ไม่พบผลการค้นหา
จากผลการทดลองตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกวางของทีมนักวิจัยนิวยอร์กล่าสุดพบว่า กวางหางสีขาวจำนวนมากในนิวยอร์กของสหรัฐฯ มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 ทำให้มีหลักฐานว่าเชื้อโอไมครอนกำลังแพร่ระบาดในกวาง ซึ่งมีประชากรกว่า 30 ล้านตัวในสหรัฐฯ ซึ่งกวางเหล่านี้อาจเป็นแหล่งกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อโควิด-19

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตทำการตรวจเลือดและสารคัดหลั่งในจมูกของกวางจำนวน 131 ตัวทั่วเกาะสแตเทนของนิวยอร์ก ก่อนจะพบว่ากวางจำนวน 15% มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ว่า กวางเหล่านี้เคยติดเชื้อโควิด-19 และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำจากเชื้อกลายพันธุืใหม่อีกรอบ

“การแพร่ระบาดของไวรัสในประชากรสัตว์ มักเพิ่มความเป็นไปได้ต่อ (การติดเชื้อ) กลับมายังมนุษย์ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ มันยังจะเอื้อต่อโอกาสที่ไวรัสจะพัฒนาตัวเองไปสู่สายพันธุ์ใหม่” สุเรศ คูชิปูดี นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตตระบุ

คูชิปูดีย้ำว่าเมื่อไวรัสได้กลายพันธุ์ใหม่ มันจะทำให้ตัวไวรัสชนิดใหม่นี้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มีจากวัคซีนที่ใช้ฉีดกันในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น “เราจึงจะต้องเปลี่ยนวัคซีนกันอีกรอบ” คูชิปูดีชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคต หากการแพร่ระบาดในกวางจำนวนมากอาจนำไปสู่เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่

การค้นพบเชื้อโอไมครอนในกวางครั้งนี้เป็นการพบการติดเชื้อโอไมครอนครั้งแรกในสัตว์ป่า หลังจากเกิดการติดเชื้อโอไมครอนในประชากรมนุษย์ของสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานว่ามีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จากสัตว์มาสู่คนอย่างชัดเจน แต่รายงานกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุว่า โควิด-19 ส่วนใหญ่ที่ติดในสัตว์ เกิดขึ้นจากการที่สัตว์เหล่านั้นสัมผัสใกล้ชิดกับมนุษย์

เมื่อเดือน ส.ค.ของปีก่อน รัฐบาลสหรัฐฯ ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ในกวางป่าเป็นครั้งแรกของโลกในโอไฮโอ ทั้งนี้ การติดเชื้อโควิด-19 ในสัตว์เกิดขึ้นในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว เสือ สิงโต เสือดาว นาก ลิงกอริลลา ตลอดจนมิงค์

ที่มา:

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/discovery-omicron-new-york-deer-raises-concern-over-possible-new-variants-2022-02-08/?utm_campaign=trueAnthem%3A%20Trending%20Content&utm_medium=trueAnthem&utm_source=facebook&fbclid=IwAR0KLWvvTRNLLN_ZjnwvAOtzzEykswT02IZ-2b4wS_C2qz8EWsnTr0qmV68