เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยเอเชียแปซิฟิก (APRRN) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยกักตัว ฮัมซา อับดุลราชิด ผู้ลี้ภัยวัย 13 ปี จากโซมาเลียที่มีอาการดาวน์ซินโดรมไว้ที่ในห้องกักสวนพลูมากว่า 5 เดือนแล้ว
อับดุลราชิดจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึง การกินอาหารและแต่งตัว อีกทั้งยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากแพทย์ ดังนั้น การไม่ได้พบแพทย์เลยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาจึงอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของเขา
APRRN ระบุว่า อับดุลราชิดถูกคุมขังอยู่ในห้องกักสวนพลูพร้อมกับโอมาร์ อาเหม็ด อับดุลลาฮี พี่ชายวัย 22 ปีและผู้ดูแลอัลดุลราชิด แม้ทั้งหมดจะได้รับเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แล้ว โดยอับดุลราชิดต้องเข้าไปอยู่ในห้องกัก เพราะจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากพี่ชาย ไม่ใช่จากคำสั่งของเจ้าหน้าที่
ประเทศไทยลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 1989 และมีพันธะหน้าที่ที่จะต้องเอื้ออำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับเด็ก รวมถึงปล่อยตัวจากการกักกันและให้ความเคารพกับความเป็นเอกภาพของครอบครัว การคุ้มครองในระดับนานาชาติจะมีในกรณีที่ผู้ถูกคุมขังมีความเสี่ยงสูง และไทยยังเพิ่งประกาศว่าได้ยึดถือมาตรฐานสากลที่จะไม่ให้มีการกักตัวเด็กด้วย
เธมบา ลูอิส เลขาธิการ APRRN กล่าวว่า การที่ทางการไทยยังคงกักตัวผู้ดูแลของเด็ก จนทำให้เด็กมีความเสี่ยงอย่างเห็นได้ชัด ถือเป็นเรื่องไร้จิตสำนึก จึงเรียกร้องให้ทางการไทยเคารพเจตนารมย์ที่ได้ประกาศไว้ ด้วยการปล่อยตัวโอมาร์ อาเหม็ด อับดุลลาฮีและฮัมซา อับดุลราชิด "นี่ไม่ใช่แค่กรณีที่เด็กถูกกักตัว ซึ่งผิดกฎหมายในตัวของมันอยู่แล้ว แต่นี่คือเด็กที่เผชิญความเสี่ยงร้ายแรง และต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วนและสม่ำเสมออย่างที่เขาจะไม่ได้รับในสถานกักกันผู้อพยพ
สุนัย ผาสุ- นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า การไม่ให้อับดุลราชิดเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่จำเป็น รัฐบาลไทยอาจทำให้เขาป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้
คนที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะประสบกับความเสี่ยงร้ายแรงด้านสุขภาพหลายประการ ทั้งภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่อาจทำให้เกิดอาการป่วยที่ถึงแก่ชีวิต การชัก โรคหัวใจและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