ผุสดี งามขำ เป็นอดีตพยาบาลวัยเกษียณ เกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ
พฤษภาคม ปี 2553 หลังออกจากงานมาสักพัก เธอร่ำลาทางบ้าน สวมเสื้อแดงออกไปค้างแรมที่แยกราชประสงค์นานข้ามวันข้ามคืน
ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภา คืนความยุติธรรมให้ประชาชนนั้นคือขั้นต่ำสุดที่เธอส่งเสียง
แต่จนวินาทีสุดท้าย ทหารรุ่นลูกหลานเข้ามาสลาย-เธอนั่งรอให้พวกเขาเข้ามาสลาย
แต่ก็รอดชีวิตอยู่มาได้ท่ามกลางความทรงจำที่เพื่อนพี่น้องร่วมอุดมการณ์หลายชีวิตไม่อาจฟื้นกลับมาได้ ขณะที่อีกหลายชีวิตก็ลับหายไปตามเงื่อนไขกาลเวลา
ภาพจำของเธอที่ต่างเข้าใจว่าเป็น “เสื้อแดงคนสุดท้าย” จึงไม่ใช่ประเด็น เพราะพฤษภาคมยังคงว่ายเวียนผ่านเข้ามาทุกปี
บางปีเงียบเชียบ บางปีดังสนั่นหวั่นไหว
พฤษภาคม 2564 นี้ ภาพจำเดิมจึงเริ่มคลี่คลายออกไป
และบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เพียงพยายามทำความเข้าใจความหนักเบาโปร่งทึบ ณ ห้วงเวลาหนึ่งของเธอ โดยมีฉากหลังเป็นทั้งอดีตและปัจจุบันในนามสถานการณ์การเมืองไทย
ส่วนหน้าฉาก เธอกำลังรดน้ำต้นอ่อนที่เพาะชำไว้ในสวนเล็กๆ หน้าบ้าน แมวเด็กสีขาวนวลวิ่งไปวิ่งมาหยอกล้อเล่นชวนเธอเล่นสนุก
ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าดีขึ้นหรือแย่ลง รู้สึกว่ามันเป็นงานที่ยังทำไม่เสร็จ เรารู้อยู่แล้วว่าในการต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้ ผลคือต้องเป็นอย่างนี้ ประชาชนมือเปล่าไม่มีอำนาจ มีแต่ชีวิต ทุกคนมีหนึ่งชีวิต ลงทุนด้วยกัน เพื่อนเราก็ลงทุนชีวิตไปแล้ว ลงทุนชีวิตแล้วชีวิตเล่าก็ยังไม่ชนะ เรายังมีชีวิต ในเมื่อมันยังไม่ถึงที่สุดก็ต้องอยู่ให้มันจบ ใช่ไหม
ประชาชนมีแต่จำนวนกับชีวิต เราไม่สามารถเอาเงินไปแลกกันได้อย่างพวกเศรษฐี ประชาชนมีแต่ชีวิตของประชาชนเนี่ยแหละ มีเสียง มีชีวิต มาแลกกัน
ตั้งแต่รุ่นป้าเกิดมาพอรู้เดียงสา ก็เจอเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เรื่อยมาถึง 6 ตุลาฯ ประชาชนก็เอาชีวิตแลกมาเรื่อยๆ บ้านเมืองมันก็พัฒนาทีละนิดๆ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมหรอก แค่ไม่ได้ตามเป้า มันดีขึ้นทีละนิดๆ
เพราะฉะนั้นบางทีที่เราแพ้อยู่ อาจไม่ได้แพ้ทหาร ไม่ได้แพ้รัฐบาล แต่เราแพ้เพื่อนคนไทยด้วยกันที่เขาไม่เอาด้วย เขายังสนับสนุนผู้มีอำนาจอยู่
จริงๆ ถ้าวันนั้นโดนยิงตายไปมันก็จบ คือความรู้สึกเรากับคนหลายๆ คนก็คงยังดีอยู่ ยังโลกสวย มีทุ่งลาเวนเดอร์ให้วิ่ง เพราะในวันนั้นที่นั่งอยู่ก็เพราะเรายังหวังว่าจะมีความดีงามในหัวใจคน แต่พอรอดมาเนี่ย สังคมมันชัดน่ะว่าไม่มีคนมีอำนาจ มีแต่ปีศาจที่มีอำนาจ บางครั้งเราก็ถามว่าทำไมเราต้องรอด ทำไมเราถึงต้องอยู่ ในขณะที่เพื่อนหลายๆ คนไม่รอด
รอดก็เพื่อได้เห็น จริงๆ เราเป็นคนงมงายด้วย เวลาอยากรู้อะไรก็มักจะได้รู้ อย่างความเป็นมาตั้งแต่ที่เริ่มสู้ ก็สงสัยว่าทำไมบ้านเมืองถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอหลังจากนั้นมันก็กระจ่างชัด หายสงสัย ไอ้ที่เคยเข้าใจผิด คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ ทุกอย่างมันกระจ่างแจ้ง คนทั้งโลกรู้ เพราะฉะนั้นการมีชีวิตต่อมาก็เพื่อได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าคนที่ไม่ยอมรับนั้นกำลังโกหกตัวเอง
อย่างเรื่องทำไมต้องให้ทักษิณออกจากประเทศไป ทำไมต้องประชาชนถึงถูกฆ่า บางทีเรานึกว่าแค่การเมืองไทยมีแค่สองขั้วแย่งชิงอำนาจกัน มันไม่น่าจะฆ่ากัน เพราะมันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะใช่ไหม ไอ้ชนิดที่ว่าอย่ากลับมาเหยียบประเทศเลย มันไม่ใช่ แล้วเราก็อยากรู้ พอรู้มันก็เจ็บปวด เพราะมันทำลายสิ่งที่เราเคยรักมาตลอด เราเจ็บปวดเพราะเราหลงรักแค่ภาพลวงตา
เราไม่รู้มาก่อนว่าเขาจะไม่เอาพวกเราไว้จริงๆ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่คิดแค่ว่า “เปรม” มักใหญ่ใฝ่สูง และจะเป็นภัยต่อราชวงศ์ เรามีความรู้สึกว่าราชวงศ์จะไม่ปลอดภัย แต่พอหลังจากนั้นประชาชนต่างหากที่ไม่ปลอดภัย จากนั้นมา อะไรที่เราเคยห่วงก็ไม่ต้องห่วง ห่วงตัวเองก่อน
ที่เสียใจครั้งแรก วันที่ 10 เมษา ตอนที่ได้ยินเขาบอกว่าทหารบุกมาให้ช่วยเอาคนไปสู้ คนที่มีรถก็เอามอเตอร์ไซค์ออกไป ไอ้คนที่ไม่มีก็พากันวิ่งไป เด็กๆ คนหนุ่ม คนแก่ ผู้หญิงผู้ชาย ทุกคนวิ่งเหมือนไปรับแจกของ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าวิ่งไปนั้นมีแต่อันตราย เพราะทหารมันมีอาวุธ อันนั้นก็เศร้าแรก
พอต่อมาๆ ทหารเริ่มยิงถี่ขึ้น มีคนตายมากขึ้น เราก็รู้ว่าต้องตายแล้ว แล้วช่วยอะไรไม่ได้หรอก มีศพลำเลียงผ่านหน้าไป ที่ไม่เป็นศพก็โดนยิงเลือดอาบ พวกเราได้แต่คอยไล่คนไม่ให้ขวางรถส่งคนเจ็บ เจ็บปวด แต่ทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้
แต่ที่เจ็บปวดสุดท้าย คือวันที่เขาปราบเราเสร็จแล้ว เขามาล้างเลือด ล้างหลักฐาน ทุกคนช่วยกันทำลายหลักฐาน มีความสุขที่ได้ช่วยกันทำลายหลักฐาน
ตอนอยู่ในที่ชุมนุม เรานั่งกันเป็นกลุ่มๆ แบ่งเป็นจังหวัดๆ ในแต่ละกลุ่มเขาจะมีโทรทัศน์ ได้เปิดดูกันบ้างเพราะอยากรู้ว่าคนข้างนอกคิดอะไร เราก็ไปยืนดู แต่ดูข่าวเราก็รู้แล้วว่าสังคมพิพากษาให้ฆ่าเรา ข่าวที่เขาออกมันมีแนวโน้มให้กำจัดพวกเรา คนนั้นก็ออกมาสัมภาษณ์ คนนี้ก็ออกมาสัมภาษณ์ ว่าคนเสื้อแดงมันก่อกวน มีกระแสไปข้างนอกว่าการ์ดคนเสื้อแดงไปลวนลามผู้หญิงที่เดินผ่าน ไปจี้ปล้น มันจะมีข่าวทางลบออกไป
ไม่ อารมณ์ตอนนั้นรู้แค่ว่าเราเลือกทางนี้แล้ว เราจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้บ้านเมืองเราดีขึ้น ก็อยู่ต่อ สำหรับเราในการเป็นประเทศๆ หนึ่ง มันอยู่ที่ประชาชนในประเทศเลือกอะไร ถ้าคนส่วนใหญ่เลือกจะเป็นเผด็จการ แล้วเราจะเป็นประชาธิปไตย แล้วเสียงของเราแพ้ เราก็ถูกเขาจูงไป แต่ถ้าเสียงของเราเยอะกว่า เขาก็ต้องอยู่กับประชาธิปไตย ใช่เปล่า
ในวันนั้น เมื่อเราเลือกจะเป็นประชาธิปไตย เขาเลือกจะเป็นเผด็จการ และเลือกจะฆ่าเรา แล้วเราไม่มีปัญญาสู้ ก็ตาย จบ เพราะฉะนั้น เวลานั้นไม่คิดอะไร เออกูตายแน่ ตายก็ตายวะ แต่ให้อยู่อย่างเผด็จการเราไม่อยู่ เราเลือกขอเป็นประชาธิปไตย ถ้ามันเป็นไม่ได้ ตายก็ได้ ไม่แปลก
จริงๆ ไม่สนใจ เพราะว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เข้าใจว่าเป็นการใส่ร้ายของทหาร เป็น IO เพื่อให้ประชาชนต่อต้านพวกเรา
IO มันทำลายความเป็นมนุษย์ เราเคยเป็นพยาบาล เรารู้ ไม่ว่าคุณจะเป็นทหารหรือเป็นตัวอะไรก็แล้วแต่ อาชีพอะไรก็ได้ คุณเป็นมนุษย์ การเป็นมนุษย์ปกติที่ไม่ได้เป็นโรคจิต ไม่ได้เมายา ไม่ได้โกรธแค้นจนขาดสติ คนปกติฆ่ากันไม่ได้
เวลาคุณโกรธไปซัดใครสักเปรี้ยง เห็นเลือดมันไหล ดิ้นลงไปกระแด่วๆ คุณใจเสียแน่ๆ มันน้อยมากที่จะสะใจ คนปกติที่จะไปเข่นฆ่ากันมันยาก ทำไม่ได้
เวลาคุณเห็นคนฆ่ากัน รุมกระทืบจนตาย คุณคิดไหมว่าเขาเป็นพ่อใคร เป็นสามีใครบ้าง ลูกเมียเขารออยู่ ถ้าเป็นลูกใคร เขาอาจจะเลี้ยงพ่อแม่ของเขาอยู่ สิ่งที่เราอยากบอกคือ IO ของทหารมันทำลายความยับยั้งชั่งใจ ยิ่งคุณเกลียดมากเท่าไหร่ การฆ่ากันมันจะง่ายขึ้น
ช่วงที่ผ่านมา ตอนที่เด็กๆ โกรธแค้น เราถึงพยายามห้ามเด็กๆ อย่าไปคล้อยตามสิ่งที่รัฐมาปั่น มันเหมือนเป็ดไก่ในเข่งที่เขาเตรียมเอาไปเชือด แล้วสุดท้ายตีกันเองตายก่อน
วันนั้นคิดว่าไหนๆ ก็เมื่อแพ้ ไม่อยากกลับบ้านอย่างผู้แพ้ บอกตรงๆ เพราะทั้งซอยบ้านเรานี่พวกเหลืองอร่ามตั้งแต่ปากซอย เราก็ขอตายตรงนี้จบหมดเรื่องไปดีกว่า ถ้าพวกเขามีความสุขก็อยู่กันไป ถ้าสิ่งที่เราทำแล้วสังคมตัดสินว่าผิด ผิดก็ผิด ตายก็ตาย ติดคุกก็ติดคุก ไม่ว่ากัน
จริงๆ ที่นั่งอยู่วันนั้นไม่มีความเกลียดอะไรใครนะ สู้แพ้ก็จบ ตายก็ตาย มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ เราบอกทางบ้านก่อนแล้วว่าถ้าเราไม่ได้กลับ ให้เขาแทงศูนย์ได้เลย ทำบุญให้หรือยังไงก็ได้ ไม่ต้องมานั่งโศกเศร้าตามหา เพราะเราคิดว่าทหารคงจะเอาไปหมกป่า ในแง่หนึ่งก็ดีเหมือนกันไม่ต้องเปลืองค่าทำศพ ประหยัด
แต่พอนักข่าวเขามาคุยเสร็จ เขาจะออก เราคิดอยู่แป๊บนึงก็ตามเขาไป เพราะว่าถ้าไม่ตาม เขาก็จะเดินเข้าเดินออกไง เราก็กังวลว่าเราจะเป็นภาระเขา เด๋ยวเขาพลอยจะมาตายกับเราด้วย ใช่เรื่องที่ไหน
จากนั้นน้องนักข่าวผู้หญิง ขาก็ไปหาเสื้อผ้ามาให้เปลี่ยน “พี่ใส่เสื้อแดงแบบนี้ไม่ได้” พอเราตัดสินใจว่าจะกลับ เราก็ต้องรักษาชีวิตเรา
ตอนมองไปทางที่เราจะออกไปทางเส้นหน้าวัดปทุมฯ เหมือนมีทหารกำลังเดินพุ่งมาทางเรา เราก็เลยมุดลงใต้เวทีไปถอดเสื้อแดงทิ้ง แล้วก็ใส่เสื้อขาวมุดตามนักข่าวออกไป
ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปกับนักข่าว เขาให้ไปพักบ้านเขา แต่พยายามไม่จำเพราะกลัวถ้าถูกจับได้ นักข่าวจะซวยถ้าราถูกจับ วันนั้นคิดแค่ไม่อยากให้สาวถึงเขาได้ก็เลยไม่มองทางเลย พอไปถึงบ้านเขาก็เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วก็ออกมานั่งแท็กซี่กลับมาบ้าน
ส่วนใหญ่ก็เงียบลง จากที่เคยกระแนะกระแหน ก็น้อยลง แต่ว่าก็ยังไม่ชอบ “ทักษิณ” ไม่ชอบ “ธนาธร” อยู่ปกติ จากที่ให้เราเป็นควายแดงก็กลายเป็นพวกสามกีบไป (ยิ้ม)
เพราะคนมันไม่เหมือนกัน ซอยบ้านเราส่วนใหญ่ก็เป็นคนแก่ที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไร คนดั้งเดิมรับราชการ มนุษย์เงินเดือน ใช้ชีวิตรับคำสั่ง ชินกับชีวิตที่อยู่ใต้คำสั่ง และสมาทานความดี ศีลธรรม อยู่ในกรอบที่อบรมกันมา ไม่นอกคอก พ่อแม่สอนมาอย่างไรก็อย่างนั้น เขามีความเชื่อว่าสังคมที่เป็นมาดีแล้ว ถ้ามีใครตั้งคำถามจะเป็นพวกที่ชอบความวุ่นวาย ไม่รักดี แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือในเชิงส่วนตัว พวกนี้ไม่ได้คิดร้ายกับเรา เพียงแต่ขัดหูขัดตาบ้าง เขาเหลืองเขาก็ไม่คิดฆ่าเรา มันก็อยู่กันไปแบบนี้
