ไม่พบผลการค้นหา
ภายหลังตุลาการศาลเคนยาสั่งระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของกลุ่มทุนจีนเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ล่าสุด ยูเนสโกแถลงกดดันรัฐบาลเคนยาอีกแรงหนึ่งให้พิจารณายกเลิกโครงการถาวร เพราะอาจกระทบพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม

ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 10 ก.ค.2562 เรียกร้องให้รัฐบาลเคนยาพิจารณายกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใกล้กับเมืองลามู ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งทะเลทิศตะวันออกของเคนยา โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ไกลจากย่านเมืองเก่า ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก อาจส่งผลกระทบร้ายแรง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม 

เนื้อหาในแถลงการณ์ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อต่างประเทศหลายสำนัก โดยนิตยสาร Quartz รายงานว่า คณะกรรมการฯ ยูเนสโก ยื่นข้อเสนอให้ทางการเคนยาส่งรายงานประเมินผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองลามูภายในปีหน้า (2020) และหากเคนยาไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จทันตามกำหนด อาจทำให้คณะกรรมการฯ พิจารณาบรรจุเมืองเก่าลามูในฐานะมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย เพราะที่ผ่านมา มรดกโลกทางวัฒนธรรมในเคนยาต้องเผชิญทั้งภัยสงคราม มลพิษ การพัฒนาที่ไม่มีระเบียบและภัยธรรมชาติ

ควอร์ตซ์รายงานด้วยว่า รัฐบาลเคนยาเปิดรับการลงทุนของบริษัทจีน และอนุมัติให้เริ่มก่อสร้างในเมืองลามูตั้งแต่ปี 2015 โดยตั้งเป้าว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้า 1,050 เมกะวัตต์ แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่และเครือข่ายนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนทำให้โครงการหยุดชะงักเป็นระยะ

โมฮาเหม็ด อัตมาน ผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงผลกำไร Save Lamu หนึ่งในแกนนำซึ่งรณรงค์ต่อต้านการพัฒนาอย่างไม่มีทิศทางในเคนยา ยืนยันว่า ชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา และเข้าใจว่าเคนยายังต้องการการพัฒนาอีกมาก แต่อยากให้แน่ใจว่ากระบวนการก่อสร้างเพื่อการพัฒนาต่างๆ จะยึดมั่นในการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน


"ชัยชนะของประชาชน?"

เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของกลุ่มทุนจีนในเคนยา ถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแห่งแรกของประเทศ และใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท) โดยรัฐบาลเคนยาและกลุ่มผู้สนับสนุนระบุว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงานมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเคนยาประสบปัญหาไฟฟ้าดับอยู่เป็นประจำ ทั้งยังประเมินอีกว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะช่วยให้ประชาชนจ่ายค่าไฟน้อยลง

AFP-ศาลเคนยาตัดสินระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจีนในเมืองลามู.jpg
  • คณะตุลาการฯ เคนยามีคำสั่งระงับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจีนเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2562

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ต่อต้านโครงการระบุว่า การก่อสร้างไม่ได้ทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ชี้แจงต่อประชาชนในละแวกใกล้เคียงให้รับทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นกระทำที่ไม่ได้มาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายของสหประชาชาติที่ประเทศภาคีทั่วโลกต้องยึดมั่นในหลักการ และกลุ่มผู้ต่อต้านได้ยื่นฟ้องบริษัทอามู เพาเวอร์ เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองลามู และสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของเคนยา ในฐานะผู้ละเมิดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม

คณะตุลาการด้านสิ่งแวดล้อมของศาลเคนยาเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาคดี และกระบวนการไต่สวนดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนานนับปี จนกระทั่งมีคำพิพากษาออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 มิ.ย.2562 โดยสั่งให้ระงับใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทอามู เพาเวอร์ และให้เวลายื่นอุทธรณ์นาน 30 วัน 

เดอะการ์เดียนรายงานว่า มติของคณะตุลาการฯ อ้างอิงจากรายงานประเมินผลกระทบด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรอิสระด้านพลังงานของสหรัฐฯ EEFA ซึ่งมีข้อมูลโต้แย้งคำกล่าวอ้างของบริษัทอามู เพาเวอร์ เรื่องค่าไฟฟ้าที่จะลดลงหลังจากก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วเสร็จ โดยระบุว่า การประเมินราคาค่าไฟของอามู เพาเวอร์ "ต่ำกว่าความเป็นจริง" เพราะหลังจากพิจารณาต้นทุนการก่อสร้างและค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งหมดพบว่า ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องสูงกว่าที่บริษัทประเมิน


ทูตสหรัฐฯ ทวิตหนุนถ่านหิน-ถูกชาวเคนยาตั้งคำถาม "เกี่ยวอะไรด้วย?"

