ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุด สาเหตุหนึ่งเนื่องจากการเกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญเก่า และรัฐบาลทหารก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารเองก็มีวิวัฒนาการแบบใหม่ๆเพื่อปิดบังซ่อนรูประบอบอำนาจนิยม โดยรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 อันเป็นผลพวงจากรัฐประหารปี 2549 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นผลพวงรัฐประหารปี 2557 ล้วนผ่านการออกเสียงประชามติรับรอง

ด้วยอิทธิฤทธิ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนรัฐสภาเป็นไปอย่างยากลำบาก เช่น ต้องใช้เสียง ส.ว. หนึ่งในสามเพื่อรับรอง ในขณะเดียวกันการรัฐประหารเพื่อแก้รัฐธรรมนูญก็มิใช่ทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมจึงเสนอแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญโดยการนำวิธีประชามติกลับมาใช้อีกครั้ง และถ้าประชามติให้มีการแก้แล้วก็จะมีการจัดตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทั่วประเทศเพื่อเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับใหม่ ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกหยิบขึ้นมาอีกครั้งจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ซึ่งวิธีการดังกล่าวส่งผลให้ต้องผ่านการเลือกตั้ง 2 ขั้นตอนคือ ประชามติ และเลือกตั้ง ส.ส.ร.แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญปี40 ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดและเนื้อหาก็ได้สร้างสิทธิต่างๆให้แก่ประชาชน แต่ทว่าการติดกับมายาคติว่า “การร่างรัฐธรรมนูญด้วย ส.ส.ร.เป็นวิธีที่ดีที่สุด” อาจจะส่งผลให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปยากกว่าที่คาดการณ์   

  • วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ลงคะแนนเสียงด้วยมุมมองเศรษฐศาสตร์

“ถึงแม้จะยากดีมีจนชนชั้นต่ำสุดเท่าใด ก็สามารถแสดงพลังที่ตนเองได้ภายในหนึ่งนาที” ถึงแม้การเลือกตั้งเป็นพิธีการชนิดหนึ่งในระบบประชาธิปไตยและมักถูกปรามาสถึงข้อด้อยจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่นี่แหละคือข้อดีของการปกครองระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน ได้แสดงส่วนร่วมในการนำทิศทางประเทศที่ประนีประนอมกับความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มประชากรต่างๆในสังคม

การแพ้ชนะในการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับเสียงประชาชน การศึกษาเรื่องพฤติกรรมผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงเป็นหัวข้อที่วงการวิชาการให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะศึกษาในทิศทางสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จิตวิทยา รวมถึงเศรษฐศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุผลได้ถูกนำมาประยุกต์เพื่อวิเคราะห์การตัดสินใจเลือกของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กรอบความคิดใหญ่ได้แก่ การพิจารณาว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือผู้บริโภคที่มีเหตุผล นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นผู้ผลิตนโยบายต่างๆเพื่อนำไปหาเสียงแคมเปญจน์เลือกตั้งในตลาดการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูง ไม่มีการผูกขาดหรือการใช้กฎกติกาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆอย่างสมบูรณ์ จากสื่อที่ไม่มีการปิดกั้น ก็จะทำการพิจารณาได้เองว่าจะตัดสินใจเลือกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด

ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ เช่น รสนิยมส่วนตัวของผู้ออกเสียง ระดับเศรษฐกิจฐานะและสังคม ระดับการศึกษา ชนชั้นทางสังคม กลุ่มสมาคมต่างๆที่ตนสังกัดอยู่ ทรรศนะคติของคนรอบข้างและชุมชน นโยบายที่ให้ประโยชน์กับตนเองมากที่สุด ช่องทางสื่อต่างๆที่ได้รับ ความน่าเชื่อถือรวมถึงความแน่วแน่ของพรรคการเมืองและนักการเมือง ส่วนนักการเมืองและพรรคการเมืองก็มีจุดประสงค์เพื่อตนเองเป็นหลักคือการชนะเลือกตั้ง และพยายามหานโยบายเพื่อเรียกคะแนนเสียงตามกลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มจะเลือกตนเองมากที่สุด 

รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า.JPG

           อย่างไรก็ตามถ้าวิเคราะห์ตามมุมมองเศรษฐศาสตร์แล้ว กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญด้วย ส.ส.ร. อาจมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้มีอุปสรรคมากกว่าการแก้ด้วยวิธีอื่น

ประยุทธ์-หย่อนบัตร-เลือกตั้ง2562


  • ข้อควรระวังในการแก้รัฐธรรมนูญด้วย ประชามติและ ส.ส.ร.

ประการแรก ไม่มีความชัดเจนระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญกับผลประโยชน์ที่ผู้ออกคะแนนเสียงได้รับ จากที่กล่าวข้างต้นว่าผู้ออกเสียงจะเลือกชุดนโยบายที่ตนเองได้ประโยชน์ที่สุด แต่ทว่าการเลือกประชามติไม่ใช่การเลือกนโยบายเพราะผู้ออกเสียงมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ “แก้ หรือไม่แก้” หรือถ้าตัดสินใจไม่ได้ผู้ลงคะแนนก็จะไม่ออกจากบ้านไปใช้สิทธิ ผลประโยชน์ที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้กระบวนการโน้มน้าวผู้ออกเสียงจึงเป็นไปอย่างยากลำบากกว่า

เป็นไปได้สูงว่าคนที่จะออกมาเลือกตั้งประชามติแก้รัฐธรรมนูญ คือ “คนที่มีคำตอบอยู่ในใจแล้ว” และเป็นกลุ่มคนที่ติดตามเหตุการณ์การเมืองมาโดยตลอด ซึ่งแคมเปญจน์การเลือกตั้งต่างๆและการสื่อสารการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงคะแนนจะไม่มีผลกับคนกลุ่มนี้เท่าใดนัก การหวังว่ากลุ่มคนที่เป็นกลางหรือยังไม่ได้ตัดสินใจจะหันเหมาลงคะแนนเสียงให้เหมือนตอนเลือกตั้ง ส.ส. จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่า ดังนั้นการรณรงค์การแก้รัฐธรรมนูญด้วยวิธี ส.ส.ร. จึงต้องพยายามชี้แจ้งประชาชนหาจุดเชื่อมโยงให้ได้ ระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญกับผลประโยชน์เศรษฐกิจการเมืองที่ประชาชนจะได้รับ

ประการสอง และถ้าสมมติประชามติให้มีการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่าง อย่างไรก็ตามก็มีอุปสรรคสำคัญคือ “จะมีความเชื่อมโยงของ สสร. รวมถึงเนื้อหาที่จะแก้รัฐธรรมนูญ และเจตจำนงของผู้ลงคะแนนเสียงหรือไม่?”

โดยถ้ายึดตัวแบบการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ครั้งก่อน จะมีความแตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปคือ ผู้สมัครต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองและห้ามหาเสียงสื่อสารนโยบายใดๆแก่ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง คำถามที่ตามมาคือเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สสร. ที่เราเลือกจะแก้รัฐธรรมนูญตามแบบอย่างที่เราคาดหวัง? ซึ่งถ้าเป็นปกติทั่วไปแล้วการหาเสียงนโยบายของนักการเมืองเปรียบเสมือนเป็นสัญญาที่ผู้สมัครป่าวประกาศสาธารณะไว้และเป็นข้อผูกมัดให้ปฏิบัติตาม และถ้าเกิดการบิดพลิ้วเมื่อใด ผู้ออกเสียงสามารถลงโทษผู้สมัครคนนั้นๆได้ด้วยการไม่กากบาทในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป

แต่ทว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เป็นการเลือกตั้งครั้งเดียว และไม่ทราบได้ว่าอีกกี่ปี กี่สิบปี จะมีการเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัคร สสร. ก็ไม่ได้เดินทางเส้นการเมืองต่อแต่อย่างใด อีกทั้งในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการปิดที่เราไม่สามารถชี้จำเพาะเจาะจงว่า สมาชิกคนไหนเป็นคนเขียนมาตราไหนในรัฐธรรมนูญ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้ผู้เลือกตั้งลงโทษผู้สมัครเป็นไปอย่างยากลำบาก

ซึ่งนอกจากข้อจำกัดข้างต้นแล้วต้องไม่ลืมว่า สภาพการณ์ปัจจุบันจะสามารถให้มีการแข่งขันรณรงค์อย่างเป็นธรรมหรือไม่ สื่อและสังคมมีเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นหรือไม่ กฎกติกาที่ใช้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่ และประชาชนทุกกลุ่มวางอยู่บนฐานความมีเหตุผลหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog