ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าของฟาร์มผักยอมรับเคยเป็น ผอ.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ทำให้ต้องแบกหัวโขนในช่วงแรกที่เปลี่ยนมาเป็นเกษตรกร พร้อมย้ำว่าทุกคนสามารถหันมาปลูกผักได้ แค่ต้องวางแผน และไม่ทำอะไรแบบกระทันหันเกินไป

หลังจากอุตสาหกรรมโรงแรมต้องหยุดชะงักมานานนับเดือน เซ่นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

'ทีมข่าววอยซ์ออนไลน์' สัมภาษณ์พิเศษ 'มนู ชัยอมรเวทย์' เจ้าของฟาร์ม Hydro Green Garden และอดีตผู้บริหารระดับสูงฝ่ายทรัพยากรบุคคลของเครือโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่ผันตัวออกมาเป็นเกษตรกรในช่วงก่อนที่วิกฤตล่าสุดจะมาเยือนอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศอย่างการท่องเที่ยว

'มนู' อธิบายให้ฟังว่า ตัวเขาเองเลือกหันหลังให้กับวงการโรงแรมช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในครั้ง โดยมีแรงจูงใจหลักมาจากสภาพการทำงานที่เครียดจนแทบจะทนไม่ไหวซึ่งบั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ 

ย้อนกลับไปในวัยปลายสามสิบย่างเข้าเลขสี่ 'มนู' ที่ไต่เต้ามาจากการเป็นนักศึกษาฝึกงาน ไล่มาเรื่อยๆ จนขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้จัดการ และมาถึงตำแหน่งสูงที่สุดในสายบริหารอย่างผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะสะท้อนความสำเร็จได้ไม่น้อย ประกอบกับเงินเดือนในเลขหกหลักเองก็ทำให้เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างไม่ลำบาก แต่สิ่งที่ต้องแลกมาเบื้องหลังความสวยงามเหล่านั้นกลับเป็นการประชุมอย่างน้อยวันละ 3 - 4 ครั้ง และแม้แต่ตอนลาพักร้อน ตัวเขาก็ยังไม่สามารถสลัดภาระการงานออกไปจากหัวสมองได้

ยิ่งเมื่อต้องทำงานกับคนเป็นหลัก ปัญหาที่ 'มนู' ต้องคอยแก้จึงมีใหม่มาแทบทุกวัน วันละไม่ซ้ำอย่างกัน เจ้าของฟาร์มผักอธิบายให้เราฟังว่า สิ่งที่ ผอ.ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องรู้มันลึกลงไปถึงถ้าพนักงานคนนี้ถูกลูกค้าต่อว่าว่าไม่ยอมยิ้ม ผอ.ต้องรู้ให้ได้ว่าทำไมพนักงานคนนั้นไม่ยิ้ม มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือมีปัญหากับครอบครัว ซึ่งทุกอย่างต้องไม่เล็ดลอดเลย และนั่นคือพนักงานนับร้อยๆ คน อีกทั้ง ตนเองยังต้องคอยแบกรับภาระด้านอารมณ์จากทีมบริหารฝ่ายอื่นๆ ไปจนถึงเจ้าของเช่นเดียวกัน

"เราแก้ไขปัญหาแบบเรา มีความคิดแบบนี้ เปลี่ยนความคิดของเจ้าของไม่ได้ เปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้" มนู กล่าว


อย่าเริ่มเร็วเกิน

จุดเริ่มต้นของการหันมาทำฟาร์มผักนี้เกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน ทั้งหน้าที่การงานที่มีความเครียดสะสม ประกอบกับช่วงนั้น 'มนู' ชี้ว่าภรรยาของเขาหันมาศึกษาการปลูกผักบ้างแล้วแต่ก็มีเป้าหมายแค่อยากจะลองปลูกกินเอง ซึ่งในช่วงแรก แม้จะพยายามปลูกแค่ไหน ตระเวณไปดูงานฟาร์มปลูกผักแทบทุกจังหวัดในช่วง 2 ปีแรก ก็ปลูกไม่ขึ้นสักที 

จนเริ่มเปลี่ยนจากการหาความรู้จากฟาร์มทั่วไป ไปยังแหล่งนำแนวความรู้การปลูกดผักสลัดไฮโดรโปนิกส์เข้ามา ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาเป็นตำราละเอียดยิบตั้งแต่ต้นจนจบของการปลูกผักชนิดนี้ 2 เล่ม แต่เพราะความหนาของตำรานั้น "เอามาอ่านไม่ถึง 2 ชั่วโมง ก็โยนทิ้งแล้ว อ่านไม่ไหว อ่านไม่ไหวก็เลย สักพักนึงก็คิดวาจะเลิกปลูกแล้ว"

อย่างไรก็ตาม หลังอุตส่าห์สู้พยายามมาตลอด 2 ปี 'มนู' ชี้ว่าตัวเขาเองและภรรยาจึงเริ่มสู้ใหม่อีกครั้ง และแทนที่จะอ่านตำราหลายร้อยหน้าให้หมดแล้วมาลองปลูก จึงลองเลือกเฉพาะหัวข้อที่สนใจคือ 'ปุ๋ยผัก' แล้วเริ่มทำการทดลอง ผสมปุ๋ยดูว่าสูตรไหนให้ผลลัพธ์แบบไหนไปสักพัก จนเริ่มเห็นผลผลิตเติบโต

จากนั้นไม่นานตนเองจึงลองตลาดด้วยการนำผักที่ปลูกได้เหล่านั้นไปตั้งขายหน้าบ้านธรรมดาเลย ซึ่งมนูยอมรับว่าตอนเองรู้สึกฝืนๆ และไม่ชินที่จะต้องเปิดหน้าบ้านขายผักแบบนั้น เพราะยังติด 'หัวโขน' ในหน้าที่การงานที่เคยทำมาให้อดีต

ผัก-ออแกนิค-สวนผัก
"ครั้งแรกเลยนะ ผมอายมาก อายเพราะเราต้องเอาผักออกไปขายเป็นพ่อค้า" มนู กล่าว

ตอนนั้นเขาเองมองว่า ตนเคยเป็นคนที่นั่งโต๊ะบริหารประชุมกับลูกน้องหลายคน นั่งกับเจ้าของที่มีทุนนับพันล้านบาท แล้ววันนึงต้องเอาผักไปขายเป็นพ่อค้า มันรู้สึกฝืนๆ ในช่วงแรกๆ แต่เมื่อทำไปได้สักพัก ความรู้สึกแบบนั้นก็หายไป ประกอบกับรายได้ที่เริ่มเข้ามาสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่เท่ากับระดับรายได้ในการเป็นผู้บริการแต่เมื่อมาชั่งน้ำหนักกันแล้ว การไม่ต้องเครียดกับการงานตลอดเวลา และมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เป็นสิ่งที่มนูมองว่าเป็นผลกำไรมากกว่า

ซึ่งกว่าจะตัดสินใจเดินออกมาจากวงการโรงแรม ตัวเขาเองก็ใช้เวลาราว 2 ปีกว่า ตั้งแต่วันแรกที่ปลูกผักไม่ขึ้นและมีเวลาเข้ามาดูแลแปลงผักของตัวเองแค่ช่วงเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น 

มนู ระบุว่า "สิริรวมแล้วก็น่าจะประมาณ 7 ปีแล้ว ใน 7 ปี คือ 2-3 ปีแรกยังทำงานอยู่ ไม่ได้ทิ้งมา งานยังไม่ได้ออกทีเดียวนะ ยังไม่ได้หักดิบออกมา ทำงานไปด้วยแล้วก็หาองค์ความรู้ทำมันไปด้วย นั่นแหละรวมเบ็ดเสร็จของฟาร์มเราประมาณ 7 ปีแล้ว"


ปลูกแล้วจะเอาไปขายใคร

สำหรับคำถมยอดฮิตนี้ 'มนู' เล่าให้เราฟังอย่างสนุกว่า "ใครๆ ก็ถามคำถามนี้" ทั้งคนที่มีที่มีทุนพร้อมปลูก ไปจนถึงคนที่ยังไม่มีอะไรเลย ซึ่งแท้จริงแล้ว กลุ่มลูกค้าที่พรอมจะซื้อมีอยู่แล้ว ทั้ง โรงแรม ร้านอาหาร ครัวเรือน หรือขายเพื่อนำไปแปรรูป แต่หลักใหญ่ใจความอยู่ที่ฟาร์มแต่ละแห่งจะเลือกช่องทางติดต่อเข้าไปหากลุ่มเป้าหมายเหล่านี้อย่างไร

เกษตรกรผู้ผลิตยังจำเป็นต้องดูแลต้นทุนอย่างใกล้ชิดด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูกาลของผักเหล่านี้ ที่ผลผลิตจะไม่ได้ขนาดสวยตามที่ต้องการ ซึ่งจะสงผลต่อราคาขายที่ลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่าค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน หรือค่าปุ๋ยต่างๆ ยังคงเท่าเดิม ซึ่งในกรณีฟาร์ม Hydro Green Garden นั้น เขาบอกว่า กำไรจริงๆ ที่ฟาร์มได้อยู่แค่ต้นละ 1 - 2 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ แม้ตัวเขาเองจะรู้จักกับเครือข่ายโรงแรมอย่างกว้างขวาง แต่เขาก็ไม่คิดจะพาผลผลิตของฟาร์มตัวเองเข้าไปขายในขนาดใหญ่ขนาดนั้นเนื่องจากจะเป็นการบีบตัวเองมากเกินไป และมองว่ากำลังการผลิตของฟาร์มตัวเองยังไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการปริมาณมากขนาดนั้นได้ 

ผัก - ออแกนิค - สวนผัก

'มนู' ทิ้งท้ายกับทีมข่าวว่า การปลูกผักเป็นเรื่องยากแต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ แต่ต้องวางแผนให้ดี และย้ำว่าไม่ควรตัดสินใจกระทันหันแล้วทิ้งอาชีพเดิมมาเป็นเกษตรกรเลย แบบนั้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะล้มมาก ให้ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดที่ตัดสินใจได้แล้วว่าจะไปต่อในอาชีพเดิมตัวเอง จะผันตัวมาทำเกษตรทั้งหมด หรือจะทำควบคู่กันไป เมื่อนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเอง