ไม่พบผลการค้นหา
18 พ.ย.นี้จะเป็นวันเบิกความครั้งแรกของไทยต่อหน้าอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์ ในกรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดฯ ยื่นเรื่องฟ้องทางการไทย กรณีปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ด้วยคำสั่ง ม.44 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา 'พล.อ.ประยุทธ์' ในฐานะนายกฯ และหัวหน้า คสช. ผู้ลงนามในคำสั่ง จะแก้ปัญหาอย่างไร ใครจะรับผิดชอบหากประเทศไทยแพ้คดีนี้ คดีนี้จะเป็นอีกบทเรียน 'ค่าโง่' หรือไม่ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องใจตุ้มๆ ต่อมๆ

เผือกร้อนต้อนรับเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมคนล่าสุด 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' ที่ดูเหมือน 100 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ยังไม่รู้จะหมู่หรือจ่า 

เกือบ 3 ปีเต็มที่รัฐบาลไทยโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 ที่มี 'พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เห็นชอบการอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 72/2559 ระงับการอนุญาตให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2571

โดยตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 72/2559 มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2560 

ด้วยการเอ่ยอ้างข้อมูลต่อๆ กันมาว่า ตามข้อมูลทางเทคนิควิศวกรรมที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อ้างผลการสำรวจว่าความน่าจะเป็นไปได้ในการขุดเจาะแร่ที่เหลือในเหมืองดังกล่าวอยู่มีน้อยมาก และจะเพียงพอถึงแค่สิ้นปี 2559 เท่านั้น

นี่คือเป็นข้อมูลเท่าที่มี และเป็นที่มาของมติ ครม. 10 พ.ค. 2559 ให้บริษัท อัคราฯยุติการดำเนินงานตามที่กำหนด 

ร่ำลือกันหนาหูไม่น้อยว่าเรื่องนี้อาจเป็นชนวนให้ 'อาทิตย์ วุฒิคะโร' ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้นถึงขั้นต้องลาออกจากราชการ โดยให้เหตุผลลาออกว่า "มีปัญหาเรื่องสุขภาพและอยากมีเวลาดูแลครอบครัว"

ด้าน 'อรรชกา สีบุญเรือง' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น อนุมัติใบลาออกลงนามวันที่ 10 พ.ค. 2559 มีผลวันที่ 7 มิ.ย. 2559 ซึ่งเป็นช่วงเดือนเกิดที่ 'อาทิตย์' มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในระหว่างเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของอัครา ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 4 เดือนก็จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 2559

ด้วยคำสั่งปิดเหมืองของทางการไทยดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้บริษัทคิงส์เกตฯ เข้ายื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการฟ้องรัฐบาลไทยละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสั่งปิดการทำเหมืองโดยไม่มีข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการทำเหมืองทองของบริษัทตามที่มีการร้องเรียน

อีกทั้ง ยังไม่สามารถนำมาเป็นบทสรุปได้ว่าบริษัท อัคราฯ กระทำความผิดจนต้องนำมาสู่คำสั่งปิดเหมืองได้หรือไม่ ?

...ถึงวันนี้เรียกได้ว่านับถอยหลังวันที่รัฐบาลไทยต้องเข้าสู่กระบวนการเบิกความต่อหน้าอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์ ในวันที่ 18 พ.ย. 2562 หากไทยยังเพิกเฉยไม่แสดงความจริงใจในการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติเสียก่อน 

ที่ผ่านมาทางบริษัท คิงส์เกตฯ มีความพยายามขอเจรจากับรัฐบาลไทยมาโดยตลอดและทันทีตั้งแต่เกิดเรื่องในสมัย 'อรรชกา สีบุญเรือง' เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ได้พบเพียงเสมือนฝากเรื่องไว้กับ 'สมชาย หาญหิรัญ' ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ทำหน้าที่ต่อจากอาทิตย์)

อุตตม
  • อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม (16 ธ.ค. 2559-29 ม.ค. 2562)

แม้สมัยต่อมาก็มีการขอเข้าพบ 'อุตตม สาวนายน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจาก 'อรรชกา' ถึง 2 ครั้ง ซึ่ง 'อุตตม' ก็ส่ง 'พสุ โลหารชุน' ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ต่อจากสมชาย) เป็นตัวแทนหารือ

ในฝ่ายผู้ยื่นคำร้อง มองว่าการส่งตัวแทนที่ไม่สามารถมีหรือใช้อำนาจตัดสินใจใดๆ เข้าเจรจาแต่ละครั้งนั้น เป็นความไม่จริงใจที่จะไกล่เกลี่ย ไม่นับอีกหลายครั้งที่อัคราฯ ออกมาบอกผ่านสื่อว่าบริษัทพร้อมเจรจาเสมอ หากมีการประสานขอหารือมาด้วยความจริงใจและหวังที่จะได้เจรจาก่อนการฟ้องร้องด้วยซ้ำ จนหมดใจและเดินไปสู่การฟ้องต่ออนุญาโตฯ ในที่สุด แต่ก็ไม่ถอดใจที่หวังจะได้เจรจาให้เรื่องจบลงก่อนจะถึงวันพิจารณาข้อพิพาท

