ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำศรีลังกาย้ายรัฐมนตรีสาธารสุขเข้ากรุ เหตุให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด หนุนใช้ไสยศาสตร์รับมือระบาด

ประธานาธิบดีโกตาเบยา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศเมื่อ16 สิงหาคมที่ผ่านมา สั่งย้ายนางปวิธรา วันเนียราชชี (Pavithra Wanniarachchi) พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเธอมีจุดยืนแบบผิดๆ ด้วยการใช้ไสยศาสตร์สนับสนุนการรักษาโควิด ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศเผชิญยอดเสียชีวิตทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่พบการระบาด

รายงานระบุว่า ระหว่างการแถลงข่าวสำนักประธานาธิบดีศรีลังกาได้มีการแจกประวัติด้านสุขภาพของเธอให้แก่สื่อมวลชนด้วย โดยข้อมูลระบุว่า วันเนียราชชี เคยเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากติดเชื้อโควิด ทว่าช่วงที่ติดเชื้อแรกๆ ก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น เธอกลับทิ้งการรักษาด้วยยาด้านการแพทย์ แต่กลับไปใช้ยาผีบอกที่ผ่านการปลุกเสกโดพ่อมดหมอผีในการรักษาแทน จนกระทั่งต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนพฤศจิกายนเธอยังได้เท "น้ำศักดิ์สิทธิ์" ลงในแม่น้ำสายสำคัญของเมือง โดยอ้างว่าน้ำนี้ได้รับการปลุกเสกจากเทพบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ระบาดของโควิดในศรีลังกาดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนี้จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างมาก เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าเหตุใดรัฐบาลศรีลังกาจึงปล่อยให้เธอผู้นี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญในห้วงเวลาที่ประเทศกำลังซึ่งมีประชากร 21 ล้านคนกำลังเผชิญวิกฤต โดยจากรายงานระบุว่า สำนักประธานาธิบดีไม่ได้มีคำสั่งปลดเธอออกจากงานด้านการเมือง เธอยังคงมีบาทบาทในคณะรัฐมนตรี เพียงแต่ประธานาธิบดีมอบหมายงานที่มีความสำคัญน้อยลงให้กับเธอ

สำหรับศรีลังกา มีผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิดเพิ่มถึง 150 รายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมรุหลายแห่งของเมืองโคลัมโบ เต็มไปด้วยศพที่รอการเผา ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึงกว่า 3,000 ราย โรงพยาบาลต่างๆแทบไม่อาจรับมือผู้ป่วยใหม่ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงอาจ สูงกว่านี้หลายเท่า

แม้สถานการณ์ในศรีลังกาจะเข้าขั้นวิกฤต แต่รัฐบาลก็ปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้มีการล็อกดาวน์ มีแต่เพียงการเพิ่มการบังคับใช้ข้อจำกัดที่เข้มงวดขึ้น อาทิ การห้ามจัดงานสมรสหรืองานเลี้ยง ตลอดจนงานรัฐพิธีและห้ามการรวมตัวชุมนุมในที่สาธารณะจนถึงวันที่ 1 กันยายน ส่วนร้านค้า ร้านอาหาร มีการจำกัดเวลาให้บริการ และมีการบังคับใช้เคอร์ฟิวในช่วงเวลากลางคืน

ที่มา: AFP