ไม่พบผลการค้นหา
iLaw ระบุ ม.112 มีปัญหาทั้งตัวบทกฎหมาย-การบังคับใช้ ขณะเมื่อเทียบความใกล้เคียง 'อังกฤษ' ไม่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมาร่วมร้อยปี

ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 11 ธ.ค. โลกทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #ยกเลิกม112 และ #สนับสนุน112 ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยพร้อมกัน

นอกจากนี้ เมื่อราว 15.00 น. อนุชิต สพันธุ์พงษ์ หรือ 'โอ' นักแสดงทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า "ข้าพเจ้า​นาย​อนุชิต​ สพันธุ์​พงษ์ ข​อนับสนุน​ให้​ใช้​ มาตรา​ 112 ต่อผู้​กระทำผิดให้ถึง​ที่​สุด ข้าพเจ้า​ไม่มี​ปัญหา​อะไร​กับมาตรานี้​ครับ​ ปล.​ ขอให้ลงโทษ​ผู้​กระทำผิดแบบสุดๆๆๆไปเลยนะครับ"


ปัญหา 112 - ทำไมต้องแก้ ?

พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี 

ขณะที่กระแสสังคมตั้งข้อสังเกตถึงกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการเมืองไทย และนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยพยายามเสนอให้ยกเลิก

บทความของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw ระบุไว้ 2 กรณี ได้แก่ ประเด็นที่เกิดจากตัวบทกฎหมาย และประเด็นที่เกิดจากบังคับใช้ 

ประเด็นแรก iLaw ระบุว่า อัตราโทษจำคุกถึง 15 ปี สูงเกินไป เพราะเทียบได้กับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปี เป็นต้น

ม็อบ ยกเลิก ม.112.jpg

เท่านั้นยังไม่พอ คำว่า 'ดูหมิ่น' อาจตีความได้กว้าง ครอบคลุมการกระทำ หรือการแสดงความคิดเห็นได้หลายแบบ ทั้งยังเป็นมาตราที่ "ให้ความคุ้มครองบุคคลหลายตำแหน่ง ทั้งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่ากันโดยไม่แยกแยะ ทั้งที่ผลเสียหายของการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อาจมากกว่าการกระทำต่อบุคคลในตำแหน่งอื่น"

ท้ายสุด มาตรา 112 ยังถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ 'ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร' ทำให้การตีความและบังคับใช้อาจอ้างการรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อให้เป็นผลเสียแก่ผู้ต้องหาได้

ขณะที่ปัญหาซึ่งอาจเกิดจากบังคับใช้กฎหมาย สืบเนื่องมาจากมาตราดังกล่าวสามารถตีความได้กว้างขวางและไม่มีขอบเขตชัดเจน ทำให้ "ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดจะผิดกฎหมายหรือไม่"

นอกจากนี้ บุคคลทั่วไปทุกคนสามารถยื่นฟ้องต่อศาลให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 ได้ โดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มต้นคดี ส่งให้มีการฟ้องร้องกันด้วยมาตราดังกล่าวเป้็นจำนวนมาก

iLaw ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมาตรา 112 ได้รับแรงกดดันจากสังคม และไม่กล้าใช้ดุลพินิจที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี การไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาประกันตัว หรือการพิพากษายกฟ้อง


ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี

จากการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีผู้ได้รับหมายเรียก ม.112 รวมทั้งข้อหาตาม ม.116 ฐานยุยงปลุกปั่น และมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ทั้ง 4 ราย ซึ่งได้แก่ 'ครูใหญ่' อรรถพล บัวพัฒน์, รวิศรา เอกสกุล, สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ และอีกหนึ่งรายที่ไม่เปิดเผยชื่อ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยมีมูลเหตุจากการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบการใช้อำนาจของกษัตริย์ไทยในอาณาเขตของประเทศเยอรมนี 

ม็อบ 27 พ.ย. ครูใหญ่.2.jpg
  • 'ครูใหญ่' อรรถพล บัวพัฒน์

เมื่อถามว่าถึงกังวลในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังถูกดำเนินคดี ม.112 อรรถพล กล่าวว่า "มีความกังวลระดับลมพัดยอดหญ้า" โดยในเบื้องต้น ตัวเขาปฎิเสธข้อกล่าวหา เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นไม่ใช่การกระทำความผิด

อรรถพล ระบุว่าซึ่งที่เกิดขึ้น "เป็นการแสดงออกว่าพวกเรากำลังถูกเล่นงานทางการเมืองโดยกฎหมายที่ล้าหลัง เหมือนอยู่ในยุคไดโดเสาร์ ซึ่งกฎหมายที่ล้าหลังอย่างมาตรา 112 ควรถูกยกเลิกไป" 


เทียบโทษหมิ่นกษัตริย์อังกฤษ

หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในโลกที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พบว่าประเทศอังกฤษมีกฎหมายที่คล้ายกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทย ภายใต้ชื่อว่า 'พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ ค.ศ. 1848' (Treason Felony Act 1848) ทว่าสิ่งที่แตกต่างคือ กฎหมายฉบับนี้ของอังกฤษถูกใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1848 ตรงกับ พ.ศ 2422 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่ผ่านมา หากเกิดกรณีการฟ้องหมิ่นฯ พระราชินี ศาลอังกฤษมักหยิบพระราชบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาท 1996 (Defamation Act 1996) ซึ่งไม่ปรากฏโทษความผิดฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ มีเพียงโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ที่มีบทลงโทษเพียงการปรับเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;