โดยทางบริษัท อัคราฯ ระบุชัดเจนถึงเงื่อนไขการชดเชยความเสียหายให้กับเหมืองตลอดระยะเวลาที่ถูกระงับประกอบกิจการ ทั้งรายได้ของบริษัท การเสียโอกาสในการลงทุน รวมถึงมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศ คำนวณคร่าวๆ จากปริมาณสำรองแร่ทอง 8.9 แสนออนซ์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 37,020 ล้านบาท และเงิน 8.3 ล้านออนซ์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,984 ล้านบาท สามารถผลิตได้ในช่วง 8-10 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 41,004 ล้านบาท ยังไม่นับความเสียหายด้านการเยียวยาพนักงานและอื่นๆ ที่จะตามมา

ที่สำคัญต้องขีดเส้นใต้สองชั้นและใส่เครื่องหมายดอกจันใหญ่ๆ ว่ารัฐบาลไทยต้องมีข้อตกลงการันตีได้ว่าหากในอนาคต บริษัท คิงส์เกตฯ จะลงทุนในไทยต่อไป ต้องไม่ถูกรัฐบาลสั่งปิดโดยไร้ข้อพิสูจน์ทางหลักฐานวิทยาศาสตร์เหมือนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อีก

เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัท คิงส์เกตฯ ถูกกระทำเช่นนี้ แต่เมื่อปี 2558 ก็เคยถูกสั่งปิด 45 วันมาแล้ว

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
  • สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม (10 ก.ค. 2562- ปัจจุบัน)

ล่าสุด 'สุริยะ' ได้รายงานความคืบหน้าถึงแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ ครม. รับทราบเป็นข้อสรุป 4 แนวทาง ดังนี้

  • หนึ่ง รัฐจ่ายเงินให้อัครา แล้วเลิกกิจการ
  • สอง ดำเนินการตามข้อเสนอของอัครา ซึ่งอาจช่วยให้ไทยไม่ต้องจ่ายเงิน
  • สาม รอผลการตัดสินของอนุญาโตฯ แล้วจึงปฏิบัติตามความเห็นของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • สี่ หาช่องจ่ายค่าปรับบางส่วนเพื่อชดเชยค่าเสียหายบางส่วน แล้วให้ดำเนินกิจการต่อ 

ถึงตอนนี้ทนายหน้าหอ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรี ตอบว่า "จะทำอย่างไรเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องพิจารณาตามความเหมาะสม" เพราะในความเป็นจริงมันไม่เหมาะที่จะออกมาในรูปการณ์นี้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถ้าวันนั้นคนนั่งหัวโต๊ะไม่บัญชา ทั้งที่ค้านกับเสียงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาธารณสุข และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าเอาผิดได้ ปัญหานี้ก็คงไม่เกิด

วิษณุ เครืองาม
  • วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (31 ส.ค. 2557-ปัจจุบัน)

ยังไม่ทันขาดคำ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมายืดอกชายสามศอกบอกกลาง ครม.ว่า "ขอเวลาคิดก่อนว่าจะใช้แนวทางใด ยังไม่ขอตัดสินใจ แต่ขอรับผิดชอบด้วยตัวเอง ผมรับผิดชอบเอง เพราะเป็นผู้ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น"

พอได้สดับรับฟังกันบ้างแล้ว ดูไม่มีวี่แววว่าทางไหนที่ไทยจะไม่เพลี่ยงพล้ำ เพราะทั้ง 4 แนวทางใครฟังดูก็รู้ว่าไทยมีแต่จ่าย เพียงแต่จะจ่ายมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเจรจา หรือจะลากไปให้ถึงที่สุดจนอนุญาโตฯ พิจารณาข้อพิพาทแล้วเสร็จสั่งให้ปฏิบัติอย่างไรก็ว่าไปตามกฎหมาย เพราะศักดิ์ศรีที่สั่งปิดไปแล้วมิอาจคืนคำ จึงยังขอทะนงอยู่ในเกียรติของตัวเองที่พอเหลืออยู่บ้าง สำทับด้วยบางเสียงใน ครม.เห็นว่าเมื่อรัฐบาลสั่งปิดกิจการเหมืองไปแล้ว ก็ไม่ควรที่จะให้กลับมาดำเนินการต่อไปอีก

หรืองานนี้อาจเข้าตำรายอมกรีดเลือดตัวเอง ดีกว่าต้องกลืนน้ำลายตัวเองที่บ้วนทิ้งไปแล้ว

เพราะนี่ถือเป็นโอกาสสุดท้ายของไทยก่อนทั้งสองฝ่ายจะไปสู้คดีกันที่สิงคโปร์ โดยที่ไม่รู้ว่าเรื่องจะจบลงเมื่อไหร่ มิหนำซ้ำไม่รู้ว่าจะจบลงด้วยรัฐบาลไทยต้องจ่ายค่าโง่ตามตัวเลขที่บริษัท คิงส์เกตฯ หอบความสูญเสียทั้งหมดส่งให้อนุญาโตฯ ประกอบการพิจารณากี่หลักหากไทยแพ้คดี

ฤานี่จะเป็นการนับถอยหลังที่รัฐบาลไทยจะต้องจ่ายค่าโง่ซ้ำรอยมหากาพย์โฮปเวลล์ในตำนาน ถึงเวลานั้น 'พล.อ.ประยุทธ์' นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ประกาศจะรับผิดชอบด้วยตัวเอง แต่จะรับผิดชอบอย่างไร ประชาชนคนไทยยังรอคอยความชัดเจนจากชายชาติทหารคนนี้เช่นกัน

graphic-กราฟิกลำดับเหตุการณ์บริษัทคิงส์เกตฟ้องไทยกรณีปิดเหมืองทองชาตรีของบริษัทอัคราใน จ.พิจิตร.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :