตัว หน่วยอำนาจใหม่ชนะก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าไปดูประเทศที่เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy ได้ ก็เพราะกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจตัวเองลงให้มาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้

"เมื่อกลับมามองประเทศไทย เรารู้จักคำว่า Constitutional Monarchy ครั้งแรกก็เมื่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 หน่วยอำนาจเดิมกับหน่วยอำนาจใหม่ก็ขัดแย้งกันเป็นปกติ ตัวบทที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ก็มีการมองต่างกัน ว่าพระองค์จะมีส่วนในอำนาจบริหารด้วย หรืออำนาจทั้งหมดควรอยู่ที่รัฐบาล ความเห็นต่างในส่วนนี้ขับเคลื่อนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งพัฒนาการมาเป็นคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน และหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ถูกผลิตซ้ำมากขึ้นทุกวัน"

"ความเห็นต่างนี้ ยังสะท้อนให้เห็นในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ในเรื่องของการจะเปิดให้มีการแก้ หมวด 1, หมวด 2 ได้ด้วยหรือไม่ด้วย ซึ่งตนก็ต้องยืนยันว่าหมวด 1, หมวด 2 มีการแก้ไขมาโดยตลอด ต่อให้แก้อย่างไรก็แก้โดยเปลี่ยนระบอบไม่ได้ มันล็อกเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ถ้าวันหนึ่งเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จะต้องทำอย่างไร"

อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญปี 2560 หลังผ่านการประชามติ ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการแก้หมวด 2 มาจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้รัฐบาลต้องไปหาทางที่จะแก้ไขในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 เองก็ระบุไว้ว่าแก้ได้แต่ต้องไปผ่านประชามติ คำถามจึงมีอยู่ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้วมีการล็อกไปห้ามไม่ให้แก้แล้วจะต้องทำอย่างไร

“บางทีผมก็อึดอัดคาใจ ว่าคนที่ด่าผมเรื่องไม่จงรักภักดี ผมพยายามหาวิธีการมันไม่มีการขัดแย้งกัน เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ไปสู่ทางตัน เขียนนล็อกไว้ว่าหมวด 1, หมวด 2 แก้ไม่ได้ แล้วถ้าเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จริงๆ คุณจะทำอย่างไร เขียนรัฐธรรมนูญคุณบอกหมวด 2 ต้องไปประชามติ แลวถ้าเกิดมีการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 เหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมาตามพระราชกระแสรับสั่งแล้วคุณเอาไปประชามติ แล้วคุณคุมได้เหรอประชามติ"

"กลายเป็นว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญเป็นพวกวิธีคิดแบบล้นเกิน คุณล้นเกินไปหมดทุกเรื่องตั้งแต่คำว่า “อันมีฯ” ใครไม่พูด “อันมีฯ” กลายเป็นคนที่คิดอะไรอยู่ เป็นเรื่อง เท่ากับล้มล้าง ไม่ห้ามแก้หมวด 1, หมวด 2 เท่ากับจะแก้ มันล้นเกินไปหมด ป้องกันตัวเองจนกลัวไปหมด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง” ปิยบุตรกล่าว

ชี้ฝ่ายอนุรักษนิยมทำให้กลายเป็นเรื่องคลุมเครือ

ปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่าถ้าเราลองไปดูประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญมา การถกเถียงกันถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาโดยตลอด ผู้ที่ถกเถียงก็เป็นระดับเจ้าพระยา ขุนนางระดับสูง เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นกลุ่มกษัตริย์นิยม เคยมีการพูดชัดเจนถึงขั้นว่าเราจะจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย 

เรื่องนี้เราเคยมีการพูดกันในสภามาโดยตลอด มาระยะหลังจึงเริ่มไม่พูดกัน ทุกวันนี้กลายเป็นว่าใครพูดเป็นเรื่องแหลมคม ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดด้วยซ้ำ หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเราต้องพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ

"เราเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร เป็นประชาธิปไตย มาตรา 1 ยืนยันเรียบร้อยแล้วว่าเราเป็นราชอาณาจักร มาตรา 2 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือ มีประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ของราชอาณาจักร การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้เรากำลังพูดกันราวกับว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่เขาเป็นกันในโลก ไม่ใช่แบบที่ Constitutional Monarchy เป็นกัน"

ปิยบุตรระบุว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องมาเสมอต่อฝ่ายอนุรักษนิยม คือขอนิยามที่ชัดเจนแท้จริงของคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แต่ก็ไม่เคยมีใครนิยามให้เราเห็นได้เลย ฝ่ายอนุรักษนิยมหลีกเลี่ยงไม่เคยพูดถึงเลย แต่กลับทำให้มันคลุมเครือจนกลายเป็นว่าใครพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เลย พัฒนาการไปจนถึงขั้นว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ต้องนิยามอะไรเลย 

“ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งแต่ก่อน 2475 จนถึงวันนี้ เขาจะชอบที่จะใช้วิธีคลุมเครือแบบนี้ เพราะถ้าคุณยืนยันว่าตรงไหนที่เป็นพระราชอำนาจ ผ่านลายลักษณ์อักษร มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แก้ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าคุณคลุมเครือผ่านประเพณี ผ่านความคิด ผ่านความเชื่อ คุณแก้มันในชั่วข้ามคืนไม่ได้ คุณต้องใช้เวลา ดังนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมเขาถึงชอบจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ เขาไม่ชอบกฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร” ปิยบุตรกล่าว

อ่านเพิ่มเติม