แต่บ้านเราไม่ใช่ อยากทำอะไร ถ้าตัวเองว่าใช่ ใครจะชอบไม่ชอบไม่สนใจ เราจะทำอะไร ชาวบ้านจะชมหรือจะด่าก็ไม่สนใจ
พ่อเป็นนักหนังสือพิมพ์ ป้าเป็นลูกรัก ลูกคนโต เวลาไปไหนเขาหนีบไปด้วย เวลาเขาไปตั้งวงดื่มกับเพื่อน ป้าก็นั่งฟังเขาไปด้วย พอได้ฟังเยอะมันก็เสรี พ่อแม่ไม่ค่อยจู้จี้ให้อยู่ในกรอบ เป็นคนที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน (ยิ้ม)
ป้าโตมากับการอ่านหนังสือ ที่บ้านจะอ่านหนังสือทุกคน แต่ก่อนเงินไม่มี อาหารการกินไม่ได้สุขสบาย แต่พ่อจะเอาหนังสือจากโรงพิมพ์มาให้อ่านตลอด พี่น้องก็นอนเรียงกันเป็นลูกระนาดอ่านหนังสือกันทุกคน
เพราะว่าคนรุ่นป้าส่วนใหญ่พ่อแม่ชอบสั่งสอนไง คนดีต้องเรียบร้อยนะลูก ต้องสุภาพ ต้องประจบประแจงผู้ใหญ่ ต้องมืออ่อน ซึ่งป้าเสียมารยาทหมด เพราะฉะนั้นป้าก็จะเข้าหาผู้ใหญ่ไม่เป็น เข้าสังคมไม่เก่ง คือแกจะไม่รักฉันก็อย่ารัก ในขณะที่คนทั่วไปจะสอนลูกให้ต้องเสแสร้ง ต้องไม่เป็นตัวของตัวเองเพื่อให้อยู่ได้ในสังคม มันก็ฝากฝังกันมารุ่นต่อรุ่น
ทีนี้เด็กรุ่นที่ออกมาวันนี้ เขาโตมากับโลกที่ใช้เหตุผลมากขึ้น เขาอยู่ในยุคที่คนส่วนใหญ่กล้าคิดกล้าทำและกล้าออกนอกคอก เขาก็ถึงได้เป็นกันอย่างนี้ ซึ่งก็ดี เพราะว่าเขาคิดทำในสิ่งที่คนเก่าๆ แก่ๆ คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร
ไม่รู้จะไปทางไหน มันเป็นความหมดอาลัยตายอยาก สังคมก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว ช่างมัน แต่พอเด็กออกมามันไม่หมดหวัง ประเทศนี้ไปต่อได้ ไม่ใช่แค่เรื่องการต่อสู้ทางการเมือง แต่การแสดงออกของเด็กๆ เขาแสดงออกถึงปัญญาไหวพริบที่จะต่อสู้กับโลก เพราะว่าคนไทยเสียเปรียบชาวโลกอยู่ที่ไม่ทันชาวบ้าน ค้าขายก็ไม่ทันคนจีน แม้แต่ลูกจีนในไทย พอค้าขายกับคนจีนแล้วความกล้าได้กล้าเสีย ความตื๊อ ความอึด ความถึกทนสู้เขาไม่ได้
เพราะฉะนั้นคำนินทาที่ว่าก็แค่คำนินทาไง ถ้าเด็กพวกนี้ยังยืนหยัดอยู่ได้แล้วก็ช่วยกันผลักให้เขาก้าวไปได้เรื่อยๆ คำนินทาเดี๋ยวมันก็หาย เพราะผลงานของเด็กๆ จะลบคำนินทาไปเอง
สิ่งที่คนเสื้อแดงทำไว้ในอดีตคือเรียกร้องว่าอำนาจเป็นของประชาชน ความยุติธรรมต้องกลับมา ประชาธิปไตยต้องไปต่อ
สิ่งเหล่านี้เด็กๆ รับไปสานต่อเพราะมันเป็นเรื่องเบสิก ไม่อย่างนั้นคุณจะเป็นอะไร จะไปเป็นคอมมิวนิสต์เหรอ เพราะฉะนั้นเราก็ภูมิใจที่มีคนเข้าใจแล้วว่าเราทำอะไร เขาเข้าใจว่าเราไม่ใช่คนเผาบ้านเผาเมือง เราแค่เรียกร้องในสิ่งที่ธรรมดาที่สุด
แน่นอนเราดีใจที่เขาลุกขึ้นมา ถ้าไม่มีคนลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกเลย คนรุ่นหลังจะไปทางไหนล่ะ ก็ราบเรียบแล้วก็โดนกลืนกลับไป สิ่งที่เราห่วงมากกว่าคือเราจะต้องไม่โดนเผด็จการกลืน
พวกเขาคือความหวัง แต่เราก็ไม่ควรเป็นภาระให้เขาแบก ต้องเดินไปด้วยกัน ดันกันไป ถ้าเขาเป็นหัวหอกแล้วเราก็เป็นพลังขับเคลื่อน ไม่ใช่เป็นสมอที่ถ่วงเขา ไม่ใช่ว่าฉันหงิกง่อยไม่ทำอะไรเลย เธอลากฉันไปที แบบนี้ไม่ได้ มันต้องก้าวไปด้วยกัน
ในการเป็นอะไรทั้งหมด ก็เหมือนเสื้อผ้า คนเดือนตุลาเขาก็ใส่ชุดคนเดือนตุลา พอผ่านมาจนปี 2535 เขาก็เปลี่ยนไปเป็นชุดของคน 35 แต่ตัวตน เนื้อหาชีวิต ก็คือคนๆ นั้นแหละ หรือเขาจะมาเป็นคนเสื้อเหลืองที่ก่อนจะมาเป็นคนเสื้อแดง ก็คือตัวตนที่เปลี่ยนชุดมาเรื่อยๆ แต่ด้วยเจตนารมณ์คือต้องการสิ่งที่ดีกว่า อยากให้ประเทศชาติของตัวเอง ชีวิตของตัวเองดีขึ้น ไม่มีใครหรอกที่อยากให้ชีวิตตัวเองชั่วร้าย เพียงแต่ที่ผ่านมาบางคนเปิดประตูไม่ถูกบาน
เพราะมันไม่จำเป็นว่าเราต้องใส่เสื้อผ้าชุดเก่าไปเล่นละครเรื่องใหม่ ไปแสดงบทใหม่ การที่เราไปเป็นมวลชนของเด็กก็ไม่ได้แปลว่าคนเสื้อแดงหายสาบสูญ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องถือธงเสื้อแดงนำเด็ก เพราะเราเป็นคนตาม นี่มันยุคสมัยของเด็ก ต้องให้เด็กเขานำ ไม่ใช่มายกพวกตีกันเอง
คุณต้องเข้าใจนะ เวลาเราลงเรือลำหนึ่งที่มันทะลุจนโบ๋แล้ว ต่อให้มันเคยฆ่าพ่อเรา ถ้ามันลงมาช่วยกันอุดรูรั่วเพื่อให้เรือมันไปต่อได้ คุณยังจะไล่ฆ่ากับมันไหม แล้วปล่อยให้เรือมันจมไปเลย คุณเอาแบบนั้นไหม
ก็อย่าไปตายใจสิ ตีนก็มีเหมือนกัน นึกออกไหม
คุณทำธุรกิจ เวลาคุณซื้อขาย คุณขายแต่กับคนที่คุณรักเหรอ ไอ้นี่รักมากเลย ขายให้ ไอ้นั่นไม่รักไม่ขาย ปล่อยให้ของเน่าคาหม้อไปเลย ในการใช้ชีวิตน่ะมันก็ทำไม่ได้
ไม่รู้นะ เราเรียนพยาบาลมา มันถูกสอนให้ยอมรับความเป็นตัวตนของคนแต่ละคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน คุณทำงานกับคน ดูแลคน สิ่งที่คุณทำไม่ใช่แค่อาชีพ นึกออกไหม เพราะฉะนั้นการดูแลคน จะทำอะไรควรต้องนึกถึงความเป็นคนของเขาก่อน
เช่น อย่างจะเช็ดตัวเขาไม่ใช่จับเขาแก้ผ้าอล่างฉ่างแล้วเช็ดๆ เพื่อให้งานมันเสร็จ คุณต้องนึกถึงสภาพความเป็นคน เขาต้องอาย คุณต้องปกปิดเขา แล้วถึงเขาไม่รู้สึกตัว คนอื่นเห็นก็อาจเอาไปนินทาได้ ดูสิ คนนั้นนอนแก้ผ้า คุณต้องนับถือความเป็นมนุษย์ของคน ทั้งรู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว ตราบใดที่เขายังมีลมหายใจ
แม้แต่ศพก็ยังเป็นศพของมนุษย์นะ เพราะฉะนั้นเนี่ย จะเป็นพระก็คน เป็นโจรก็คน เป็นตำรวจก็คน คนมีศักดิ์ศรี มีความนับถือตัวเอง
แต่ละคนแสดงบทบาทต่างกันไปในช่วงเวลาหนึ่ง และทุกคนรักชีวิต ถ้าคุณโดนกระทำจนขี้ขึ้นสมอง คุณก็ต้องรักษาชีวิตก่อน ไม่มีใครช่วยคุณได้ ประเด็นคือใครจะเปลี่ยนข้างมันเรื่องของเขา เวลาที่คุณคิดเหมือนเรา คุณมาเดินกับเรา เราก็ร่วมเป็นร่วมตาย เราไม่ทรยศคุณ ในวันคุณแพ้ ถูกจับเป็นเชลย เราเข้าใจ
นึกถึงทหารสมัยก่อนนะ เวลาที่สองเมืองรบกัน พอเมืองที่ชนะจะเกณฑ์ไพร่พลจากคนที่แพ้ไป แล้วให้คนพวกนี้ต้องไปรบ เป็นแนวหน้าให้เมืองที่ชนะ เขาต้องสู้เพื่อตัวเขาเอง ถึงเขาจะไม่ได้เกลียดศัตรูอีกเมืองที่เขาไปตีแต่เขาก็ต้องสู้เพื่อจะไม่ให้ตัวเองถูกฆ่า มันก็แค่นั้น ไอ้เรามีหน้าที่ต้องป้องกันตัวเราเอง ไม่ใช่ให้ศัตรูมาปกป้องเรา
เพราะฉะนั้นวันที่เพื่อนคุณกลายเป็นศัตรู คุณโกรธก็ได้ คุณเกลียดก็ได้ แต่คุณจะไปหวังให้มันมีเรื่องดีๆ เพื่อว่าเพื่อนคุณไม่ทำร้ายคุณมันเป็นไปไม่ได้ เขาเปลี่ยนไปแล้ว วันนี้เขาก็ไม่ใช่เพื่อน แล้วเขาก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าศัตรูคนไหน ก็แค่ศัตรูคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องตามไปเกลียดเป็นพิเศษ หรือเอาเข้าจริงก็ไม่จำเป็นต้องรักใครเป็นพิเศษ
สิ่งนี้ไม่ได้เพ้อฝัน เขาไม่ได้ไปดูละครแล้วมาเสนอ เขาศึกษามาแล้วทั้งหลักการและความจริง
หนึ่ง ประยุทธ์ต้องออกไป เพราะตอนที่ประยุทธ์รัฐประหาร ป้าแก่ป่านนี้แล้ว ป้ารู้ว่ารัฐบาลทั้งหลาย ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ความเลยร้ายหลายๆ อย่างมันทำไม่ได้ เพราะตัวเองต้องอาศัยเสียงจากประชาชน ใช้เงินภาษีจากประชาชน พอมีวิกฤตก็แก้ไขสถานการณ์ไม่ได้ อยู่ต่อไปประเทศชาติยิ่งพินาศ ออกไปเหอะ อย่าอยู่เลย