ภายหลังจากคณะตุลาการฯ เคนยาลงมติระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คนแรกๆ คือ ไคล์ แม็คคาร์เตอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเคนยา อดีต ส.ว.อิลลินอยส์ สังกัดพรรครีพับลิกัน โดยเขาทวิตข้อความว่า "(พลังงาน) ถ่านหินเป็นตัวเลือกที่สะอาดที่สุดและต้นทุนต่ำที่สุด" ทั้งยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า การสนับสนุนพลังงานถ่านหินจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาประกอบธุรกิจในเคนยา และกล่าวหาว่ารายงานที่ศาลเคนยาใช้อ้างอิงในคำพิพากษา "เป็นการรับใบสั่งจากกลุ่มผู้ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน"

AFP-เมืองลามูในเคนยา มรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก กลายเป็นแหล่งที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจีน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านหนัก.jpg
  • หมู่บ้านประมงชายฝั่งเมืองลามู หนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก อาจได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของจีน

นิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ รายงานเรื่องท่าทีของเอกอัครราชทูตแม็คคาร์เตอร์ พร้อมตั้งคำถามว่า การแสดงความคิดเห็นของผู้ดำรงตำแหน่ง 'ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ในต่างแดน' ถือเป็นหนึ่งในการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ โดยเปรียบกับกรณีที่ทำเนียบขาวสหรัฐฯ เคยออกมายืนยันว่าก่อนหน้านี้ว่า การทวิตข้อความของโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นคำแถลงอย่างเป็นทางการในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ และหากข้อความของแม็คคาร์เตอร์ถูกนับเป็นถ้อยแถลงในนามของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่า สหรัฐฯ จะได้ประโยชน์อะไรจากการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินจีนในครั้งนี้

ไทม์เปิดเผยเพิ่มเติมว่าแม็คคาร์เตอร์เคยเคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มทุนอเมริกันที่มีกิจการถ่านหินมาก่อน ในช่วงแรกที่เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเคนยาในสมัยของรัฐบาลทรัมป์ ก็ถูกสื่อมวลชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย เมื่อเขาแสดงท่าทีสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในเคนยา จึงถือว่าเป็นเสียงหนึ่งที่มีน้ำหนักมากต่อรัฐบาลเคนยา เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ คือหนึ่งในผู้บริจาคและสนับสนุนงบในด้านต่างๆ รวมกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 31,000 ล้านบาท) 

ด้านมิธิกา มเวนดา ประธานสมาพันธ์ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศแห่งแพน-แอฟริกา หนึ่งในกลุ่มผู้ต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมืองลามู เปิดเผยกับเดอะการ์เดียนว่า การแสดงความเห็นของแม็คคาร์เตอร์เป็นเรื่องประหลาด พร้อมตั้งคำถามว่า "สหรัฐฯ ใส่ใจเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีนด้วยเหตุผลใด?" และย้ำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของเคนยาไม่อาจถาวรยั่งยืนได้ ถ้าหากว่าประชาชนต้องเสียภาษีไปกับการชำระหนี้ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 

ยิ่งเมื่อเทียบกับท่าทีของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำเคนยา ที่ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าทางการจีนเคารพในการตัดสินใจของศาลและประชาชนเคนยา ก็ยิ่งเห็นชัดว่าเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ นั้นสนับสนุนข้อดีของโรงไฟฟ้าถ่านหินมากยิ่งกว่าจีนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเสียอีก

เดอะการ์เดียนได้สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่มเติม และได้รับคำตอบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนนักลงทุนอเมริกันให้มีโอกาสในการประกอบธุรกิจในประเทศพันธมิตรอย่างเคนยาเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: