คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย โดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุย แถลงข่าวผลการประชุมล่าสุดกับบีอาร์เอ็น หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11-12 ม.ค .65
พล.อ.วัลลภ เปิดเผยว่า ท่าทีในการพูดของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี มีมิตรไมตรีต่อกัน โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นที่พูดคุยในครั้งนี้คือ อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน และมี ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวก และผู้เชี่ยวชาญอีก 2 คน ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยึดถือ 3 ประเด็น เป็นแนวทางพูดคุยระยะต่อไป คือ 1.การลดความรุนแรง 2.การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยจะมีกลไกการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วยการมีบุคคลผู้ประสานงาน และคณะทำงานร่วมของทั้ง 2 ฝ่ายในแต่ละเรื่อง ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้การพูดคุยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
พล.อ.วัลลภ ย้ำว่าทั้งสามเรื่องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องการเห็นความสงบสุข ต้องการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และอยากเห็นการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชน พร้อมทั้งต้องการการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างสันติสุขอย่างถาวรต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการหารือเพื่อจัดตั้งกลไกสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นสารัตถะของการพูดคุย โดยมีการพิจารณาที่จะจัดตั้งผู้ประสานงานคณะทำงานร่วมในแต่ละประเด็น ซึ่งสองประเด็นแรกคือเรื่องการลดความรุนแรง และการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนประเด็นการแสวงหาทางออกทางการเมืองนั้น เห็นว่ามีความซับซ้อนและมีความละเอียดของปัญหามากกว่าสองประเด็นแรก การดำเนินงานจะมีการตั้งคณะศึกษาร่วมกันเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม หรือแนวทางที่เป็นไปได้
พล.อ.วัลลภ ย้ำว่าการจัดตั้งคณะทำงานนี้จะมีลักษณะเป็นกึ่งทางการ โดยสามารถที่จะพบปะหารือติดต่อพูดคุยกันได้โดยตรง ทั้งนี้เพื่อเป็นการดำเนินการเพื่อที่จะให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด เพราะการประชุมที่เป็นลักษณะทางการนั้นทำได้ค่อนข้างยาก การดำเนินการในลักษณะกึ่งทางการนั้นจะช่วยผักดันให้ประเด็นสารัตถะต่างๆ คืบหน้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้มีประเด็นที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยได้หยิบยกขึ้นมาคือ การที่ทั้งสองฝ่ายพยายามลดกิจกรรมของความรุนแรงลง โดยต่างฝ่ายต่างทำตามความสมัครใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความต้องการของไทยที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของการพูดคุยเพื่อที่จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในพื้นที่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าในประเด็นการพูดคุยเรื่องการลดความรุนแรงนั้นจะมีอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง พล.อ.วัลลภ ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดที่ลึกลงไป แต่มีประเด็นที่ทางการไทยพอจะสามารถพิจารณาได้ในเบื้องต้น แต่จำเป็นต้องมีการหารือกันอีกที
“ผมคิดว่าในห่วงเวลาสองปีที่เราเริ่มพูดคุยกับบีอาร์เอ็น ในช่วงแรกจะมีความไม่ไว้วางใจกันค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นการพูดคุยที่ผ่านมาก็จะเน้นในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน และเป็นเรื่องของการบริหารจัดการการพูดคุยเสียเป็นส่วนมาก แต่เมื่อผ่านมาสองปีที่เราได้พูดคุยกันผมคิดว่าเรามีความเชื่อมั่นระหว่างกันมากขึ้นพอสมควร จนนำมาสู่การกำหนด ประเด็นสารัตถะที่เราจะพูดคุยกัน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถที่จะพูดคุยกันได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าภายในหนึ่งปีหลังจากนี้ เราน่าจะมองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างน้อยก็ในเรื่องของการลดความรุนแรงในพื้นที่”
ต่อคำถามว่าในการแถลงของบีอาร์เอ็น ซึ่งระบุว่าจะลดความรุนแรงลงหากทางการไทยไม่เข้าไปรุกล้ำก่อน ในประเด็นนี้ทางการไทยมีมาตรการอย่างไร พล.อ.วัลลภ ระบุว่าในประเด็นนี้ทางกองทัพได้รับทราบแล้ว และมาตรการในการทำงานของทางกองทัพจะปฏิบัติการก็ต่อเมื่อมีการก่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว และกองทัพจะพยายามไม่ใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุ พร้อมยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน
สำหรับการพูดคุยกันในครั้งต่อไปได้มีการหารือกันภายในที่ประชุมว่า จะมีการประชุมกันประมาณ 2-3 เดือนต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วย ซึ่งคณะพูดคุย ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการที่จะขับเคลื่อน ผลักดัน ให้กระบวนการพูดคุยเป็นหนทางที่จะสามารถสร้างสันติสุขภายในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้เห็นต่างที่นอกเหนือจากขบวนบีอาร์เอ็นด้วย
ต่อคำถามถึงข้อเรียกร้องขององค์กรพูโล ที่ต้องการให้ยกระดับสถานะของประเทศมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยการการพูดคุย ไปเป็นผู้ไกล่เกลียนั้น พล.อ.วัลลภ ระบุว่า เวลานี้ทางการมาเลเซียยังมีสถานะเป็นผู้อำนวยการอยู่ และมีความตั้งใจที่จะอำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อที่จะแสวงหาสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
นอกจากนี้ทางการมาเลเซียยังมองว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีความรุนแรงที่ลดลง ฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการหาทางออกทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การแก้ปัญหานั้นดำเนินต่อไปได้