สอง รัฐธรรมนูญนี้ (2560) มันรัฐธรรมนูญโจร เลี้ยงสารพัดสัตว์ ทั้งสัตว์ ทั้งผีปอบ กระสือ เด็กๆ ขอให้ทำใหม่ให้มันเป็นประโยชน์ที่ประชาชนรับได้ คือจ่ายภาษีแล้วเราควรจะได้อะไรบ้างมีชีวิตอยู่อย่างคน ไม่ใช่อยู่อย่างเปรตขอส่วนบุญ
สาม สภาพราชวงศ์ตอนนี้กำลังเปลี่ยนไป ป้าเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก ถามว่ารักไหม เคยรักมาก พอวันที่คนกลุ่มหนึ่งไล่ให้คนที่คิดต่างออกไปอยู่นอกประเทศมันรันทดนะ
แผ่นดินที่เราเกิดมา ทุกคนต้องมีสิทธิ์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นโจรหรือเป็นพระ เป็นตำรวจหรือเป็นชาวบ้าน คุณเกิดมาแล้วคุณต้องมีสิทธิ์อยู่ ไม่ควรที่จะใครจะไม่ได้อยู่ในประเทศของตัวเอง
บ้านเมืองเรามันมีแค่สามอย่าง หนึ่ง เธออยู่ฉันอยู่ เราต่างมีความสุขตามสภาพของตัวเอง สอง เธออยู่ฉันตาย สาม ฉันอยู่เธอตาย แต่สภาพที่เป็นอยู่มันอยู่ไม่ได้ ที่ต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ทุกวันนี้ประชาชนปรับปรุงตัวเองเยอะมาก คนอื่นก็ต้องปรับปรุงตัวเองเหมือนกันที่จะอยู่ในโลกนี้ให้ได้
ป้าไม่ชอบโกหก ป้าพูดที่เด็กพูดนี่แหละ ไม่รู้ว่าจะโกหกทำไม คนเราเดี๋ยวก็แยกย้ายกันตายแล้ว มีใครอยู่เกินร้อยปีได้บ้าง
ความรู้สึกป้าต่อ “เพนกวิน” “รุ้ง” หรือน้องๆ คนอื่น คือเขามีลักษณะเหมือนพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญเพียรนะ คืออยู่เฉยๆ ให้มีความสุขไม่ได้ เห็นใครทุกข์ต้องวิ่งเข้าไปช่วย นี่เป็นลักษณะของพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีปัญญาพิเศษกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นการที่เขาต้องผจญอะไร มันอยู่ที่เขาเลือกเอง เราจะไปบอกว่าอย่าทำเลยนะหรือทำเหอะก็ไม่ใช่ เวลานี้พวกเขากำลังผจญมาร แต่เราก็ไม่รู้ว่าตอนจบมันจะอย่างไร รู้เพียงว่าต้องจบในแต่ละตอน ตอนป้าเสื้อแดงมันก็จบไปตอนนั้น ตอนนี้เป็นตอนของรุ่นเพนกวินและเพื่อนๆ ของเขา อนาคตก็เป็นตอนของอนาคต
สังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ประชาชนเองก็ต้องสู้ไป เอาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ชีวิตตัวเอง ไม่มีอะไรมาหล่นมาจากสวรรค์หรอก
ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง