ไม่พบผลการค้นหา
สปสช.แจง ปชช.ผู้ได้รับผลกระทบยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองกับ 64 คลินิก-รพ.เอกชนใน กทม. ยันสิทธิบัตรทองยังอยู่ ผู้ป่วยทุกรายสามารถถือบัตร ปชช.ใบเดียวไปรับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ ย้ำกลุ่มร่างกายแข็งแรงไม่จำเป็นต้องรีบทำเรื่องขอย้ายหน่วยบริการประจำ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวประชาชนจำนวนมากที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการประจำกับ 64 คลินิกและ รพ.เอกชน ซึ่งถูก สปสช.ยกเลิกสัญญาไปเมื่อเร็วๆ นี้ เดินทางไปสำนักงานเขตเพื่อขอย้ายสิทธิ์การรักษาพยาบาลจนถึงขนาดต้องวางรองเท้าจองคิวกันนั้น ระบุว่า ภาพดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจอย่างยิ่ง ต้องขออภัยประชาชนที่ประสบปัญหาความไม่สะดวกต่างๆ ในช่วงนี้ และ สปสช.กำลังเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด 

อย่างไรก็ดี แม้ทั้ง 64 คลินิกและ รพ.เอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญาจะมีประชากรในการดูแลกว่า 8 แสนราย ทำให้ต้องหาหน่วยบริการประจำใหม่แก่ประชาชนกลุ่มนี้ แต่ขอย้ำใน 2-3 ประเด็น ได้แก่

1.สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนทั้ง 8 แสนราย ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้ถูกยกเลิกตามหน่วยบริการทั้ง 64 แห่งไปด้วย  

2.สิทธิของคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นสิทธิว่าง หมายถึงผู้ใช้สิทธิที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการประจำ สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการไหนก็ได้ ซึ่ง สปสช. ได้ประสานกับ กทม. กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ตลอดจนโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการกับ สปสช. โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับไปขอเวชระเบียนจากคลินิกเดิมเพราะหน่วยบริการใหม่สามารถดึงประวัติการรักษาจากฐานข้อมูลของ สปสช.ได้ 

3.แม้ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจะสูงถึง 8 แสนคน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ประชาชนที่เจ็บป่วยจำเป็นต้องเข้ารับบริการในช่วงนี้มีประมาณ 27% ซึ่งสามารถพกบัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการที่หน่วยบริการไหนก็ได้ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่สุขภาพยังแข็งแรงดี ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปสำนักงานเขตหรือไปที่หน่วยบริการเพื่อขอย้ายหน่วยบริการประจำในช่วงนี้ สปสช.จะทำการจัดหาหน่วยบริการประจำให้โดยเร็วที่สุดและจะแจ้งให้ทราบผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไป ซึ่งหากประชาชนไม่สะดวกไปรับบริการที่หน่วยบริการที่ สปสช.จัดหาให้ก็สามารถขอย้ายหน่วยบริการได้อีกในภายหลัง หรือในกรณีที่ระหว่างนี้เกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ตามที่แจ้งไว้ข้างต้น 

"สรุปคือ สิทธิของประชาชนยังอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกตามหน่วยบริการทั้ง 64 แห่งไปด้วย และคนที่จำเป็นต้องรับการรักษาสามารถไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง ตลอดจนโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการกับ สปสช.ได้เลย และคนที่สุขภาพยังแข็งแรง ไม่ต้องรีบไปทำเรื่องย้ายหน่วยบริการประจำ ทาง สปสช.จะจัดหาหน่วยบริการทดแทนหน่วยเดิมให้แก่ท่านและจะแจ้งให้ทราบโดยเร็วที่สุด และหากไม่สะดวกไปรับบริการที่หน่วยบริการที่จัดให้ ก็สามารถย้ายได้อีกในภายหลัง" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :