ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่สนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อสอบสวนควบคุมโรคอย่างเข้มข้น กรณีพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลาย

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายในพื้นที่จังหวัดชุมพร นั้น กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช (สคร.11 จ.นครศรีธรรมราช) ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ร่วมสนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

โดยหลังจากได้รับรายงานเหตุการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคในพื้นที่โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่เพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลาย และได้มอบหมายให้สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ประสานข้อมูลและสนับสนุนสื่อไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพต่อไป

โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา ที่มีทั้งยุงลายสวนและยุงลายบ้าน  เป็นพาหะนำโรค ซึ่งพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่ในเด็กอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ โดยอาการเด่นชัดในผู้ใหญ่คือปวดข้อ อาจพบข้ออักเสบได้ ซึ่งเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อ จะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ และอาการจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือนหรือเป็นปีได้ ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก ซึ่งโรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะคล้ายๆ กับไข้หวัดที่มีไวรัสเป็นสาเหตุเช่นเดียวกัน จึงต้องรักษาตามอาการ จนกว่าร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมากำจัดโรคได้

สำหรับสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายในปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 15 เม.ย. 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 3,082 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 3,035 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ปัตตานี ภูเก็ต สงขลา ระนอง และชุมพร ตามลำดับ

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า การกำจัดยุงลาย นั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่  

ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย อย่างไรก็ตาม การกำจัดยุงลายนั้น ต้องเริ่มกำจัดตั้งแต่ตอนเป็นลูกน้ำเพราะอยู่ในภาชนะที่เราสามารถจัดการได้ ส่วนยุงบินนั้น ประชาชนอาจซื้อสเปรย์กระป๋องมาฉีดพ่นเองภายในบ้านเพื่อกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้อ ส่วนรอบนอกสาธารณะ เทศบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลร่วมกัน